xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โจทย์หินผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ “รุ่ง มัลลิกะมาส”- “วิทัย รัตนากร” ร่วมตีฝ่าวิกฤตภาษีทรัมป์ ชี้นำลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 วิทัย รัตนากร | รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -   เป็นที่สนอกสนใจกันไม่น้อยกับกระแสข่าวการเสนอชื่อ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา

 
เบื้องหน้าเบื้องหลังที่เป็นเหตุให้เกิดการสะดุด เป็นเพียงเรื่อง  “เอกสาร” ที่ประกอบการเสนอชื่อยังไม่ครบถ้วนอย่างที่ว่ากัน หรือมีอะไรมากกว่านั้น เพราะรอบตัดเชือกคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ที่มีแคนดิเดตสองคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย คือ นายวิทัย รัตนากร  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งเป็น “คนนอก” กับ  ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็น “คนใน” ซึ่งแน่นอนต่างคนต่างมีกองเชียร์หนุนหลัง

ในฟากฝั่งของ ดร.รุ่ง ย่อมมีคนแบงก์ชาติ และเครือข่าย ยกธงเชียร์ เนื่องจากถือเป็นตัวแทนที่สืบทอดการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ต่อเนื่องมาจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2568 นี้

เมื่อดูโปรไฟล์ของ ดร.รุ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ในแวดวงการเงินทั้งในและนอก ธปท. ยาวนานกว่า 30 ปี ดร.รุ่ง จึงมีความรู้ลึกในเรื่องเครื่องมือนโยบายการเงิน และเข้าใจโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้งระดับมหภาคและจุลภาค

ดร. รุ่ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) สองสถาบันชั้นนำของโลกด้านเศรษฐศาสตร์ และมีประสบการณ์การทำงานในแบงก์ชาติ ที่ยาวนาน มีความเชี่ยวชาญทั้งเรื่องนโยบายการเงิน, การกำกับดูแลสถาบันการเงิน, และ การบริหารเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เคยดำรงตำแหน่งสำคัญใน ธปท. เช่นผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน , ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ฯลฯ

ขณะที่นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นบุคคลที่ “ฝ่ายการเมือง” เลือกและเสนอชื่อให้ ครม. พิจารณาอนุมัติ ก็มีฝีไม้ลายมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และนาทีนี้ ดูเหมือนฝ่ายการเมืองต้องการผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนใหม่ ที่ตอบสนองและสอดประสานการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังให้เดินไปด้วยกัน เพื่อสู้ศึกใหญ่จากภาษีทรัมป์ ที่กำลังก่อมรสุมพังเศรษฐกิจไทยให้พินาศ

ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนปัจจุบัน มักเล่นกันคนละคีย์ โดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าการพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนเดียวแต่อย่างใดก็ตาม ความเป็น “ขมิ้นกับปูน” ของรัฐบาลเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ ถึงขนาดมีข่าวปล่อยจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กันเลยทีเดียว

สำหรับ นายวิทัย รัตนากร อายุ 54 ปี จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท กฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A. นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินแล้ว ยังเป็นนายกสมาคมสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เขายังเป็นผู้ผลักดันให้ธนาคารออมสิน มีบทบาทเป็นธนาคารเพื่อสังคม

วิสัยทัศน์ของ นายวิทัย เกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยกำลังซบเซา เขามองว่า มาตรการทางเงินและการคลังต้องดำเนินควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง และ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขาดความสมดุล สถาบันการเงินแข็งแรงมาก มีกำไร ขณะที่ภาคธุรกิจมีหนี้สิน ปิดกิจการ ยอดหนี้ครัวเรือนสูง คนยากจน มีความเหลื่อมล้ำสูง ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ และยังมีอีกหลายปัจจัยรุมเร้า ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีหลากหลายมาตรการมาเสริมในลักษณะแพกเกจและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับการรับมือวิกฤตภาษีทรัมป์ที่ไทยต้องเผชิญปัญหาทั้งภายนอกและภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ดร.รุ่ง มัลลิกะมาศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 วันเดียวกันกับที่ครม.ตีกลับการแต่งตั้งนายวิทัย ว่าพร้อมทำงานเชิงรุกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการชี้นำอัตราดอกเบี้ย และการประสานนโยบายการเงินและการคลังให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็อย่างว่า เมื่อเป็น “คนใน” จุดยืนของดร.รุ่ง ก็คงถูกมองว่าหนีไม่พ้นการเดินตามแนวทาง “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ” ที่ต้านทานแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองและธุรกิจ ที่อยากให้ลดดอกเบี้ยนโยบายและขยายกรอบเงินเฟ้อ

 สำหรับคำอธิบาย “ฉากหน้า” ในเหตุผลที่ครม.ยังไม่พิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่ นั้น มีรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร ได้เสนอชื่อนายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เพื่อให้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมครม. แต่เอกสารที่ประกอบการพิจารณานั้นไม่ครบ เพราะมีเพียงหนังสือกระทรวงการคลัง และประวัติของผู้ที่ได้รับการพิจารณาเท่านั้น โดยยังขาดเอกสารรับรองของหน่วยงานสำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสํานักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น จึงต้องรอบคอบและตรวจสอบคุณสมบัติให้ครบถ้วนเสียก่อน 

นายพิชัย ชุณหวชิร ยอมรับว่าได้เสนอชื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ไปแล้ว แต่อาจเสนอช้าไป ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จึงพิจารณาไม่ทัน และยืนยันว่า การเสนอรายชื่อแต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ จะเข้าที่ประชุมครม. ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 แน่นอน

ไม่ว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนใหม่ จะเป็นใครก็ตาม การเข้ามารับตำแหน่ง ในเวลานี้ มีงานโหดหินรออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลสะเทือนอย่างหนักหน่วง

 ดร.กิริฎา เภาพิจิตร  ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ผู้ว่า ธปท. คนใหม่ต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นภาษีตอบโต้การค้า ซึ่งอาจกระทบกับสินค้าไทยรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.เพิ่งจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 อยู่ที่ 2.3% จากที่ ธปท. ประเมินว่าไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีราว 18% แต่ TDRI ประเมินว่าอาจสูงเกิน 20% ซึ่งจะกดดันภาคการส่งออกให้ชะลอตัวอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

“โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และรายได้ของคนไทย ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่เข้ามาในช่วงเวลาที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหานี้” ดร.กิริฎา เน้นย้ำ

สำหรับ ธปท. มีเครื่องมือหลัก ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ

 หนึ่ง  คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2-3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของภาคประชาชน แม้อาจไม่ได้สะท้อนโดยตรงผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ก็ตาม

 สอง  เน้นให้ดูแลค่าเงิน ไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

และ  สาม ประสานธนาคารเฉพาะกิจปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ “ซอฟต์โลน” เหมือนช่วงโควิด-19 เพื่อป้องกันลูกหนี้เปลี่ยนสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้า

ดร.กิริฎา เน้นว่า การทำงานของผู้ว่า ธปท. ต้องอยู่ภายใต้ระบบคณะกรรมการ ไม่ใช่ One Man Show โดยจะต้องรับฟังจาก กนง. รองผู้ว่าการ และฝ่ายวิเคราะห์ต่าง ๆ ทั้งเตือนว่าแม้จะมีแรงกดดันจากรัฐบาล ก็ต้องรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เนื่องจากแบงก์ชาติเป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล ต้องกล้าหาญและยึดหลักวิชาการเพื่อยืนหยัดภายใต้แรงกดดันทางการเมือง

ทางด้าน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร   นักวิชาการอาวุโส TDRI ให้ความเห็นว่า ผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ควรให้ความสำคัญทั้งเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ส่งเสริมสินเชื่อรายย่อย-สตาร์ทอัพ-เทคโนโลยี ดูแลเงินบาทแข็งค่าผิดปกติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ การเงินดิจิทัล การลงทุนต่างประเทศ ส่งเสริม Digital Assets อย่างมีหลักการ

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะไทยสูงเกินสมควร ส่งผลให้สูญเสียโอกาสพัฒนาประเทศ ดร.นณริฏ เสนอให้ ธปท. เข้ามามีบทบาทกลั่นกรองโครงการก่อหนี้ โดยเน้นว่าหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่มีประโยชน์เท่าหนี้ที่ลงทุนสร้างศักยภาพระยะยาว

การรับมือกับการขึ้นภาษีการค้าของทรัมป์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก และแบงก์ชาติของแต่ละประเทศ ต่างดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุด ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 5.25% นับเป็นการลดครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแรง โดย BI ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์มีเสถียรภาพ

ผู้ว่าการ BI ระบุว่า การลดดอกเบี้ยรอบนี้ยังได้รับแรงหนุนจากข่าวข้อตกลงภาษีการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ ซึ่งประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยสหรัฐฯ ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียเหลือ 19% จากเดิมที่เสนอไว้ 32% ถือเป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกและการตัดสินใจลงทุน

BI คาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2568 จะเติบโตในกรอบ 4.6% ถึง 5.4% โดยเชื่อว่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะมุ่งเน้นไปที่สินค้าเชิงผลิต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งยังมองว่าข้อตกลงภาษีใหม่นี้จะช่วยสร้างความชัดเจนในการวางแผนของภาคธุรกิจ และส่งเสริมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ

ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ยังทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง ดัชนีหุ้นอินโดนีเซียขยับขึ้นเกือบ 1% สะท้อนความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของ BI ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก

ส่วนไทยนั้น ไม่ชัดเจนว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 หรือไม่ อย่างไร ซึ่งการประชุม กนง. ครั้งถัดไปจะมีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาในระยะข้างหน้า

ในการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี ด้วยเสียงส่วนใหญ่ 6 ต่อ 1 เสียงที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านี้เพียงพอแล้ว และต้องการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ไว้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และในปี 2569 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ มากขึ้น หลังการเร่งส่งออกสินค้าหมดไป ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามแนวโน้มรายได้และความเชื่อมั่นที่ลดลง

ธปท. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) จากครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.9% YoY ทำให้คาดการณ์ว่า ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% ก่อนที่จะแผ่วลงอีกเหลือโตเพียง 1.7% ในปี 2569

เป็นการสะท้อนปัญหาเป็นด้านหลัก ขณะที่แนวทางการแก้ไข และรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ยังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

ดังนั้น โปรดอย่าแปลกใจ ที่การเจรจาลดภาษี การใช้นโยบายการเงินการคลัง และการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นจากภาษีทรัมป์ ไทยยังเชื่องช้ากว่าคู่แข่งขันอยู่หลายขุม


กำลังโหลดความคิดเห็น