xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นักอ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งที่ผมมักติดตามอ่านด้วยความสนใจ คือข่าวเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของคนไทย ว่าในแต่ละปีคนไทยอ่านหนังสือกันมากหรือน้อยเพียงใด หรืออย่างไรบ้าง

ข่าวนี้ก็คือข่าวที่เคยระบุในสมัยหนึ่งว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละแปดบรรทัดนั่นแหละ บางปีก็ให้ข้อมูลที่ทำให้ดูดีขึ้นว่า ตอนนี้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมาเป็น 12 บรรทัดแล้วนะ ให้คนที่สนใจข่าวนี้ได้ดีใจแบบเศร้าๆ ขึ้นมาอีกเล็กน้อย

ผมติดตามข่าวนี้เรื่อยมาตามแต่โอกาส คือปีไหนมีรายงานเข้ามาก็จะอ่าน ปีไหนไม่มีก็จะไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ยังคงให้บทสรุปที่ไม่สู้ดีนัก นั่นคือ ยังไงๆ คนไทยก็ยังอ่านหนังสือกันน้อย

โดยเฉพาะเยาวชนไทย

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอีกแล้ว ซึ่งผมขอยกเอาข่าวในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ได้นำข้อความในเฟซบุ๊กของ  อาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเผยแพร่ ซึ่งในที่นี้จะขอนำมาเรียบเรียงใหม่อีกชั้นหนึ่งว่า

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ทำการทดสอบเด็กอายุ 15 ปี (ประมาณชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4) มาทำแบบวิจัย โดยสุ่มจากตัวอย่างนักเรียนประมาณหกแสนคนที่เป็นตัวแทนนักเรียนอายุ 15 ปีจาก 79 ประเทศ

โดยประเทศไทยได้ทำร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) โดยสุ่มนักเรียนอายุ 15 ปีประมาณ 8,633 คน เพื่อเป็นตัวแทนจากทุกกลุ่มสังกัดโรงเรียนทั่วประเทศแล้วพบว่า เด็กไทยเป็นรองท้ายสุดในการแยกแยะ Fake news

 ทั้งนี้ OECD เพิ่งพิมพ์รายงานเรื่องนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เรื่องขีดความสามารถในการอ่านได้ผลคะแนนเมื่อเดือนธันวาคม 2562 พบว่า เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ย 393 คะแนน ซึ่งถือว่าต่ำมาก โดยค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่  487 คะแนน  

 ในขณะที่ประเทศที่ได้ผลการอ่านสูงสุดห้าลำดับแรกคือ จีนในสี่มณฑล (555 คะแนน) สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า และเอสโทเนีย  

OECD แบ่งผลคะแนนจัดเป็นหกระดับ ระดับหนึ่งคือระดับต่ำสุดจะมีคะแนนอยู่ 407 คะแนนลงมา โดยมีเด็กไทยอยู่ในระดับหนึ่งถึง 59.5 % และได้คะแนนอยู่ระดับ 5-6 (หมายถึงคะแนนสูงสุด) เพียง 0.2 % ซึ่งเทียบกับค่าเฉลี่ยของ OECD ที่มีเด็กอยู่ระดับหนึ่งเพียง 22.6% 

 ที่สำคัญ มีนักเรียนไทยไม่ถึง 1% ที่สามารถวิเคราะห์หรือแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นได้ 

ผมควรกล่าวด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากการสำรวจใน ค.ศ.2018 และ สสวท ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มในปีนี้ อนึ่ง สสวท เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกๆ ระดับชั้น ที่มีพรสวรรค์และความสามารถด้านวิชาวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

จากรายงานดังกล่าวไม่เพียงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดเยาวชนไทยจึงมีการแสดงออกบนฐานของความเข้าใจที่ผิดๆ ในหลายเรื่อง และความเข้าใจนี้ก็ชวนให้ตกใจได้เหมือนกันว่า เด็กไทยมีทักษะในการอ่านที่ต่ำขนาดนี้เชียวหรือ ซึ่งในระยะยาวย่อมไม่เพียงไม่ส่งผลดีต่อตัวเยาวชนเท่านั้น หากยังส่งผลถึงการพัฒนาประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การทดสอบดังกล่าวจะมีกระบวนการที่มีรายละเอียดพอสมควรก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญตัวหนึ่งก็คือ การอ่าน ที่ทำให้เราเห็นว่า การอ่านน้อยมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ทักษะในการแยกแยะ “ข้อเท็จ” กับ “ข้อจริง” ของเยาวชนมีปัญหา

แต่ลำพังการอ่านอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่พึงเกิดจากการอ่านควบคู่กันไปด้วยก็คือ การอ่านแล้วคิดตามไปด้วย ซึ่งก็แทบไม่มีใครที่อ่านโดยไม่คิด ชั่วอยู่แต่ว่าจะคิดมากหรือคิดน้อยเท่านั้น ซ้ำบางทีคิดมากไปหรือน้อยไปก็ไม่ดีอีก เพราะอาจจะก่อปัญหาขึ้นมาอีกแบบหนึ่งก็ได้

เหตุดังนั้น การอ่านไปแล้วคิดตามไปด้วยในด้านหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับคนอ่านแต่ละคน ว่าเลือกที่จะคิดให้เป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด อย่างไร

สรุปแล้ว คำสำคัญเบื้องต้นก็คือ การอ่าน

 ผมไม่แน่ใจนักว่า การที่จะทำให้คนรักการอ่านหรือเป็นนักอ่านได้นั้นทำกันอย่างไร หรือเขามีวิธีอบรมบ่มเพาะให้มีนิสัยรักการอ่านหรือไม่ แต่ถ้าว่าตามประสบการณ์แล้วผมพบว่า ครึ่งหนึ่งอยู่ที่เจ้าตัวที่จะมีใจรักการอ่าน อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการอ่าน 

ทั้งสองครึ่งนี้จะต้องอยู่ควบคู่กันไป ขาดครึ่งใดครึ่งหนึ่งไม่ได้ เพราะคนเราต่อให้รักการอ่านสักเพียงใด แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้อ่านก็ไม่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันถ้าสภาพแวดล้อมต่อให้ดีอย่างไร ถ้าคนไม่รักที่จะอ่านเสียแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน

แม้การรักการอ่านกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้อ่านจะต้องอยู่ควบคู่กันก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วผมก็ยังคิดว่า การรักการอ่านคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด แต่ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า นิสัยรักการอ่านนี้ทำกันอย่างไรผมเองก็ตอบไม่ได้

อย่างเช่นเวลาที่ผมไปจีนนั้น กิจกรรมหนึ่งที่ผมชอบทำอยู่เสมอก็คือ การเข้าร้านหนังสือเพื่อหาซื้อหนังสือ ร้านหนังสือแทบทุกร้านและทุกเมืองที่ผมไปมานั้น จะมีเรื่องที่ชวนให้หงุดหงิดแต่ชื่นชมอยู่ในใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ ตามช่องทางเดินระหว่างชั้นหนังสือต่างๆ มักจะมีคนมานั่งอ่านหนังสือขวางทางเอาไว้

คนจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ส่วนน้อยเป็นผู้ใหญ่

ที่ว่าหงุดหงิดก็คือ การขวางทางเดินของคนจีนเหล่านี้ทำให้ผมเดินหาหนังสือไม่สะดวก ส่วนที่ว่าชื่นชมก็คือ ผมรู้สึกดีใจที่เห็นคนจีนรักการอ่านหนังสือ อย่างหลังนี้ผมขอย้ำอีกครั้งว่า อ่านหนังสือ ไม่ใช่เลือกซื้อหนังสือ คือนั่งอ่านกันอย่างจริงๆ จังๆ

คนเหล่านี้เข้ามาในร้านหนังสือก่อนผมอย่างแน่นอน แต่ตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่ผมอยู่ร้านนั้นผมไม่พบว่าจะมีใครหายไป ทุกคนยังคงนั่งอยู่ที่เดิมและอ่านหนังสือเล่มเดิม เหตุดังนั้น ถึงแม้จะหงุดหงิดที่เดินไม่สะดวก แต่ผมก็ยินดีที่จะหงุดหงิดที่ได้เห็นคนอ่านหนังสือ และอยากเห็นร้านหนังสือในเมืองไทยเป็นอย่างนี้บ้าง

ทุกครั้งที่เข้าร้านหนังสือในเมืองไทยนั้น ผมมักจะพบแต่ความว่างเปล่าเป็นส่วนใหญ่ หรือถ้าจะมีคนก็มีไม่มากเหมือนที่เมืองจีน และคนที่ผมเห็นในร้านหนังสือเมืองไทยนั้นจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเยาวชนอยู่เสมอ

ภาพเช่นนี้คงพอจะบอกได้ว่า เหตุใดตัวเลขการอ่านหนังสือของเยาวชนไทยจึงต่ำมาก และทำไมของจีนจึงสูงมาก และจากตัวเลขนี้ก็น่าจะมีผลไม่มากก็น้อยที่ทำให้จีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงความหลังเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นซ้ายไปไม่ได้ ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้รับหนังสือที่แจกกันเป็นการภายใน (แปลว่าเป็นหนังสือผิดกฎหมาย) มาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ไม่สู้จะดีนักด้วยต้องประหยัดต้นทุน รูปเล่มจึงไม่น่าจับต้องมากนัก แต่เนื้อหาภายในเล่มมีบทความอยู่ชิ้นหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจมาก

บทความนี้พูดถึงการเป็นนักปฏิวัติที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร และหนึ่งในคุณสมบัติที่บทความนี้ระบุมาคือ การเป็นนักปฏิวัติที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของการเป็นนักอ่าน และการเป็นนักอ่านนี้ไม่ใช่อ่านแต่หนังสือของฝ่ายซ้ายเท่านั้น หากยังต้องอ่านเรื่องอื่นๆ ที่สามารถเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างไกลได้อีกด้วย

โลกทัศน์ที่กว้างไกลจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิวัติอย่างมาก

อ่านบทความชิ้นที่ว่าแล้วก็ให้รู้สึกว่า ขบวนการฝ่ายซ้ายในสมัยนั้นเข้าใจคิด และสิ่งที่เสนอว่านักปฏิวัติต้องเป็นนักอ่านด้วยนั้นก็มีความสมเหตุสมผล ประมาณว่า ถ้าไม่รู้เรื่องราวสังคมของตนเองและของสังคมอื่นแล้ว การปฏิวัติก็ไม่มีความหมาย เพราะไม่รู้จะปฏิวัติไปทำไม

 ผมไม่รู้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้นเป็นนักอ่านหรือไม่ แต่เท่าที่ติดตามดูคิดว่าไม่น่าจะเป็น เพราะชั้นแต่นิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่คนกลุ่มนี้ใช้กันนั้น ผมกลับรู้สึกว่ามันเป็น “เผด็จการ” อยู่ร่ำไป  

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือเยาวชน และเป็นตัวแทนของเยาวชนที่มีทักษะในการอ่านต่ำ เพราะหากเยาวชนเหล่านี้นักอ่านจริงแล้ว บางทีการเคลื่อนไหวของเขาและเธออาจได้รับชัยชนะไปแล้วก็ได้

หรือไม่ก็อาจไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างที่เห็นก็ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น