xs
xsm
sm
md
lg

แม้ประยุทธ์จะบอกว่า “พอแล้ว” การเมืองก็ยากจะพลิกขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลังเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี 5 เดือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บอกกับบรรดาพรรคการเมืองที่ไปเชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกว่า “พอแล้ว”

วันนี้มีเสียงขับขานถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีใกล้จะครบ 7 ปีว่า “พอหรือยัง”

ยุคสมัยของพล.อ.เปรมที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน 8 ปี 5 เดือนนั้น ก็มีคนจำนวนมากเริ่มจะเบื่อแล้วอยากจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ในยุคนั้นไม่ได้มีความแตกแยกทางความคิดเหมือนกับยุคนี้ ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และนักการเมืองเล่นอยู่ในกรอบ ดังนั้นการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนจากพล.อ.เปรมมาเป็นพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ แต่ปัจจุบันน่าจะมีเงื่อนไขที่หลากหลายกว่าในการกำหนดว่านายกรัฐมนตรีควรจะเป็นใคร

พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 21 สิงหาคม 2557 ถ้าอยู่ไปจนครบสมัยแรกของการเลือกตั้งก็จะอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี และถ้าอยู่ต่อหากส.ว.ยังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เขาก็อาจจะอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานถึง 13 ปี

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งของพรรคฝ่ายค้าน แต่ดูแล้วก็คงไม่สามารถสั่นคลอนอำนาจเบ็ดเสร็จที่อยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะตราบเท่าที่ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีและเปลี่ยนขั้วทางการเมืองได้

ถึงแม้ว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกำลังเข้าสู่สภา แต่ดูเหมือนว่า ยากมากที่จะตัดเงื่อนไขการให้ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถูกร่างไว้ให้แก้ไขได้ยากมาก และถ้าจะแก้ไขต้องใช้เสียงของส.ว.เห็นด้วยถึง 1 ใน 3 คือจำนวน 84 เสียง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ส.ว.จะยอมลงคะแนนเพื่อลดทอนอำนาจของตัวเองตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เว้นเสียแต่ว่า ได้รับใบสั่งจากผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งพวกเขามาเท่านั้นเอง

และหลังจากที่ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ พูดเป็นปริศนาว่า อายุรัฐบาลยังเหลืออีก 1 ปี ทำให้หลายฝ่ายคิดกันไปว่า รัฐบาลน่าจะยุบสภาในต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า แต่แล้วพล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดในที่ประชุมส.ว.ว่าจะอยู่จนครบสมัย ไม่มีการยุบสภาอย่างแน่นอน

ดังนั้นแม้สภาจะกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงจะได้ไม่มากไปกว่าที่พรรคพลังประชารัฐจะเปิดทางให้แก้ ประเด็นสำคัญที่อาจจะได้และหลายพรรคใหญ่เห็นร่วมกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปเป็นบัตรสองใบซึ่งง่ายต่อการคิดระบบบัญชีรายชื่อมากกว่าและพรรคใหญ่ที่มีเสียงเยอะจะได้เปรียบพรรคเล็ก โดยมี 3 พรรคใหญ่ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนเสียงส.ว.ก็จะต้องเทมาทางนี้ด้วย

ความจริงระบบบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นก็ไม่ได้เลวร้ายหรอก มันเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคมีเสียงส.ส.ได้สัดส่วนกับคะแนนรวมที่ได้มาจากทั่วประเทศ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือวิธีการคิดสัดส่วนของกกต.นั่นต่างหากที่ทำให้แต่ละพรรคไม่ได้ส.ส.ตรงจำนวนตามคะแนนพึงมีที่หารออกมาต่อ 1เก้าอี้ที่เท่าเทียมกัน กลายเป็นพรรคเล็กจำนวนมากที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าพึงมีมากได้เก้าอี้ส.ส.พรรคละ1เก้าอี้จากการปัดเศษแบบพิสดารงงงวยเป็นอันมาก

ดังนั้นเมื่อไม่สามารถแก้ไขเพื่อลดทอนอำนาจของส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ไปจนครบสมัยแล้วเลือกตั้งหรือยุบสภาภายในต้นปีหน้าก็ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีจากพล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นคนอื่นได้ นอกจากพล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า “พอแล้ว” แบบ พล.อ.เปรม

แต่ถึงพล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า “พอแล้ว” หลังหมดสมัยนี้ก็ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนขั้วอำนาจได้เลย อย่างน้อยรัฐบาลที่อยู่ภายใต้เปลือกของกองทัพก็ยังคงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงทำได้แต่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีตามที่ฝ่ายขั้วอำนาจในขณะนี้ต้องการเท่านั้นเอง ไม่มีช่องทางให้ฝ่ายค้านสามารถพลิกขั้วได้เลย เพราะเสียงส.ว. 250 คนนั้นเป็นตัวกำหนดสำคัญที่จะค้ำจุนรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังเอาไว้ และเป็นความจำเป็นของยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ด้วย

แม้ว่าจะมีทางเปลี่ยนขั้วได้ โดยฝ่ายค้านในขณะนี้สามารถระดมเสียงส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา แต่ก็เห็นแล้วว่าเป็นไปได้ยากมากจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะเพียงแค่อีกฝั่งหนึ่งมีส.ส.ในมือแค่ 126 เสียงขึ้นไปเมื่อบวกกับส.ว.ก็สามารถปิดทางฝั่งอื่นได้แล้ว

หลายคนชอบพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงส.ส.ในสภาเกินครึ่ง ไม่ได้ชนะเพราะมีเสียงส.ว.ในมือ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่หรอก เสียงส.ว.นั่นแหละที่เป็นตัวกำหนดเพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเห็นแล้วว่า มีทางเดียวคือต้องเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น

ดังนั้นถ้าไม่สามารถเปลี่ยนขั้วได้ก็ต้องคิดเหมือนกันว่า ถ้าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้วจะเอาใคร เพราะขั้วอำนาจฝั่งนี้ที่เราเห็นที่สามารถควบคุมเสียงของส.ว.250 คนได้แล้วนอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วก็คงมีแต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณจะเป็นเสียเอง หรือคงอยู่ที่พล.อ.ประวิตรจะเชิดใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง

เหมือนกับตอนนี้ถ้าเราสดับตรับฟังเสียงเรียกร้องของกลุ่มประชาชนคนไทยและพิภพ ธงไชย เราจะเห็นว่า พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่หรือแก้ไขอำนาจของส.ว. แต่พวกเขายังเห็นด้วยกับกลไกของรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจส.ว.ไว้ แต่เรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากคนนอกบัญชีเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ยากมากเพราะนอกจากต้องได้เสียงส.ส.เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของสภาเพื่อให้บริการได้แล้วยังต้องการเสียงส.ว.250 คน ยอมรับเงื่อนไขนี้ด้วย

แล้วถามว่าจะมีหรือครับที่จะมี “เอกบุรุษ” ลอยมาให้เข้ากับเงื่อนไขนี้ เพื่อให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เห็นด้วยตรงกันว่าเอาคนนอกคนนี้แหละมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพล.อ.ประยุทธ์

และถ้าจะใช้กระบวนการนอกสภาเพื่อกดดันให้ลาออก เช่นใช้การชุมนุมอย่างที่เคยทำ เราคงต้องยอมรับนะว่าไม่เคยมีการชุมนุมของฝั่งไหนที่กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกได้ นอกจากถูกเปลี่ยนด้วยการรัฐประหารเท่านั้น และยากมากภายใต้เงื่อนไขที่ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนและมีปริมาณที่ก้ำกึ่งกัน ถ้าจะขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ก็จะมีมวลชนของพล.อ.ประยุทธ์ออกมาคัดค้าน

ต้องยอมรับความจริงนะครับว่า แม้แต่ม็อบของคนรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถสั่นคลอนรัฐบาลได้ เหลือบมองฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะฝั่งที่นำโดยนายจตุพร พรหมพันธ์ ไทยไม่ทน หรือนำโดยทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ ก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถระดมมวลชนได้เยอะ จนกลายเป็นฉันทามติของประชาชนได้ หรือต่อให้สามม็อบมารวมกันก็ไม่น่าจะมีพลังที่มากพออยู่ดี

แน่นอนว่ามวลชนแต่ละกลุ่มมีเสรีภาพที่จะแสดงออก มีเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสันติ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะสั่นคลอนอำนาจรัฐที่ผนึกแน่นกับกองทัพในขณะนี้ได้เลย

เพราะต้องยอมรับว่า ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐในขณะนี้นั้นไม่ได้อิงกับอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย และเห็นแล้วว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยส่วนใหญ่ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

ดังนั้นถ้าไม่เกิดปาฏิหาริย์คือ รัฐสภาสามารถแก้ไขเพื่อตัดอำนาจของส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีลงได้ เพราะมีเสียงส.ว.เห็นด้วยตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ก็คงต้องยอมอยู่ในภายใต้อำนาจของ 3 ป.จนพ้นเงื่อนไข 5 ปีของบทเฉพาะกาลที่เขียนให้อำนาจส.ว.ไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ ต้องทนอยู่กับอำนาจ 3 ป.หลังจากนี้ไปอีกหนึ่งสมัย หรืออย่างเร็วก็คือหลังปี 2566

แม้ว่าหลายคนจะเห็นศักยภาพอันจำกัดของพล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศ เห็นถึงความผิดพลาดต่างๆนานา แต่เราคงต้องยอมรับว่า การกำหนดอนาคตของประเทศในขณะนี้ไม่ใช่ปัจจัยทางการเมืองอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติด้วย

ดังนั้นแม้ว่า วันหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์อาจจะบอกว่า“พอแล้ว” แต่คนที่จะมาแทนก็ยากมากที่จะพลิกขั้วการเมืองไปจากอำนาจของ 3 ป.ได้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น