xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอยวิศวกรส่วนท้องถิ่นปลิดชีพ สังเวยคอร์รัปชันระบบราชการไทย อบต. แชมป์ฉ้อราษฎร์บังหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สังคมไทยหันมาจับตามองการคอร์รัปชันหน่วยงานราชกาส่วนท้องถิ่นกันอีกครั้ง หลังเกิดโศกนาฎกรรมกรณีการปลิดชีพตัวเองของวิศวกรอนาคตไกล วัย 27 ปี ทิ้งไว้เพียง “จดหมายลาตาย” เนื้อหาระบายความอัดอั้นใจจับใจความได้ว่าถูกกดดันจากที่ทำงาน “อบต.นากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู” ซึ่งเต็มไปด้วยการทุจริตในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของเทศบาล และไม่สามารถแบกรับการฉ้อโกงได้อีกต่อไป จึงขอแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด 


สำหรับเนื้อหาตอนหนึ่งในจดหมายลาตาย ระบุความว่า “...ระบบท้องถิ่นไม่รู้เป็นเฉพาะเทศบาลตำบลนากลางหรือไม่ เป็นอะไรที่แย่มาก ช่างเหมือนเป็นเครื่องมือสำหรับทำเงินให้กับผู้บริหาร ไม่เฉพาะนักการเมือง ข้าราชการตัวใหญ่ เช่น ผอ.กองช่างก็ตัวดี คอยแต่จะหาเศษหาเลยจากโครงการ กรรมชั่วของพวกเขา เล่ายังไงก็ไม่หมด ขอให้พวกมันทุกคนได้รับผลของการที่มันโกง ทุจริต หาเศษหาเลยจากหน้าที่ ร่างถ้ายังอยู่ดี บริจาคให้กายวิภาคศาสตร์ มข....”

ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2565  พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) สั่งการตรวจสอบการทุจริตโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของเทศบาลตำบลนากลางของเจ้าหน้าที่รัฐบางราย และหากพบมีการกระทำผิดจะเร่งดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทันที

ต่อมา นายไพรัตน์ ปัจจะวงษ์ ผอ.กลุ่มงานปราบปรามทุจริตในภาครัฐ 1 ลงพื้นที่ตรวจโครงการถนนที่ นายภานุเมศวร์ วาสโสหา  วิศวกรหนุ่ม วัย 27 ปี เป็นผู้รับผิดชอบก่อนเสียชีวิต พบเป็นโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร, ยาว 235 เมตร, หนา 0.15 เมตร (15 เซนฯ) โครงการตั้งอยู่ในซอยเพชรสุวรรณ 6 หมู่ที่ 9 ต.นากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งมีชื่อนายภานุเมศวร์เป็นผู้ควบคุมงาน และมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทคอนกรีตแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการวางเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 650,000 บาทส่วนราคาค่าก่อสร้าง 647,112 บาท วงเงินการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง 413,000 บาท

จากการตรวจสอบพบว่าถนนดังกล่าวไม่ได้ตรงตามสเปกที่ได้มีการตกลงกันไว้ ซึ่งทราบว่าก่อนหน้านี้ผู้ตายสั่งรื้อถนนบางช่วงและมีการเทปูนใหม่ปะผิวหน้าใหม่ไปหลายจุดตลอดเส้นทาง โดยจะมีการตรวจสอบย้อนหลังโครงการที่นายภานุเมศวร์เป็นผู้ควบคุมงานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตามลำดับ

แหล่งข่าวจากกองช่าง เทศบาลตำบลนากลาง ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราความว่า การเสียชีวิตของวิศวกรหนุ่ม เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองช่างเห็นตรงกันว่าอาจจะมาจากการถูกกดดันในการทำงานจริง เพราะวิศวกรหนุ่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ประสบการณ์ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการรับมือกับงานโครงการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องการวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากผู้รับเหมาและผู้บริหารงานในองค์กร โดยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้กัน คือ การปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ ผลงานไม่ผ่านก็ไม่ต้องเซ็นรับให้

ทั้งนี้ ปัญหาการเรียกรับเงินจากผู้รับเหมา เป็นปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นทุกที่ ไม่ใช่แค่หน่วยงานท้องถิ่นเท่านั้น หน่วยงานส่วนกลางก็มี จำนวนเงินมากน้อยแตกต่างไปตามขนาดวงเงินงบประมาณในการดำเนินงาน

 รายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตถึงปี ละ 12,000 คดี จากผลสำรวจพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายงานข่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากที่สุดคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รองลงมาคือ เทศบาลตำบล (ทต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามลำดับ  
ผลการศึกษาและวิเคราะห์ของนักวิชาการต่างๆ พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการที่มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงมากที่สุดในประเทศไทย โดยนักการเมืองท้องถิ่นร่วมมือกับข้าราชการ ซึ่งปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลุกลามเกิดขึ้นมากในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการหยั่งรากฝังลึกของขบวนการทุจริตในสังคม ทั้งในเมืองและในชนบท

อ้างอิงบทความเรื่อง  “การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : เงื่อนไขและการป้องกัน Corruption in Local Government Organizations : Conditions and Prevention” โดย สรรพสิทธิ์ ชมภูนุช และกัมปนาท วงษ์วัฒนพงษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม  ระบุถึงเงื่อนไขที่ทำให้เกิดคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

1. ความร่วมมือกันของฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำและภาคเอกชนเพราะการทุจริตคอรัปชั่น ต้องอาศัยการสมยอมและความร่วมมือกันของฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำและภาคเอกชน

2. กลไกภาครัฐอ่อนแอ โดยเฉพาะการตรวจสอบจากกลไกภายในและภายนอกหน่วยงาน ซึ่งเป็น เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดคอรัปชั่น เช่นระบบการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยหน่วยงานตรวจสอบภายในและ “สภา” นอกจากนี้กลไกการกำกับดูแลจากหน่วยงานภายนอกยัง ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ ตรวจสอบ

3. ภาคประชาชน มีความอ่อนแอ เพิกเฉย ไม่สนใจ เป็นแรงส่งให้ผู้ทุจริตมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญประกอบกับ วัฒนธรรมทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น

อย่างไรก็ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีอำนาจในการอนุมัติการก่อสร้างและการทำธุรกิจในท้องถิ่น และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น เรียกว่ามีช่องว่างในการบริหารท้องถิ่นอยู่ในมือทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นด้วยปัจจัยที่กล่าวในข้างต้น
กล่าวสำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยถือเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน แม้รัฐบาลจะพยายามในการปราบปรามการป้องกันการทุจริต มีการลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption –UNCAC) พ.ศ. 2546 จัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่การทุจริตในระบบราชการไทยยังคงเป็นปัญหา

อย่างไรก็ดี รัฐบาลภายใต้การนำของ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ จากรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ประเทศไทยได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 87.57 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 81.25

 นายอนุชา บูรพชัยศ  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีการกระบวนการดำเนินงานที่เปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งมีการกำหนดให้โครงการก่อสร้างของส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กทม./พัทยา) ที่งบประมาณสูงสุด 1 โครงการ รวมทั้ง โครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปทุกโครงการ และโครงการก่อสร้างของเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีงบประมาณตั้งแต่ 7 ล้านบาทขึ้นไปทุกโครงการ จะต้องเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency initiative : CoST) เพื่อเปิดเผยข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ ผ่านเว็บไซต์ CoST Thailand เพื่อให้สาธารณชนสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้ รวมทั้งยังมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมโครงการ CoST จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และสำนักงานคลังจังหวัดในพื้นที่โครงการอีกด้วย

สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีวงเงินงบประมาณ ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องส่งโครงการเข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) โดยจะมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่เริ่มจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) จนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ค้าสามารถยื่นข้อเสนอผ่านออนไลน์ และไม่มีการพบเจอกันระหว่างผู้ค้าและหน่วยงานที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหลังจากเสนอราคาและได้ผู้ชนะการเสนอราคาแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th

 แม้ท่าทีของรัฐบาลมีความพยายามในแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐอย่างเต็มกำลัง แต่ปัญหาดังกล่าวฝังรากลึกในระบบราชการไทยมายาวนาน ซึ่งน่าจับตาว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการกำกับการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนราชการขึ้นชื่อว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงมากที่สุดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่? อย่างไร?  


กำลังโหลดความคิดเห็น