xs
xsm
sm
md
lg

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 5

ธรรมจากหลวงปู่พุทธะอิสระ

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจเป็นโทษประทุษร้ายเสียแล้ว จะพูดก็ตาม จักทำก็ตาม จักคิดก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามไป เหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโคฉะนั้น.”
“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม จักคิดก็ตามความสุขย่อมติดตามไป เหมือนเงาตามตัวฉะนั้น.”
มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่าง

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มูลรากแห่ง อกุศล ๓ อย่างเหล่านี้ คือ
โลภะ ความอยากได้ เป็นมูลรากแห่งอกุศล
โทสะ ความคิดประทุษร้าย เป็นมูลรากแห่งอกุศล
โมหะ ความหลง เป็นมูลรากแห่งอกุศล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มูลรากแห่งอกุศลมี ๓ อย่างนี้แล.”

ศัตรูภายใน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการได้แก่โลภะ ความโลภ โทสะความคิดประทุษร้าย โมหะความหลง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการเหล่านี้แล.”

ไม่ฉลาดในเรื่องจิตของผู้อื่นก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย (เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอก็พึงสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในเรื่องราวแห่งจิตของตน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในเรื่องราวแห่งจิตของตนอย่างไร ? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาวผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์ผ่องใสหรือในพื้นน้ำที่ใสสะอาด ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยเหตุ ว่าเป็นลาภของเราหนอ เงาหน้าของเราบริสุทธิ์ดังนี้หนอ ฉันใด.
“ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย”
เรามีอภิชฌา (ความโลภ) หรือไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมากหนอ
เรามีจิตพยาบาท (ความคิดให้ร้าย) หรือไม่มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหนอ
เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึงรัด หรือปราศจากความหดหู่ ง่วงงุนอยู่โดยมากหนอ
เราฟุ้งซ่าน หรือไม่ฟุ้งซ่าน อยู่โดยมากหนอ
เรามีความลังเลสงสัย หรือข้ามพ้นความสงสัย อยู่โดยมากหนอ
เรามีความโกรธ หรือไม่มีความโกรธ อยู่โดยมากหนอ
เรามีจิตเศร้าหมอง หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง อยู่โดยมากหนอ
เรากายกระสับกระส่าย หรือมีกายไม่กระสับกระส่ายอยู่โดยมากหนอ
เราเกียจคร้าน หรือปรารภความเพียร อยู่โดยมากหนอ
เรามีจิตไม่ตั้งมั่น หรือมีจิตตั้งมั่น อยู่โดยมากหนอ

“ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
เรามีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
เรามีจิตพยาบาท (ความคิดให้ร้าย) อยู่โดยมาก
เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึงรัด อยู่โดยมาก
เราฟุ้งซ่าน อยู่โดยมาก
เรามีความลังเลสงสัย อยู่โดยมาก
เรามีความโกรธ อยู่โดยมาก
เรามีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
เรามีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
เราเกียจคร้าน อยู่โดยมาก
เรามีจิตไม่ตั้งมั่น อยู่โดยมาก” ดังนี้

ภิกษุนั้นก็ควรทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความตั้งใจ ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะอันมีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาป อกุศลเหล่านั้นเสีย เหมือนคนที่มีผ้าโพกศรีษะถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ ทำไฟให้ดับไปจากผ้าหรือศรีษะฉะนั้น.

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
เราไม่มีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
เราไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมาก
เราปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมาก
เราไม่ฟุ้งซ่าน อยู่โดยมาก
เราข้ามพ้นความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
เราไม่มีความโกรธ อยู่โดยมาก
เราไม่มีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
เราไม่มีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
เราปรารภความเพียร อยู่โดยมาก
เรามีจิตตั้งมั่น อยู่โดยมาก ดังนี้
ภิกษุนั้น ก็ควรทำความเพียร เพื่อดำรงอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป.

ฟังรายการ ธรรมะกับชีวิต ได้ทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 05.00 - 06.00 น.
ทาง คลื่นสามัญประจำบ้าน
www.managerradio.com  
         
กำลังโหลดความคิดเห็น