xs
xsm
sm
md
lg

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 6

ธรรมจากหลวงปู่พุทธะอิสระ


ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย (เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย คือ เรื่องราว แห่งจิตของตน.
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายคือเรื่องราวแห่งจิตของตนอย่างไร ? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มสาวผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์ผ่องใส หรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนา ด้วยเหตุนั้นแลว่าเป็นลาภของเราหนอ เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอ ดังนี้ฉันใด.”
“ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย.

เราได้เจโตสมถะ (ความสงบแห่งจิต)ในภายใน หรือไม่ได้หนอ ?
เราได้อธิปัญญา (ปัญญาอันยิ่ง) อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ หรือไม่ได้หนอ ?”

“ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังมิได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ’ ภิกษุนั้นก็ควรทำความเพียรเพื่อตั้งอยู่ในเจโตสมถะในภายใน และเพื่ออธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.” ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และย่อมได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

“แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ’ ภิกษุนั้นก็ควรทำฉันทะ , ความพยายาม , ความอุตสาหะ , ความตั้งใจ , ความไม่ท้อถอย ,สติและสัมปชัญญะอันมีประมาณยิ่ง เพื่อให้ได้กุศลธรรมเหล่านั้น. เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้าหรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายในและได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

“แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนั้ว่า ‘เราได้เจโตสมถะในภายใน ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ’ ดังนี้.
ภิกษุนั้น ก็ควรทำความเพียรเพื่อตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป.”
ฝนรั่วรดที่เทียบด้วยราคะ (ความติดใจ)

“เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด จิตที่อบรมไม่ดี ราคะ (ความติดใจ) ก็รั่วรดได้ฉันนั้น.”

“เรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด จิตที่อบรมดีแล้ว ราคะ (ความติดใจ) ก็รั่วรดไม่ได้ฉันนั้น.”
จิตที่กวัดแกว่งดิ้นรนนั้นดัดให้ตรงได้

“ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่กวัดแกว่ง ดิ้นรน รักษายาก ห้ามยากให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรฉะนั้น. จิตนี้ ที่ยกขึ้นจากห้วงน้ำคือความอาลัย เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาที่ถูกโยนไปบนบก.”
การฝึกจิต ไม่ว่าจักมีปัญหามากน้อยประการใด ไม่ว่าจักเกิดอะไรขึ้น และจิตนี้จักหดหู่ สับส่าย ดิ้นรนสักปานใด จงอย่าล้มเลิกท้อถอย ต้องมีความเพียรพยายาม ฝึกฝนจนจิตนี้มันเชื่องต่อเรา.
จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้

“การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เป็นของเบา มักตกไปในอารมณ์ตามที่ใคร่ เป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้.”

ใครทำร้ายก็ไม่เท่าจิตของตน

“โจรต่อโจร หรือคนผูกเวรต่อคนผูกเวร พึงทำความพินาศอะไรให้แก่กันได้ฉันใด จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำบุคคลให้เลวร้ายยิ่งกว่านั้น.”

จะพ้นจากบ่วงมารได้อย่างไร

“ผู้ใดสำรวมจิต ซึ่งเที่ยวไปได้ไกล เที่ยวไปดวงเดียวไม่มีร่าง มีแค่คูหา (คือตัวมนุษย์) เป็นที่อาศัยได้ ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมาร.”

ฟังรายการ ธรรมะกับชีวิต ได้ทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 05.00 - 06.00 น.
ทาง คลื่นสามัญประจำบ้าน
www.managerradio.com
 

กำลังโหลดความคิดเห็น