xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อยู่กับสิ่งที่มี(วัคซีน?) ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน(120 วันเปิดประเทศ) และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด (ช่วยพูดความจริงทีเถอะ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกือบพังพินาศไปทั้ง “รัฐบาล” เลยก็ว่าได้ สำหรับปัญหา “การจัดสรรวัคซีนโควิด-19” ก่อนที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะออกมาแถลงข่าว “ขอโทษ” ที่ทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ว่า “ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ผอ.ศบค. ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยด้วยกับปัญหาที่เกิดขึ้น และขอรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด”

แน่นอน ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะแทบจะนึกไม่ออกว่า “นายกฯ ลุงตู่” ได้เคยกล่าว “ขอโทษ” หรือ “ขออภัย” ในความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง อย่างเป็นจริงเป็นจังเช่นนี้มาบ้างหรือไม่ตลอดระยะเวลาที่เป็นนายกฯ มากว่า 7 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้นำประเทศไม่อาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อีกต่อไป เพราะเรื่องแดงแจ๋ออกมาแล้วว่า นโยยายและการบริหารจัดการวัคซีนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.โดยตรง แล้วที่ผ่านมาบรรดาหน่วยงานต่างๆ ก็จำต้อง “โยนกลอง” ไปมา เพราะไม่กล้าไปแตะต้อง

แต่ที่ “มหัศจรรย์” เสียยิ่งกว่าก็คือ ถัดจากวันนั้นเพียงวันเดียวคือวันที่ 16 มิถุนายน 2564 “นายกฯ ลุงตู่” ได้ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า “พร้อมจะเปิดประเทศในอีก 120 วันนับจากนี้” อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งแผ่นอีกครั้งว่า ทำไมถึงมั่นใจถึงเพียงนั้น เพราะเมื่อนั่งนับนิ้วมือแล้ว ฤกษ์งามยามดีที่จะเปิดประเทศ 120 วันก็จะตกอยู่ที่ในราว “เดือนตุลาคม 2564” ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่มากนัก
ที่สำคัญคือ ถ้าหากดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ภายในประเทศก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะควบคุมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ ยังคงมีผู้ติดเชื้อหลักสองถึงสามพันคนแทบทุกวัน ไหนจะ “สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)” ที่กำลังจู่โจมหลายจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญอีกต่างหาก

ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่า การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันเป็นเพียง “ความฝัน” ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เอาแค่ “เปิดเทอม” ก็ยังไม่รู้ว่า ถ้า On Site จริงๆ จะออกหมู่หรือจ่า โดยเฉพาะกับโจทย์ใหญ่เรื่อง “จำนวนวัคซีน” ซึ่ง “นายกฯ ลุงตู่” ลงนามในสัญญาซื้อจำนวน 105.5 ล้านโดส พร้อมตั้งเป้าฉีดให้ประชาชนคนไทย 50 ล้านคนก่อนถึงวันเปิดประเทศ เพราะว่าก็ว่าเถอะ ยังไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนที่ว่านั้นจะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่กันแน่

อยู่กับสิ่งที่มี(วัคซีน?)...
ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน(120 วันเปิดประเทศ)...
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด(ช่วยพูดความจริงทีเถอะ)...
คงเป็นถ้อยคำที่สะท้อนความรู้สึกของคนไทยยามนี้ได้ดีที่สุด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการวัคซีนและความเป็นไปของประเทศในยามนี้
ก่อน “ลุงตู่” จะยอมรับ
“โยนขี้” กันเหม็นไปทั้งบ้านทั้งเมือง

การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันของ “นายกฯ ลุงตู่” ถือเป็น “เดิมพัน” ครั้งสำคัญของ “รัฐบาล 3 ลุง” ว่าจะอยู่หรือจะไป และพอจะเข้าใจได้ว่า “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” เพราะถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไปย่อมสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แม้ว่าในระบบรัฐสภาจะทำอะไรไม่ได้ แต่การเสียรังวัดและคะแนนนิยมลงไปทุกทีในสายตาประชาชนเป็นเรื่องใหญ่กว่าหลายเท่านัก ดีไม่ดีอาจกระทบการการเลือกตั้งครั้งหน้าชนิดไม่อาจประเมินได้กันเลยทีเดียว

แน่นอน “นายกฯ ลุงตู่” ย่อมรู้ว่ามีความเสี่ยงดังที่ได้กล่าวในประโยคต่อมาว่า “ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายใน สำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ครับ”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ “นายกฯ ลุงตู่” จะ “เปิดประเทศ” ภายใน 120 วัน กล่าวได้ว่า สภาพของรัฐบาล 3 ลุงเข้าขั้น “เละตุ้มเป๊ะ” โดยเฉพาะปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่มิได้เอา “ความจริง” มาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ทำไมผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ซึ่งก็คือ “ผู้สูงอาย” และ “ผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง” ถึงถูกเททั้งๆ ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรก จากนั้นสังคมก็ได้เห็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีการ “โยนกลอง”

ทว่า ไม่มีใครกล้าแตะ “นายกฯ ลุงตู่” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงพร้อมเปิดยุทธการ “โยนขี้” ผ่านจอ หลังจากโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเลื่อนฉีดวัคซีน ประชาชนถอนสายบัวรอเก้อ เจอ “โรคเลื่อน” เป็นภาวะแทรกซ้อนกันเป็นแถว

กทม.โดนยำเละ ก่อนจะปัดสวะพ้นตัว อ้างว่าได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขเพียง 5 แสนโดส ประหนึ่งว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากฉัน แต่เกิดจากเธอ

ที่ซัดกันแรงๆ เลยคือ ในกรณี โรงพยาบาลนมะรักษ์ ที่ออกประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบเรื่องขอเลื่อนวัคซีน ที่เนื้อหาเจ็บจี๊ด โดยเฉพาะท่อนที่ให้ติดต่อสอบถาม ที่ขนาดคนอ่านยังรู้สึก ประหนึ่งได้ยินอารมณ์คนเขียนที่ต้องการจะสื่อ ซึ่งระบุว่า “สอบถาม 02-7922333 เวลา 09.00 น.- 22.00 น. โดยลงท้ายระบุว่า หรือติดต่อ “รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข” เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง โดยภายหลัง ได้มีการเปลี่ยนข้อความ ในตอนท้าย โดยระบุว่า ให้ “ติดต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง” แทน”

งานนี้ เล่นเอา “หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งบุคลากรทางการแพทย์ออกมายืนยันว่า ปัญหาได้เกิดจาก สธ. แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า อะไรๆ ก็ฉัน จนทุกวันนี้จะร้องแบะๆ แบบ “แพะ” อยู่แล้ว พร้อมกับสาธยายละเอียดยิบว่า ทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขแทบจะง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่มีอำนาจตัดสินใจเองว่าจะจัดสรรให้ใครเท่าไร ด้วยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มี “บิ๊กตู่” เป็นผู้อำนวยการ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นเหมือนแค่ “ทางผ่าน” รับคำสั่งจาก ศบค.แล้วไปส่งต่อให้พื้นที่เป้าหมาย ดังนั้น กทม. หรือโรงพยาบาลจะมาโยนกลอง-โยนขี้ แบบนี้ไม่แฟร์

“หมอหนู” ยังแขวะแถมไปอีกหนึ่งดอก ทำนองว่า มันเป็นความบกพร่องของ กทม. ภายใต้การกุมบังเหียนของ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการเมืองหลวงนั่นแหละ ที่บริหารจัดการไม่ดี เพราะกระทรวงหมอตกลงกับ กทม.ไว้ว่า จะจัดสรรให้ 1 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย. โดยทันทีที่กระทรวงสาธารณสุขรับมอบวัคซีนมา ก็ส่งมอบไปให้ กทม.ไปแล้ว 5 แสนโดส ทั้งที่ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ พร้อมกับเหน็บกันแรงๆ

“กทม.บอกว่าจะรับวัคซีนล้านโดส ตกลงกันไว้แบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็ส่งให้ทันที 5 โดส จริงๆ จะส่งให้แค่ 2.5 แสนโดสด้วยซ้ำ แต่วัคซีนมาเราก็ส่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลายเป็นว่ากระทรวงสาธารณสุขทำคุณบูชาโทษ”

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนเลยได้แต่นั่งดู “ไทยไฟต์” ภาครัฐโยนความผิดกันไปกันมาผ่านสื่อแบบอึกทึกครึกโครม ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจากรู้สึก “ฮา-โกรธ” คละเคล้ากันไป แต่น้อยกว่า “สิ้นหวัง” แน่นอน

แต่คนที่เสียสุด หนีไม่พ้น “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และผู้อำนวยการ ศบค. ที่เป็นหัวเรือใหญ่ ของเก่ายังเข้าลักษณะความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ยังมาเจอผู้ใต้บังคับบัญชาเปิดเทศกาล “โยนขี้” ให้คนด่า สุดท้ายต้องสั่งด่วนให้ “คู่กรณี” กทม. กระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ศบค.ชุดเล็ก มานั่งดึงหน้า “สร้างภาพ” สยบรอยร้าว

งานนี้ “พ่อเมืองหลวง” มานั่งแถลงเอง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข “หมอหนู” ไม่มา แต่ให้ฝ่ายประจำอย่าง “หมอจิ๋ว” นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มานั่งฉีกยิ้มแทน เพื่อไม่ให้ดูเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งก็เป็นไปตามสเตปที่คาดเดากัน เมื่อ “บิ๊กตู่” สั่งให้มาดับอุณหภูมิร้อน โทนแถลงเลยออกมาราวกับ “หน้ามือเป็นหลังเท้า” ต่างจากเสาร์-อาทิตย์ ที่ขยี้กันเสียจนคนเข้าใจผิดว่า เป็นฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล

“บิ๊กวิน” ระบุราวกับเข้าใจกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี ไม่เหมือนกับท่าทีก่อนหน้านี้แม้แต่น้อยว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนให้ กทม. 5 แสนโดส ทั้งแอสตราเซนเนกา 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส และคาดหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาอีกก่อนวันที่ 14 มิ.ย.

“แต่เนื่องจากขัดข้องทางเทคนิคผู้ที่จะส่งให้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้รับตรงนี้ กทม.จึงแก้ปัญหาโดยเลื่อนการฉีดระหว่างวันที่ 15-20 มิ.ย. ปัญหาที่เกิดขึ้นยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง มีแต่กระทรวงสาธารณสุขมาช่วย กทม. จึงต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข”

ภาพการแถลงข่าวสะสางปัญหา “โยนกลอง” ระหว่าง 3 หน่วยงาน นำโดย “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ชุดเล็ก นพ.โอภาส การย์กวิณพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและ พลเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ส่วน “หมอโอภาส” ไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เลือกจะไปพูดถึงภาพรวมของวัคซีนในเดือน มิ.ย. ตามสไตล์ “ฝ่ายประจำ” ที่ไม่ปะทะ “ฝ่ายการเมือง” แต่จับอารมณ์ความรู้สึกจากสีหน้าได้ เพราะใครจะแฮปปี้ที่โดนตบหัวแล้วมาลูบหลัง
ขณะที่ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ชุดเล็ก ไม่ใช่ตัวปะทะโดยตรง แต่โดนมอบหมายให้มานั่ง “คั่นกลาง” พร้อมกับคาถายอดนิยมของรัฐบาลเวลาผิดพลาดในช่วงโควิด-19 ที่เริ่มจะใช้จนเฟือ คือ “กราบขออภัย”

แต่ใครเห็นก็มองออก ว่าการแถลงครั้งนั้นสีหน้ามองออกว่า “โดนบังคับ” มา ต่อให้แต่ละคนจะพรรณนาสวยหรูเพียงใด

และไม่ได้ว่าความระหองระแหงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขยุค “หมอหนู” กับ กทม.ยุค “บิ๊กวิน” จะหมดไป แต่ที่ทำไปเพราะ “นายสั่ง”

ดูท่าที “หมอหนู” ค่อนข้างชัดเจน ตามคิวที่ออกมาเปิดเผยว่า “บิ๊กวิน” ต่อสายเคลียร์ พูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และจะปรับเปลี่ยนระบบเดินหน้าเพื่อประชาชน ซึ่งหากไม่ใช่คนคิดมากก็ฟังดูดี 

แต่ถ้าเป็นพวกคิดลึกๆ มันไม่ต่างคือ การเบิ้ลบลัฟกันเนียนๆ ตั้งแต่การออกมาบอกว่า “บิ๊กวิน” ต่อสายมาเอง เหมือนกับว่า งานนี้ กทม.เป็นฝ่ายผิด จึงต้องลงทุนโทรศัพท์มา “ง้อ” และการที่ระบุว่า กทม.จะปรับเปลี่ยนระบบเดินหน้าเพื่อประชาชน คือ การสารภาพว่าที่วัคซีนไม่พอเป็นเพราะการบริหารจัดการของ กทม.เอง

สรุปคือ จะสื่อว่า ฝ่ายที่โยนขี้แต่แรกคือ กทม.

นอกจากนี้ ยังใช้จังหวะดิสเครดิต “บิ๊กวิน” ในคิวที่ “หมอหนู” ออกมาระบุว่า หากกทม.ไม่มีวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะเก็บตกให้ 

“ตอนนี้หมอพร้อมตัวเลข กทม. ระบุประมาณกว่า 4 แสนคน หาก กทม.ทำได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ได้ ที่เหลือเราก็จะช่วย โดยจะทำให้ผ่านพ้นไปได้ และให้ถูกต้องตามระบบการควบคุมโรค เพราะกลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน ไม่เช่นนั้นหากติดเชื้อจะเสี่ยงถึงชีวิตได้”

ช็อตนี้มัน “ตบหน้า” กันชัดๆ แถวบ้านไม่ได้เรียกหย่าศึกเลย

เอาเข้าจริง ทุกรู้ว่า “บิ๊กวิน” กับพรรคภูมิใจไทยนั้น มันมี “แผล” กันอยู่ กระทบกระทั่งกันมาเป็นระยะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างเช่น การที่ กทม.ออกมาตรการต่างๆ หรือผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ไม่สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปละลาบละล้วงไม่ได้ เพราะเป็นเขตปกครองพิเศษ

ขณะที่ “บิ๊กวิน” เอง ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดมา จนถึงการกระจายวัคซีนในพื้นที่เมืองหลวง ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งหลายคราเหมือนต้องการใช้ภารกิจแก้โควิด-19 หาเสียงเลือกตั้ง จนเพจ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ “อ.ทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธ์ สองแคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าฯเมืองกรุงต้องออกเหน็บ

แต่ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าที่ผ่านมารัฐบาลเอง โดยเฉพาะตัว “นายกฯ ลุงตู่” เอง บริหารราชการแผ่นดินด้วย “ความจริง” มาพูดกับประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยราชการภายใต้บังคับบัญชามาทะเลาะกันผ่านสื่อ

“นายกฯ ลุงตู่” ไม่เคยพูดว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร กระทั่งสถานการณ์ “สุกงอม” และมีหลักฐานมัดแน่นชนิดดิ้นไม่หลุด จึงจำต้องออกมาสาธยายระบบการบริหารจัดการให้เห็นเป็นฉากๆ แต่ก็ไม่วาย “ออกตัวอยู่ในที” ว่า “ตนเองไม่ได้ยึดอำนาจไว้คนเดียว” หากแต่ ภายใต้ ศบค.ที่เป็น “องค์กรสูงสุด” จะมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการเมือง ข้าราชการ หรือรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นทุกคนย่อมรับรู้ว่าสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างดี

คำแถลงของ “นายกฯ ลุงตู่” ในวันนั้น เห็นได้ชัดว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เพราะทำให้เห็นโครงสร้างของ ศบค.ในการบริหารจัดการวัคซีนชัดเจน กล่าวคือ ศบค.ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดจะมีหน้าที่ในการการกำหนดนโยบาย กำหนดหลักการในการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด โดยทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนตามสัดส่วนของประชากร และเพิ่มเติมให้กับจังหวัดที่มีสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และอื่นๆ

จากนั้น “กระทรวงสาธารณสุข” ของ “หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” จะมารับไม้ต่อ โดยเป็นผู้รับผิดชอบและเป็นผู้กำหนดว่าวัคซีนที่ได้รับในแต่ละรอบจะจัดส่งแต่ละจังหวัดจำนวนเท่าไหร่ ตามหลักการในการจัดสรร จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งจัดส่งวัคซีนกระจายไปทั่วประเทศในทันที และถัดจากนั้น “จังหวัด” จะเป็นผู้กำหนดว่าแต่ละโรงพยาบาลและทุกจุดฉีดในจังหวัดนั้นจะได้รับวัคซีนเป็นจำนวนเท่าใด และจัดการจัดส่งให้เร็วที่สุด

เมื่อดูจากที่ “ลุงตู่” ชี้แจงก็หมดคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ “เลื่อน” ทันที เพราะเห็นชัดเจนว่า ปัญหาอยู่ที่ “แต่ละจังหวัด” ซึ่งมีหน้าที่กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ หรือหมายความว่า ที่ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ถูกเทก็เพราะ “แต่ละจังหวัด” ไม่ส่งวัคซีนไปให้ และผู้ที่มีอำนาจก็จะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ด้วยเห็นชัดเจนว่ามีการกันวัคซีนเอาไว้ไม่กระจายไปให้ “หมอพร้อม” จริง

ด้วยเหตุดังกล่าว “ลุงตู่” จึงต้องมีประกาศิตออกมาแบบเสียงดังฟังชัดว่า “หากจำนวนวัคซีนที่ได้ถ้าคำนวนแล้วไม่เพียงพอต่อการฉีดในรอบนั้นให้แต่ละจังหวัดและจุดฉีดพิจารณาจัดสรรให้กลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว” แปลไทยเป็นไทยคือต้องจัดสรรให้กลุ่ม “หมอพร้อม” เป็นลำดับแรก มิใช่เอาวัคซีนไปให้กลุ่มอื่นๆ

ถามว่า “นายกฯ ลุงตู่” รู้หรือไม่ว่า ปัญหาจะเป็นอย่างนี้

ถ้าเป็นชาวบ้านร้านตลาด อาจไม่รู้ แต่ในฐานะที่นั่งเก้าอี้นายกฯ มาอย่างยาวนานย่อมต้องรู้ทิศทางว่าอะไรคืออะไร ต้องมีคำสั่งออกมาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม พอเกิดปัญหาแล้วถึงค่อยมาตามล้างตามเช็ด ซึ่งนั่นไม่ใช่วิสัยของผู้นำประเทศที่พึงมี

 120 วัน เปิดประเทศ
ความฝันที่อาจไม่เป็นความจริง


หากวิเคราะห์ว่า ทำไม “นายกฯ ลุงตู่” ถึงกล้าประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน ก็คงต้องมองว่า เป็นเพราะสถานการณ์บีบบังคับให้ทำเช่นนั้น ที่สำคัญคือ ถ้าไม่ทำอาจส่งผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหา ด้วยประชาชนตกระกำลำบากจากผลพวงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสามระลอกมาอย่างต่อเนื่อง และคะแนนนิยมของ “รัฐบาล 3 ลุง” ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไปทุกที

ที่สำคัญ ถ้าหากไม่มี “เป้าหมาย” อะไรเลย ประเทศไทยก็จะ “อยู่ไปวันๆ” โดยที่ไม่รู้ว่าผู้คนในประเทศจะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะอาชีพที่ได้รับผลกระทบและบรรดาผู้ที่หาเช้ากินค่ำซึ่งมิได้มีเงินเดือนประจำ หรือผู้ที่มีเงินเดือนประจำอย่างพนักงานบริษัทเอกชนก็อาจต้องถูกออกจากงานเนื่องจากกิจการดำเนินต่อไม่ไหว

เพราะฉะนั้นนี่คือ “ความฝัน” ที่ “รัฐบาล 3 ลุง” จะต้องเดินหน้าผลักดันให้เป็น “ความจริง” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และถ้าใช้ศัพท์ว่า “รู้ว่าเสี่ยงแต่จำต้องเสี่ยง” ก็คงจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ถามว่า อะไรทำให้เกิดความเชื่อมั่น ก็คงจะเป็นเรื่องการจัดสรรวัคซีนที่ได้ประกาศว่า ได้จัดหามาในจำนวนที่เชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแจ้งตัวเลขออกมาว่า จนถึงตอนนี้มีการลงนามในสัญญาจอง หรือสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส และหากวัคซีนส่งมาเพียงพอในแต่ละเดือน และประมาณต้นเดือนตุลาคม จะมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยเข็มแรกแล้ว จำนวน 50 ล้านคน

แปลไทยเป็นไทยก็คือไม่ต้องรอ “2 เข็ม” ก็พร้อมจะเปิดประเทศแล้วจ้า

นี่คือ ความท้าทายแรกที่จะต้องเผชิญ เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาก็คือ “การเลือกแทงม้าตัวเดียว” ในช่วงแรก และถัดมาก็คือ เรื่อง “วัคซีนไม่มาตามนัด” เพราะแม้มีสัญญาเป็นเรื่องเป็นราว แต่อาจเกิดสิ่งที่ “ไม่อาจคาดเดาได้” แล้วเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดมาแล้วกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ เหตุความวุ่นวายที่เกิดกับผู้ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ที่ถูกเทกันแทบจะทุกจังหวัด โดยเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ดูจะมีความขัดแย้งสูงสุดจนต้องยกขบวนออกมาแถลงข่าวสยบรอยร้าวในสายตาประชาชน

“นายกฯ ลุงตู่” บอกว่า ได้ลงนามในสัญญาจอง หรือสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส แต่มิได้บอกว่า วัคซีนจะส่งมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ เพียงแต่บอกสั้นๆ ว่า หากวัคซีนส่งมาเพียงพอในแต่ละเดือน และประมาณต้นเดือนตุลาคมก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจใช้คำว่า “ประมาณการณ์” หากแต่ต้องชัวร์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็เจอกับตัวเลขประมาณการณ์ในลักษณะนี้จากการส่งมอบของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่นำไปสู่ปัญหาสารพัดสารพัน

ดังนั้น ถ้าต้องการทำให้ประชาชนมั่นใจ “รัฐบาลลุง” ก็ควรออกมาแจกแจงกันให้ชัดๆ ว่า 105.5 ล้านโดสมีกำหนดส่งมอบเมื่อไหร่ มิใช่ทำไปทำมากลายเป็นสัญญาหลวมๆ มิได้กำหนดวัน ว. เวลา น.ที่ชัดเจน ยิ่งถ้ากำหนดส่งปาเข้าไปในช่วงเดือนตุลาคมก็ยิ่งจะไปกันใหญ่

ทีนี้ เมื่อมาพิจารณาดูเป้าเฉพาะเดือนตุลาคมอันเป็นกำหนด “เปิดประเทศ” ก็ต้องมาพิจารณาว่า ประชาชน 50 ล้านคนที่ “ลุงตู่” บอกว่าจะได้รับวัคซีนเข็มแรกนั้นจะมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน

ณ ปัจจุบันจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2564 มีประชาชนฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 7 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มแรก 5,114,755 คน ครบสองเข็ม 1,889,028 คน หรือคิดเป็นจำนวนคนก็ตกอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านคนก็จะเหลือเป้าหมายอีกถึง 43 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนไม่น้อยกับระยะเวลา 120 วันที่เหลืออยู่ ที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพมีไม่มากนัก เพราะคนที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มมีเพียงแค่ราว 1.8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับซิโนแวค เพราะคนที่ได้ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีจำนวนไม่มากนักที่ได้รับครบ 2 เข็ม

และถ้าหากจะฉีดให้ครบประชากรที่เหลืออีก 43 ล้านคนก็หมายความว่าต้องฉีดวันละประมาณ 350,000 โดส ซึ่งถามว่า ยากไหม ก็ต้องตอบว่า ไม่ยาก ถ้าหากมีวัคซีนเพียงพอให้ฉีด


นอกจากนี้ ประเด็นใหญ่ของไทยยังซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก เมื่อมีรายงานว่า โควิด-19 “สายพันธุ์อินเดีย” หรือที่เรียกกันในชื่อทางการว่า “เดลตา” กำลังแพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ว่า จากการเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ตั้งแต่เดือนเมษายน-13 มิถุนายน โดยเก็บตัวอย่างผู้ติดเชื้อในเดือนเมษายน 5,055 คน พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา 4,528 คน คิดเป็น 89.6 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์เดลตา พบ 496 คน คิดเป็น 9.6 เปอร์เซ็นต์ และ สายพันธุ์เบตา 31 คน คิดเป็น 0.6 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกที่แคมป์คนงานก่อสร้างย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ และเชื่อมโยงไปตามจังหวัดต่าง ๆ จนถึงขณะนี้พบสายพันธุ์นี้ใน 20 จังหวัด เช่น เชียงราย เพชรบูรณ์ นนทบุรี สระบุรี ปทุมธานี นครนายก สมุทรสาคร ชลบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพฯ พบมากที่สุด 404 คน

นพ.ศุภกิจ คาดการณ์ว่า หลังจากนี้อีก 2-3 เดือน การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และจะแทนที่สายพันธุ์อัลฟา เพราะสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 40 เปอร์เซนต์ จึงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เช่น กรณีที่พบกลุ่มผู้ป่วย 10 คน ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรคให้แน่ชัด

นี่คือปัญหาใหม่ของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมหนีไม่พ้น “โรงพยาบาล” และ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่ล้ากับการเผชิญศึกโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง

“รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล” หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “หลงดีใจได้สามวันติดกัน ที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตเป็น 10+ แต่วันนี้หน้าหงายเมื่อดีดกลับไปที่ 40+ หวังลึกๆ ให้เป็นการกระเด้งดีดกลับทางเทคนิคเหมือนดัชนีตลาดหุ้น กลัวแต่ว่ามันจะลุกลามต่อไปเป็นการระบาดรอบใหม่ เนื่องจากยอดผู้ป่วยในเขตกทม.และปริมณฑลไม่ยอมลดต่อ แถมยอดผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เติมเข้ามาในรพ.หลักกลับมาเพิ่มใหม่หลังดีใจได้ไม่กี่วัน”

“ส่วนตัวแล้วคิดว่าอาจเป็นจาก 1.มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ที่เข้ามาใหม่จะแสดงความรุนแรงทั้งในการแพร่กระจายง่ายและรุนแรงในแง่ของการเจ็บป่วย 2.การควบคุมการแพร่กระจายในกลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังทำไม่ได้ดีพอ ส่งผลให้มีการลุกลามออกมาสู่ชุมชนคนไทยรอบข้าง กลุ่มก้อนนี้คงไม่สามารถจัดการได้ด้วยระบบปฏิบัติการปกติ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของหน่วยงานเฉพาะต่างๆ ที่มีอยู่ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนี้น่าจะแทรกซึมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่งานบริการในครัวเรือน กิจการขนาดเล็ก ไปจนถึงสถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดยิ่งใหญ่ หลายคนมองไปถึงการบริหารจัดการแบบสมุทรสาครโมเดล แต่ในครั้งนั้นมีการบูรณาการดำเนินงานทั้งจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอเพราะไม่มีการระบาดในจังหวัดอื่นมากนัก มาถึงตรงนี้แล้ว อาจต้องพึ่งอำนาจพิเศษหรือมือที่มองไม่เห็น เพราะหากไม่รีบดำเนินการตัดตอนเรื่องนี้ให้ดี เกรงว่าวิกฤตโควิดระลอกสี่จะหนีไม่พ้น

“ที่น่ากลัวคูณสองหรือมากกว่านั้น คือปัญหาข้อ 1. และข้อ 2. มีการเชื่อมโยงกัน !!! ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการผ่อนผันมาตรการควบคุมโรคในกทม.ที่เพิ่งประกาศไปโดยไม่บอกถึงรายละเอียดมาตรการกำกับดูแลให้เป็นจริง หรือมาตรการเปิดประเทศใน 120 วันที่เพิ่งประกาศวันนี้โดยหวังจะใช้แต่วัคซีนเป็นคำตอบสุดท้าย ทำให้เสียวสันหลังวาบอยู่พิกล”

พร้อมกันนี้หมอนิธิพัฒน์ ยังติดแฮชแท็กด้วยว่า #ชักกังวลว่าอาจจะมีวิกฤตโควิดระลอกสี่

เพราะฉะนั้น ถ้าหาก “นายกฯ ลุงตู่” ต้องการเปิดประเทศตามแผนที่ได้ประกาศไว้ จำต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ย่อมต้องเห็นด้วยการกับเปิดประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ โดย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า การที่นายกฯกำหนดเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วันถือเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามแผนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะสามารถทยอยเปิดพื้นที่ได้เร็วขึ้น บรรดาโรงแรม ร้านอาหารต่างๆ ก็จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติก่อให้เกิดการจ้างงาน

ทั้งนี้ ในต่างประเทศเองเช่น รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาก็ประกาศชัยด้วยการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลงเกือบทั้งหมดแล้ว หลังจากต้องล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคมาเป็นเวลานานถึง 15 เดือนโดยไม่ต้องสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างอีกต่อไป ซึ่งในส่วนของไทยเองตามแผนเปิดประเทศจะนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” ต้อนรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเดินทางต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว และแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 เข้ามาท่องเที่ยวและกักตัว 14 วันก่อนออกนอกพื้นที่ซึ่งจะเริ่ม 1 ก.ค.นี้โดยล่าสุดคนภูเก็ตได้ฉีดวัคซีนแล้ว 64% และก่อนถึงวันเปิดรับนักท่องเที่ยวจะครบ 70%

ทว่า สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือระยะต่อไปแม้จะมีการทยอยเปิดพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การเปิดประเทศใน 120 วันตามเป้าหมายของรัฐบาลทุกฝ่ายต้องไม่อยู่บนพื้นฐานความประมาทในการดูแลป้องกันตนเองหรือการ์ดต้องไม่ตกเพราะขณะนี้หลายประเทศก็เริ่มมีการพบการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด ซึ่งหากกลับมาระบาดอีกครั้งก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมมากกว่าเดิม จึงต้องนำบทเรียนของไทยในการแพร่ระบาด 3 รอบและบทเรียนจากต่างประเทศมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเตรียมป้องกันไว้ด้วย

อย่างไรก็ดี การที่คนระดับ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศมีความมั่นคงมั่นใจเช่นนี้ ย่อมมิได้เป็นแค่ “ลมปาก” ที่หาความเชื่อถือไม่ได้ และคงต้องมั่นใจในระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องเปิดเผย “ความจริง” กับประชาชน มิใช่ “ขายฝัน” ไปวันๆ ไม่เช่นนั้นรับประกันว่า เมื่อถึงวันนั้นถ้าทำไม่ได้ตามที่เปล่งวาจาออกมา “รัฐบาลลุง” คงต้องแสดงความรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่ากระมังว่าเป็น “ทางใด”.




กำลังโหลดความคิดเห็น