ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไฟต์บังคับตามแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ต้องตัดขายทรัพย์สินและที่ดินทำเลทองล็อตใหญ่ทั่วประเทศเพื่อหาเงินเสริมสภาพคล่อง-ใช้หนี้ ส่งสัญญาณว่ากระทรวงคลังและเจ้าหนี้รายใหญ่ยังไม่เติมเงินเข้ามาจึงต้องดิ้นรนหาทางรอด เช่นเดียวกับอีก 7 สายการบินที่ยังรอคอยความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนจากรัฐบาล 5 พันล้านบาท อย่างมืดมน กระทั่ง “แอร์เอเชีย” สุดทน ประเดิมงดจ่ายเงินเดือนพนักงานหนึ่งเดือน โยนให้ประกันสังคมจ่ายชดเชย
โจทย์ใหญ่ของการบินไทยหลังผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากจะต้องทำแผนธุรกิจหารายได้เพื่ออนาคตที่สดใส แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นต้องก้าวผ่านปัญหาเฉพาะหน้าคือหาเงินมาเสริมสภาพคล่องเพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานและค่าดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปให้ได้เสียก่อน ซึ่งในวันที่ศาลล้มละลายกลาง เคาะผ่านแผนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนนั้น นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI หนึ่งในผู้บริหารแผนฯ ยอมรับว่ากระแสเงินสดที่ลดลงจะต้องนำทรัพย์สินออกมาขายเพื่อหารายได้ รวมถึงเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น สหกรณ์ เจ้าหนี้ภาครัฐ ธนาคาร หรือผู้สนใจในการลงเงินใหม่ โดยเงินทุนก้อนใหม่ที่ต้องการให้ทยอยเข้ามาในช่วง 1-3 ปีนี้ ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย ยอมรับว่า กระแสเงินสดที่มีอยู่ใช้ได้ไม่ถึงปลายปี 2564 จึงต้องหาเม็ดเงินใหม่เข้ามาเร็วที่สุดเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออก หากรายได้ไม่เข้ามาจะมีการขายทรัพย์สินรองบางตัวออกไป
ผ่านมาได้เพียงเดือนกว่าๆ ในที่สุด การบินไทย ก็มีประกาศขายทรัพย์สิน ที่ดินทำเลทองทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ จำนวน 10 แห่ง ด้วยวิธีการเสนอราคา เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายไทย ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้บริหารแผนของบริษัทฯ มีมติอนุมัติการขายอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งตามประกาศแล้วเท่านั้น
ทรัพย์สินที่การบินไทย ประกาศขายคราวนี้ ได้แก่ 1. สำนักงานสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ที่ดิน 8 แปลง เนื้อที่ 106.5 ตารางวา 2. สำนักงานหลานหลวง เขตดุสิต จ.กรุงเทพฯ เป็นอาคารสำนักงาน 8 ชั้น และอาคารที่จอดรถ 6 ชั้น เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา 3. อาคารรักคุณเท่าฟ้า เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เป็นอาคารสำนักงาน 2 ชั้น และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา 4. สำนักงานขาย อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นอาคารสำนักงานและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา
5. สำนักงานขายอำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นอาคารสำนักงาน 4 ชั้น เนื้อที่ 3 งาน 76 ตารางวา 6. สำนักงานขาย อำเภอเมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น พร้อมชั้นลอย จำนวน 3 คูหา เนื้อที่ 36.6 ตารางวา 7. สำนักงานขาย อำเภอเมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 21.4 ตารางวา 8. สำนักงานขาย อำเภอเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นอาคารพาณิชย์ 3.5 ชั้น 2 คูหา เนื้อที่ 64.2 ตารางวา 9. สำนักงานขาย อำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย เป็นอาคารสำนักงาน 2 ชั้น มีดาดฟ้า เนื้อที่ 3 งาน 69.1 ตารางวา 10. ที่ดินเปล่า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 49.5 ตารางวา
สำหรับผู้สนใจขอรับเอกสารการเสนอราคาได้ตั้งแต่วันที่ 2-18 สิงหาคม 2564 กำหนดเข้าดูอสังหาริมทรัพย์วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ยื่นซองเสนอราคาวันที่ 19-25 สิงหาคม 2564 ประกาศผลวันที่ 3 กันยายน 2564
เงื่อนไขการขายครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารของบริษัทฯ จะต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมวางเงินมัดจำ 10% ของราคาที่ตกลงซื้อขาย ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่บริษัทฯ ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ซื้อ และผู้ซื้อจะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารภายใน 30 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาจะซื้อจะขาย
ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้ขายอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ประกอบด้วย ที่ดิน พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่รวมสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและอาคาร และสังหาริมทรัพย์อื่นๆ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา โดย บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นผู้ชนะประมูลด้วยราคา 1,810 ล้านบาท
สภาพของการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟูฯ แม้จะลากถูกันไปแต่ถึงยังไงองค์กรก็จะยังคงอยู่ เพราะอย่างน้อยก็มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่ปล่อยให้การบินไทย ล้มหายตายจากไปอย่างเด็ดขาด แต่สำหรับสายการบินเอกชนอื่นๆ สภาพตอนนี้อยู่ในภาวะร่อแร่เต็มทน ที่ผ่านมาต่างดิ้นรนทุกทาง รวมทั้งขอให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนเพื่อต่อลมหายใจ แต่ล่วงมาปีกว่ายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.ก.เงินกู้สู้โควิด-19 นั้น วัตถุประสงค์ในการกู้เงินก็เพื่อนำมาช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูกิจการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ สมาคมสายการบินฯ ขอสนับสนุนซอฟต์โลน โดยปรับลดวงเงินการขอสินเชื่อรวมทั้ง 7 สายการบิน จาก 2.4 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เหลือ 5,000 ล้านบาท เพื่อรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของปี 2564
ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) ได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว 6 สายการบิน แต่ทว่า สมาคมสายการบินประเทศไทย กลับออกมาสวนว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลนั้นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และหลายสายการบิน ต่างทยอยหยุดบินจากมาตรการล็อคดาวน์เพิ่มเติม รวมทั้งสภาพคล่องหดหาย
นายอาคม ให้สัมภาษณ์สื่อแบบแบ่งรับแบ่งสู้ข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของสมาคมสายการบินฯ ว่าขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือคาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด โดยจะช่วยสายการบินของคนไทยก่อน ส่วนสายการบินต่างชาติจะเป็นลำดับถัดไป
ทางด้าน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมายืนยันว่า ซิมแบงก์ เข้าไปช่วยเหลือสายการบินแล้ว 4 สายการบิน เป็นวงเงินรวมกว่า 2,200 ล้านบาท และยังมีอีก 2 สายการบินที่กำลังพิจารณา โดยแบงก์เข้าไปช่วยเหลือตามความต้องการของแต่ละสายการบินแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เช่น ให้สินเชื่อเพื่อรักษาการจ้างงาน สินเชื่อพยุงธุรกิจ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย หรือผ่อนชำระหนี้ในอัตราที่ผ่อนปรน โดยเอ็กซิมแบงก์คาดว่าไตรมาสสุดท้ายหรืออย่างช้าไตรมาสแรกปีหน้า ธุรกิจการบินจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม
ข่าวคราวจากขุนคลังและเอ็กซิมแบงก์ ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างเข้าใจว่าสายการบินได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว ทว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ออกมาชี้เเจงว่า สายการบินได้รับความช่วยเหลือจากเอ็กซิมแบงก์ในการผ่อนปรนการชำระหนี้และปล่อยกู้เพื่อประคองธุรกิจ แต่สำหรับการยื่นขออนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยตรงต่อรัฐบาล เพื่อรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าจะควบคุมและคาดการณ์ได้นั้น จนถึงวันนี้สมาคมฯ ยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานจากรัฐบาลเเต่อย่างใด
นายกสมาคมสายการบินฯ ทราบว่าเรื่องผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานแล้ว แต่ติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สอดคล้องกับธุรกิจสายการบิน ซึ่งต้องขอร้องรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขข้อกำหนดโดยเร็ว และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติเงินกู้ในเร็ววันนี้ พร้อมผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากกลับมาให้บริการอีกครั้งไปด้วยกัน
สถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับสายการบินที่มีรายได้เข้ามาแทบเป็นศูนย์ ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย หยุดบินและงดจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยประกาศของบริษัทระบุว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากคำสั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ให้สายการบินหยุดทำการบินเส้นทางบินในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สายการบินต้องทยอยหยุดทำการบินเส้นทางบินในประเทศชั่วคราวทั้งหมดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสายการบินโดยเฉพาะสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนในบริษัท
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ชี้แจงกับพนักงานว่า ที่ผ่านมาสายการบินได้พยายามหาวิธีในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนกำลังพล การปรับลดไฟต์ การเจรจาหนี้ การขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อพยุงการจ้างงานในช่วง 1 ปีนับจากนี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ขณะที่การขอเพิ่มทุนจากสถาบันการเงินของสายการบินก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทำให้รายได้ของสายการบินเป็นศูนย์ แม้ว่าบริษัทจะพยายามประคองธุรกิจและหาแหล่งเงินทุนมาบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่สถานการณ์รุนแรงเกินคาดการณ์ บริษัทจึงมีความจำเป็นแจ้งมาตรการระยะสั้นโดยเลื่อนและแบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงานในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564
สำหรับเดือนกรกฎาคม 2564 พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เลื่อนการจ่ายเงินเดือนทั้งหมดไปในเดือนกันยายน 2564 ส่วนพนักงานระดับปฏิบัติการขึ้นไป ที่ยังปฏิบัติงานอยู่ จ่ายเงินเดือน 50% และเลื่อนการจ่าย 50% ที่เหลือไปในเดือนกันยายน 2564 สำหรับพนักงานที่ Inactive (ไม่ได้ปฏิบัติงาน) เลื่อนการจ่ายเงิน 25% ไปในเดือนกันยายน 2564 ส่วนเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทจะหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว จึงมีความจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดปฏิบัติงาน 100% เพื่อให้เข้าเงื่อนไขได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนของประกันสังคม
บริษัทคาดหวังว่าเดือนกันยายน 2564 สถานการณ์ต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้น บริษัทได้รับแหล่งเงินทุน และทยอยกลับมาให้บริการเที่ยวบินต่างๆ ได้อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานตามรอบปกติได้ต่อไป พร้อมกับกล่าวขอโทษพนักงานที่อาจจัดการไม่ดีจนทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกคน
ขณะที่สายการบินอื่นๆ ต่างทยอยหยุดบินตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล โดย Nok Air หยุดทำการบินชั่วคราวมีผลตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป, Thai Smile หยุดทำการบินชั่วคราวมีผลตั้งแต่วันที่ 03 - 19 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง, Thai Lion Air ประกาศหยุดบินชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และ Bangkok Airways ประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564
เรียกว่าสาหัสสากรรจ์ และยังมีแต่ความไม่แน่นอนว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร