xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.ตอบสนองนักการเมือง แต่ไม่ได้แก้วิกฤตของชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


ในที่สุดการเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ได้มาประเด็นเดียวคือการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ และมีส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน อันเป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีปัญหาว่า การเสนอแก้ไขไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้เสนอแก้มาตราที่เกี่ยวข้องอีกหลายมาตรา แต่เชื่อว่า ด้วยเจตนารมณ์น่าจะมีช่องทางทางกฎหมายให้เดินไปได้ไม่น่าล่มกลางคัน

หลายคนมองว่า การกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้นน่าจะเข้าทาง พรรคเพื่อไทย เพราะระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นทำให้พรรคเพื่อไทยยากที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.เขตเยอะ แม้ในครั้งที่แล้วจะเป็นเพราะส่งไม่ครบทุกเขต แต่ก็มีการมองกันว่าถ้าเลือกตั้งแบบเดิมต่อให้พรรคเพื่อไทยส่งครบทุกเขตก็มีโอกาสได้บัญชีรายชื่อน้อยมาก

เข้าใจว่า พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการเลือกตั้งระบบนี้เหมือนกันนั้นคงจะมองแล้วว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมานั้นพิสูจน์ถึงศักยภาพของพรรคที่มีเหนือกว่าคู่แข่ง หากการเลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นพรรคน่าจะได้ ส.ส.เขตมากขึ้น และน่าจะผลสะท้อนถึงคะแนนของพรรคด้วย เพราะแม้จะมีบัตรสองใบแต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะกาให้คนและพรรคตรงกัน พิสูจน์มาแล้วหลายครั้งจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ว่า ผลต่างคะแนนรวมของ ส.ส.และของพรรคจากบัตรสองใบนั้นไม่ได้เหลื่อมกันมากนัก

ทั้งสองพรรคต่างมองเห็นแล้วว่า การเป็นพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตเยอะนั้นทำให้มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อย แต่การเลือกตั้งแบบสองใบนั้นเมื่อได้เขตเยอะก็ส่งผลให้ได้บัญชีรายชื่อเยอะไปด้วย

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดว่าเขาคงไม่ได้หวังอะไรในสมัยหน้า น่าจะมองไปในอนาคตมากกว่าหรือไม่ก็เข็ดกับการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคประสบความล้มเหลวอย่างมาก และการจะกลับมาเป็นพรรคใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้กระทั่งฐานเสียงในภาคใต้ก็ไม่ได้มีความผูกผันกับพรรคในฐานะพรรคของท้องถิ่นอีกแล้ว

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเคยตกต่ำแล้วฟื้นกลับมาหลายครั้ง แต่ในปัจจุบันโอกาสแบบนั้นไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว

ระบบเลือกตั้งแบบนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกลมากที่สุด เพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่หวังคะแนนรวมจากทั้งประเทศมากกว่าเขตการเลือกตั้ง ดังนั้นคะแนนของพรรคก้าวไกลจะตกน้ำจำนวนมากไม่สะท้อนผลลัพธ์แบบการเลือกตั้งในระบบสัดส่วนที่คิดคะแนนตามเปอร์เซ็นต์ของคะแนนรวมแล้วจัดสรรเก้าอี้กันไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหนเราก็คงจะยังคงแบ่งคะแนนเสียงเป็น 2 กลุ่มหรือ 2 ฟากการเมือง คือฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันและพรรคฝ่ายค้านที่จะแย่งคะแนนกัน โดยมีฐานคะแนนชัดเจนที่แยกจากกันจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติที่ต่อเนื่องมานานเกินทศวรรษซึ่งได้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน

นั่นคือมีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่เลือกพรรคฝ่ายค้านแน่และประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่เลือกพรรครัฐบาลแน่ แม้จะมีประชาชนบางคนจะยึดติดกับตัว ส.ส.คือไม่ว่า ส.ส.คนนั้นจะอยู่พรรคไหนก็ตามไปเลือก แต่การเลือกแบบนี้น่าจะส่งผลในภาพใหญ่น้อยมาก นั่นคือ ประชาชนเลือกแบบแบ่งฝ่ายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน

ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีฐานเสียงเดียวกันคือแย่งคะแนนกันเองเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงเดียวกันกับพรรคก้าวไกล

แต่เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว.เพื่อแก้ไม่ให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ก็เชื่อว่า สุดท้ายแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองได้ และมองเห็นวิกฤตที่รออยู่เบื้องหน้าเพราะยากมากที่พรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันจะสามารถระดมเสียง ส.ส.ได้ครึ่งหนึ่งของสองสภาคือ 376 เสียงเพื่อหักด่าน ส.ว. แต่มันก็จะวุ่นวายมากถ้าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันสามารถระดมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง แต่ไม่สามารถดึงเสีย ส.ว.250 เสียงให้มาโหวตให้ได้

ถึงตอนนั้นการเมืองก็อาจจะเดินมาถึงทางตันถ้า ส.ว.ไปรวมกับเสียงส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนแล้วโหวตให้เป็นรัฐบาล ก็ยากที่จะบริหารได้ นั่นก็เท่ากับเราจะกลับไปสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง แม้ถึงตอนนี้ ส.ว.บางคนจะบอกว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนได้ ส.ว.ก็ต้องเลือกตามเสียงข้างมาก แต่นั่นก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลย กับ ส.ว.ที่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ และต้องเลือกตอบสนองคนที่แต่งตั้งเข้ามามากกว่า

แม้ในความเป็นจริงถ้ายังมีอำนาจ ส.ว.อยู่แต้มต่อในการรวบรวมเสียง ส.ส.หลังเลือกตั้งก็ยังเป็นพรรคพลังประชารัฐ เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีเก้าอี้ส.ส.เขตเป็นรองพรรคเพื่อไทยก็ตาม ยังไงพรรคอื่นๆ ก็ต้องเทมาทางพรรคพลังประชารัฐ ยกเว้นจะเกิดปรากฎการณ์พรรคเพื่อไทยได้เสียงเกินครึ่งพรรคเดียวเท่านั้นแหละที่มีโอกาสพลิกสถานการณ์ได้

อย่างไรก็ตามการตัดสินเลือกแนวทางนี้พรรคพลังประชารัฐเองก็คงจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถจะเลือกตั้งและสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ด้วยศักยภาพที่เหนือกว่าเพราะเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป และเห็นแล้วว่ามีส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนที่พร้อมจะแปรพักตร์มาร่วมรัฐบาล

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ต้องหวังเช่นเดียวกันว่า กติกาที่กลับไปเป็นบัตรสองใบนั้นเป็นกติกาที่พรรคมีความชำนาญและสามารถชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากได้

การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นการวัดพลังกันระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า ระหว่าง 3 ป.กับพลังของระบอบทักษิณที่ยังสามารถซื้อใจประชาชนในชนบทได้มาก

แต่แม้ว่าวิธีการเลือกตั้งจะกลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ2540และ2550 แต่เห็นได้เลยว่า ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองได้ลดน้อยลงไป ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เพราะหากจบลงด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแบบเดิมอีกคือพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้พร้อมกับมีเสียงส.ว.สนับสนุน มวลชนที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านก็จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและการเมืองบนท้องถนนก็ยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกันถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งมวลชนอีกฝ่ายก็จะต้องลงถนนอย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่าเราไม่มีทางออกจากความขัดแย้งได้เลย

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการแก้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตอบสนองปัญหาความขัดแย้งที่เป็นวิกฤตของประเทศ ก็คือ การทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน โดยเฉพาะยังคงมีเสียงของส.ว.สำหรับโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันสามารถวางคนที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อไปได้ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่ก็ตาม

นั่นก็เป็นโอกาสที่ทำให้ฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหยิบฉวยเอาวิกฤตทางการเมืองมาส่งผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกับพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน และคนกลุ่มนี้กำลังขยายเพดานข้อเรียกร้องและขยายฐานมวลชนไปในคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่บางเรื่องยากจะยอมรับได้ก็จริง แต่เราต้องหาทางให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้ และต้องทำให้พวกเขายอมรับและเคารพความเห็นของคนที่มีความเห็นต่างๆ ไม่แสดงออกอย่างหมิ่นแคลนอย่างที่พวกเขาแสดงออกอยู่ในปัจจุบัน และทำให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขามีอิสระที่จะมีความคิดที่จะเติบใหญ่บนแผ่นดินนี้แต่ต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์และรากเหง้าของความเป็นชาติ

และวันหนึ่งกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมจะต้องวิวัฒนาการไปตามเสียงส่วนใหญ่ของคนในชาติอยู่ดีโดยไม่เกิดความุรนแรงแตกหักอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น

น่าเสียดายที่การแก้ไชรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประเทศมากไปกว่าผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นการช่วงชิงเพื่อหวังผลต่ออำนาจรัฐของทุกฝ่าย ไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนและแก้ไขวิกฤตและหาทางออกให้ประเทศ

เราคงยังเก็บบ่มความขัดแย้งเอาไว้ให้รอวันปะทุเป็นความรุนแรงที่ยากจะแก้ไขในวันข้างหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น