xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รายได้ติดลบตัวแดง ของแพงทั้งแผ่นดิน ทุ่มแก้หมูติดโรคพันล้านยังเอาไม่อยู่ หรือรัฐบาลทำได้แค่ “ขอความร่วมมือ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ถึงยุคข้าวยากหมากแพงค่าแรงถูก ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค พุ่งกระฉูดจุดกระแส#แพงทั้งแผ่นดิน ทั้งค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซฯ หมู ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ ปรับขึ้นถ้วนหน้า ขณะที่การทำมาหากินของประชาชนยังฝืดเคืองจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนการแก้ไขปัญหาหมูติดโรค ASF ต้นเหตุหมูแพง “รัฐบาลลุง” เทงบไปแล้ว 5 ครั้ง กว่า 1.5 พันล้านบาทในรอบสองปี ยังไม่แน่ว่าจะเอาอยู่ 


ข่าวร้ายรับศักราชใหม่ยังมีมาไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว ตามมาด้วยราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่แห่ขึ้นราคากันต่อเนื่อง นับจากราคาหมูที่แพงขึ้นจากปัญหาโรคระบาด ASF ตามมาด้วยไข่ไก่โปรตีนราคาถูกของชาวบ้านร้านตลาด ส่วนเนื้อไก่ก็ขอปรับราคาแต่พาณิชย์สั่งตรึงไว้ก่อน เช่นเดียวกันก๊าซหุงต้มที่ กบง.เคาะอุ้มต่อถึงเดือนมีนาคม ราคาพลังงานที่ยังทะยานไม่หยุด ทำให้ กกพ.ไฟเขียวทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้า

ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชนคนไทย ทำให้  “นายก ฯลุง”  สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ส่วนจะกดราคาให้คงที่ได้สักเพียงไหนดูทรงแล้วคงยาก หากฟังจากคำอธิบายของนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ว่าการปรับตัวของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นไปตามกลไกตลาดอาหารโลก สอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index: FFPI) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกรายงานของปี 2564 ไว้ว่าค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เมื่อปี 2554

ทั้งนี้ ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่สูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เป็นผลกระทบจากต้นทุนการเลี้ยง (อาหารสัตว์ ยารักษาโรค) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศและมาตรการลดความเสี่ยงโดยการจำกัดจำนวนการเลี้ยงที่ทำให้ปริมาณสุกรในระบบลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่บริโภคทดแทนกันได้ เช่น ไข่ ไก่ ปลา จะมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 2.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 26.26% เนื้อสุกร เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าดูแลและการป้องกันโรคระบาด ผู้เลี้ยงรายย่อยลดการเลี้ยงทำให้หมูเข้าสู่ตลาดลดลง ส่วนผักสด เช่น มะเขือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมันปาล์ม ราคาขึ้นตามวัตถุดิบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สูงขึ้นหลังสิ้นสุดโปรโมชั่น บุหรี่สูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

เทรนด์ราคาอาหารที่ปรับขึ้น ตามที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกขึ้นมากล่าวอ้าง ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหารที่เทียบชั้นระดับครัวของโลก ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันการณ์ ไม่ใช่รู้ทั้งรู้ว่าจะมีปัญหาขาดแคลนภายในประเทศแน่ๆ แต่กลับดันปล่อยให้ส่งออกได้ตามปกติ อย่างที่เกิดขึ้นกับเรื่องหมูในประเทศที่ราคาแพงขึ้นมากจนมีการสืบสาวหาต้นตอและความแตกอย่างที่รู้กัน

เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู หากไม่มีการขันนอตมาจากผู้นำรัฐบาล ก็ดูคล้ายกับว่าพรรคร่วมรัฐบาล ที่บริหาร  กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการคุมการผลิตและคุมราคาสินค้าจะอืดอาดยืดยาดกว่าจะขยับลงมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะไม่ใช่แค่หมูติดโรค ตาย ขาดตลาด จนราคาแพงแล้วจะหยุดอยู่แค่นั้น บรรดาเนื้อไก่ เป็ด ปลา อาหารทะเล แม้แต่ไข่ไก่ก็ถือโอกาสปรับขึ้นตามเป็นขบวน

 นั่นหมายความว่าบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ ต้องเทกแอกชันให้ไวกว่านี้ ไม่งั้นคงไม่มีหมัดสวนกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะของบกลางมาแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ว่าให้เร่งเสนอมา และให้กำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว มองไปยังอนาคตว่าจะมีสินค้าตัวไหนปรับขึ้นอีกหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ใช่เกิดผลกระทบต่อประชาชน 

“.....กรณีที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะราคาไข่ไก่และเนื้อไก่เริ่มทยอยปรับราคาสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ....” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ความชักช้าในการรับมือกับสินค้าปรับราคาขึ้นของกระทรวงพาณิชย์รอบนี้ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีการปรับขึ้นของราคาไข่ไก่

ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังปีใหม่แล้วที่สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาแนะนำไข่ไก่ในตลาดทั่วไป ได้แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละอยู่ที่ฟองละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 หลังจากออกประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ว่าปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 0.20 บาท จากฟองละ 2.80 เป็น 3.00 บาท หรือคิดเป็นราคาปรับขึ้น 6 บาทต่อแผง โดยการปรับครั้งนี้เท่ากันทุกไซส์ทุกเบอร์ ทางผู้ผลิตจะนำไข่ไก่คละที่ซื้อได้มาคัดไซส์เช่นเดิม ไข่ไก่เบอร์ 2 ขายส่งแผงค้าที่ราคาแพ็กละ 87 บาท ปรับเพิ่มขึ้นไปอีก 6 บาท เป็น 93 บาท

 นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย ระบุสาเหตุหลักของการปรับขึ้นราคามาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ไข่ รวมทั้งปริมาณไข่ขนาดเล็กเบอร์ 3 เบอร์ 4 เบอร์ 5 มีปริมาณลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าแม่ไก่ได้ เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไทยไม่สามารถผลิตไก่สาวที่จะเป็นแม่พันธุ์ไข่ขนาดเล็ก จึงเหลือเพียงแม่ไก่แก่ที่มีจำนวนมากและผลิตไข่ขนาดใหญ่ เบอร์ 0- เบอร์ 1 ขณะนี้ปริมาณไข่ที่ลดลงจะเป็นไข่ไก่เล็ก โดยเฉลี่ยการบริโภคไข่ไก่จะอยู่ที่ 40 ล้านฟองต่อวัน สถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงระดับเกิดปัญหาไข่ไก่ขาดตลาด

หลังจากไข่ไก่ขึ้นราคาตามที่ประกาศไปล่วงหน้าไปตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม จนมีผลปรับราคาจริงเมื่อวันที่ 10 มกราคม นายจุรินทร์ ถึงได้ตอบคำถามถึงกรณีที่ไข่ไก่และเนื้อไก่ปรับราคาขึ้นว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นราคา อาจมีการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคา จะมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ในวันถัดมา นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม  อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ถึงออกมาบอกว่า ผลพวงของการปรับขึ้นราคาของเนื้อหมูทำให้ราคาไก่เนื้อ และไข่ไก่ปรับขึ้นตาม เพราะต้นทุน โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาก

สำหรับราคาไก่เนื้อที่มีข่าวว่าผู้เลี้ยงได้ปรับขึ้นราคาขายนั้น ล่าสุดอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ประชุมร่วมกับผู้เลี้ยง ทั้งสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทรายใหญ่ รวมถึงกรมปศุสัตว์ เห็นตรงกันที่จะตรึงราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาขายปลีกชิ้นส่วนไก่สดเป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.65

ส่วนไข่ไก่นั้น ผู้เลี้ยงได้แจ้งปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 3.00 บาท เพิ่มขึ้นจากฟองละ 2.80 บาท หรือราคาปรับเพิ่มขึ้นแผงละ 6 บาท ทำให้แผงขายไข่ไก่ ร้านค้าจำหน่ายไข่ไก่ ได้ปรับราคาขึ้นทันที แต่ต่อมาวันที่ 10 ม.ค. 2565 นายจุรินทร์ได้สั่งการให้ตรึงราคาไปก่อน และขอให้กรมการค้าภายในไปหารือกับผู้เลี้ยง และกรมการค้าภายใน โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมามีบทสรุปออกมาแล้วว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่จะให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ 2.90 บาทไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

สำหรับราคาเนื้อหมูขึ้นราคานั้น มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนด้วยโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน กำหนดราคาหมูเนื้อแดงไว้คงที่ในกิโลกรัมละ 150 บาท กว่า 600 จุด พร้อมกับเสนอของบกลางมาเร่งชดเชยราคาที่ตรึงไว้ และอุดหนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพื่อแก้ปัญหาหมูขาดแคลนในอนาคต ส่วนแนวทางนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศต้องพิจารณาอย่างรอบด้านอีกที

ถึงเวลานี้ การแก้ไขปัญหาราคาหมูแพง กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเรื่องต่อ ครม. ขอชดเชยส่วนต่างอีกครั้ง ส่วนปัญหาหมูติดโรคระบาดนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพิ่งออกมายอมรับว่าพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) หลังจากอ้ำอึ้งปกปิดความจริงมาเป็นนาน และมีการแฉหลักฐานผ่านสื่อกันครึกโครมว่าหมูติดโรค ASF จนเก้าอี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ร้อน เพราะ “นายกฯลุง” บี้ให้เร่งแก้ไขปัญหาและทำงานเชิงรุก

ในวันก่อนหน้า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยงที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นใน จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม วันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรที่ฟาร์มและจากบนพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์นำไปตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างจากทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลเป็นลบ 308 ตัวอย่าง และพบผลบวกเชื้อ ASF 1 ตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัสในโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจาก จ.นครปฐม

“กรมปศุสัตว์ เห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบต่อไป และขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็วเหมือนดังที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเช่นโรคไข้หวัดนก และขอแจ้งประชาชนให้ทราบว่าสุกรที่เป็นโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อสุกร ได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

จากนั้น ในช่วงบ่ายวันที่ 11 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.อนุมัติงบกลาง574.11 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรค ASF เป็นค่าใช้จ่ายราคาสุกร หรือหมูที่ถูกทำลาย ตั้งแต่ 23 มีนาคม -15 ตุลาคม 2564 มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้วและยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย จำนวน 4,941 ราย จำนวนสุกร 159,453 ตัว ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ

อีกทั้งยังว่าโรคระบาด ASF นั้นมีมากว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยาที่รักษาโรคได้ ในส่วนของประเทศไทยกรมปศุสัตว์ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยในการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้ว 60-70% คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้ในปีนี้ และจะเป็นประเทศแรกของโลก

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะพบว่า “รัฐบาลลุง” พยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาโรค ASF มาตั้งแต่ปี 2562 หลังจากพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลได้ประกาศให้การเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติ และจัดสรรงบฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ โดยจัดสรรงบดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 53 ล้านบาท ต่อมา ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ครม.มีมติอนุมัติใช้งบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาค์แอฟริกาในสุกร จำนวน 523 ล้านบาท

ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.อนุมัติใช้งบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวนเงิน 279 ล้านบาท

ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกร จำนวน 140 ล้านบาท และล่าสุดครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ครม.เพิ่งอนุมัติงบกลาง ปี 2565 วงเงิน 574 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

กระทรวงเกษตรฯ รายงานต่อ ครม. ด้วยว่า ผลกระทบของการเกิดโรคระบาดดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการที่เกษตรกร ต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคและไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่และทำให้เกิดโรคช้ำในฟาร์มจนทำให้สูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกรไปในที่สุด

อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำะหลัง ถั่วเหลือง มีมูลค่า ความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีจากความรุนแรงของโรค

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงสุกรขุน 2.24 ล้านตัว สุกรพันธุ์ 3.9 แสนตัว ลูกสุกร 6.89 แสนตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงสุกรขุน 5.94 ล้านตัว สุกรพันธุ์ 6.834 แสนตัว และลูกสุกร 1.53 ล้านตัว

ปัญหาหมูๆ ที่ไม่หมูยังไม่จบและส่อเค้าว่าจะลากยาว สั่นสะเทือนทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกรวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไปจนถึงประชาชนคนไทยที่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหมู เห็ด เป็ด ไก่ ไข่ เท่านั้นที่แพงขึ้นและมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แต่ยังมีราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้าที่จ่อปรับราคาขึ้น

สำหรับราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลประกาศตรึงราคาดีเซล สูตรเดียว คือ บี 7 มาก่อนหน้า โดยล็อกราคาไม่เกิน 28 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565

ส่วนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ล่าสุด คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขยายเวลาให้คงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมสิ้นสุดเดือนมกราคม 2565 โดยกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,700 ล้านบาท/เดือน

ในส่วนของค่าไฟฟ้าดูเหมือนจะอั้นไม่ไหว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ในอัตราเรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 17 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการและโฆษก กกพ. ระบุว่าการเรียกเก็บค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นในงวดดังกล่าวจะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี 2565 ที่คาดว่าแนวโน้มต้นทุนจะสูงขึ้น บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนคาดเฉลี่ยอยู่ในระดับ 32.1 บาท/เหรียญสหรัฐ

 เห็นได้ชัดว่านี่เป็นยุคข้าวยากหมากแพง #แพงทั้งแผ่นดินจริงๆ ขณะที่รายได้ไม่ขยับและมีพิษโควิด-19 ยังทำให้รายได้ลดลงอีกต่างหาก อย่างที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าราคาสินค้าแพงขึ้นแต่รายได้ไม่ได้ขึ้นตาม นั่นหมายถึงประชาชนชาวรากหญ้าได้รับผลกระทบเดือดร้อนถ้วนหน้า รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหากับดักหนี้สิน ปรับโครงสร้างรายได้ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้มาตรฐานทั่วประเทศ 


กำลังโหลดความคิดเห็น