xs
xsm
sm
md
lg

เผด็จการตรงไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อถูกนักข่าวถามว่า “วันนี้นายกฯ คิดว่าตนเองไม่ได้เผด็จการเกินไปใช่หรือไม่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบสวนทันทีว่า “เผด็จการตรงไหน” จากก็อธิบายความหมายของคำว่าเผด็จการตามความเข้าใจของตนเอง แต่คำอธิบายของพลเอกประยุทธ์สะท้อนถึงความสับสนของความคิด เหมือนกับการพูดเรื่องอื่น ๆ ในอดีต

พลเอกประยุทธ์ อธิบายว่า “เผด็จการคือการยึดอำนาจ ผลประโยชน์การค้าการลงทุนหยุดหมด เอาเป็นสินทรัพย์ของตัวเองของผู้นำ ของประเทศ”

แม้จะพูดประโยคแบบขาดวิ่น แต่ก็พอจับใจความได้ว่าตามความเข้าใจของพลเอกประยุทธ์ เผด็จการมีสององค์ประกอบคือ การยึดอำนาจ (การปกครองประเทศเป็นของตนเอง) และ การยึดผลประโยชน์และทรัพย์สินของนายทุนและของรัฐมาเป็นของตนเอง)

จากนั้นพลเอกประยุทธ์ ก็กล่าวต่อว่า “ผมทำอะไรสักอันหรือยัง มีอะไรเป็นของผมสักชิ้นไหม สลึงนึงได้สักอย่างไหม” ซึ่งหมายความว่า ตนเองไม่เคยทำอะไรสักอย่าง (ไม่เคยยึดอำนาจ) และ ไม่ยึดทรัพย์สินหรือเอาทรัพย์สินของรัฐมาเป็นของส่วนตัว

พลเอกประยุทธ์คงลืมไปแล้วว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ตนเองและพวกพ้องเคยยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยกำลังอาวุธ และปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการผ่านคำสั่ง คสช. และ มาตรา ๔๔ การใช้อำนาจเปด็จการเบ็ดสร็จของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ใช้เพียงแค่ปีสองปีเท่านั้น หากแต่ใช้อย่างยาวนานร่วม ๕ ปี ร่องรอยความเสียหายของประเทศที่เกิดจากการใช้มาตรา ๔๔ นั้นยังคงดำรงอยู่จวบจนถึงปัจจุบันมีมากมายนับไม่ถ้วน เช่น การจับคนไปปรับทัศนคติ การจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล การเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องโดยแต่งตั้งพวกพ้องตนเองไปบริหารรัฐวิสาหกิจบ้าง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติบ้าง เป็นรัฐมนตรีบ้าง และการสั่งปิดการทำเหมืองทองของบริษัทเอกชน เป็นต้น

หากถูกย้อนเช่นนี้ พลเอกประยุทธ์อาจแก้ตัวว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาในเวลานี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะเขามาจากการเลือกของส.ส.เสียงส่วนใหญ่ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และแกล้งลืมว่า เสียงสนับสนุนเขานั้นมาจากส.ว.ด้วย และเป็น ส.ว.ที่เป็นแกนนำคสช. เลือกมากับมือ เพื่อยกมือสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี รูปแบบรัฐบาลประยุทธ์ในเวลานี้จึงแปลงร่างเปลี่ยนรูปจากเผด็จการทหาร มาเป็นเผด็จการรัฐสภานั่นเอง

การที่บอกว่าตนเองไม่ได้อะไรก็เป็นการกล่าวที่ห่างไกลจากความจริงอย่างปราศจากความละอายแก่ใจ สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ “ได้” อย่างชัดเจนคือ การได้อยู่บ้านพักอันหรูหรา พร้อมค่าน้ำค่าไฟฟรีจากหน่วยงานของรัฐ ขณะที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเกือบทุกคนล้วนแล้วแต่พักบ้านตนเอง จะดีจะชั่วอย่างไร อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งหลายก็สละสิทธิการพักอาศัยในบ้านพักราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้ และไม่ใช้อภิสิทธิ์อาศัยในบ้านพักของหน่วยราชการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมีก็แต่พลเอกประยุทธ์นั่นแหละที่ไปพักอาศัยโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติ

จากการที่พลเอกประยุทธ์ให้ความหมายของคำว่าเผด็จการดังที่กล่าวมาทำให้เรารู้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเผด็จการของเขามีจำกัดอย่างยิ่ง หรือบางทีอาจจะเข้าใจดี แต่แสร้งทำเป็นไม่เข้าใจก็เป็นได้ ทั้งที่ระบอบประยุทธ์มีความเป็นเผด็จการหลายเรื่องและตัวพลเอกประยุทธ์เองก็มีบุคลิกและพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงเป็นอัตลักษณ์ของเผด็จการ ซึ่งแสดงออกมาหลายครั้งหลายคราว แม้บางครั้งดูเหมือนพยายามควบคุมไม่ให้แสดงออกมา แต่หากประสบกับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ตัวตนที่แท้จริงก็มักปรากฎออกมาให้เห็นเสมอ

ลักษณะของระบอบประยุทธ์หรือระบอบเผด็จการรัฐสภาคือ การที่โครงสร้างการเมืองที่ประกอบด้วย รัฐบาล รัฐสภา และองค์กรอิสระถูกกำหนดและควบคุมโดยคณะบุคคลเพียงไม่กี่คนที่อยู่ภายในเครือข่ายของสามนายพลหรือสามป. เจตจำนงของสามนายพลสามารถครอบงำเจตจำนงหลักของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์กรอิสระได้เกือบทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือ สถาบันการเมืองหลักกลายเป็นเครื่องมือในการตอบสนองความปรารถนาของสามป. นั่นเอง ดังเห็นได้จาก การล้มร่างรัฐธรรมนูญ และการล้มคณะกรรรมาธิการวิสามัญที่เสนอโดยฝ่ายค้านอีกหลายชุด เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้นมีการใช้มาตรการรุนแรงหลายหลายรูปแบบเพื่อปราบปรามและจำกัดเสรีภาพของผู้ต่อต้านที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ทั้งการจับกุมแกนนำนักศึกษาประชาชนโดยไม่ยอมให้มีการประกันตัว การสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงใช้ทั้งแก๊สน้ำตา น้ำแรงดันสูง กระสุนยาง การทุบตีผู้ชุมนุมอย่างป่าเถื่อน การกระทำอย่างรุนแรงของตำรวจมักจะได้รับการให้ท้ายจากรัฐบาลเสมอ สิ่งที่เราได้ยินจากรัฐบาลคือ การพูดว่าตำรวจการกระทำตามกฎหมายอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม 

ล่าสุดพลเอกประยุทธ์กล่าวในทำนองที่ว่า “เขาไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะการชุมนุมหรืออะไรต่างๆ เขามักอ้างเสมอว่า การชุมนุมจะต้องไม่ผิดกฎหมาย และระบุว่า รัฐบาลได้มีการผ่อนผัน อนุโลม มามากแล้ว แต่เมื่อผิดมากๆ เข้าก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการ ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะสับสนวุ่นวายไปทั้งหมด” แต่สิ่งที่เรามักจะได้เห็นและได้ยินเสมอเกี่ยวกับผู้มีอำนาจรัฐคือ ยามที่มีอำนาจรัฐ มักจะบังคับใช้กฎหมายอย่างหนักหน่วงเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนเอง และบังคับใช้แบบเบาหวิวผ่อนปรนกับผู้ที่เป็นพวกเดียวกับตนเอง เห็นความผิดเพียงนิดเดียวของผู้อื่นเป็นความผิดมหันต์ ส่วนความผิดอันใหญ่หลวงของตนเองและพวกพ้องกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ระบบและพฤติกรรมแบบนี้เป็นแบบแผนของผู้เผด็จการนั่นเอง

ในทางวิชาการ เราสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า บุคลิกและพฤติกรรมของพลเอกประยุทธ์เป็นแบบเผด็จการอย่างปราศจากข้อสงสัย ดังการใช้น้ำเสียง ท่าทาง และภาษาที่ใช้กับผู้สื่อข่าวหรือในยามที่สัมภาษณ์ หรือในการพูดกับประชาชนในช่วงที่ไม่มีผู้ร่างให้อย่างเป็นทางการให้อ่านตาม ประยุทธ์มักพูดแบบเจ้านายสั่งลูกน้อง หรือ การพูดแบบสั่งการนั่นเอง สิ่งที่เราได้ยินบ่อย ๆ อีกอย่างคือ การพูดแบบท้าทายไม่สนใจความต้องการของประชาชน แม้แต่สรรพนามที่ใช้เช่นคำว่า “ชั้น” “เธอ” กับนักข่าว ซึ่งเป็นคำพูดสะท้อนการวางตำแหน่งของตนเองไว้ในฐานะที่เหนือกว่านั่นเอง ในอดีตไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนใดหรือนักการเมืองคนใดที่ใช้สรรพนามเช่นนี้กับนักข่าว กล่าวได้ว่าการใช้สรรพนามเช่นนี้ของพลเอกประยุทธ์มาจากจิตใต้สำนึกของความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมนั่นเอง

เผด็จการนั้นมักเห็นว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นความวุ่นวาย พลเอกประยุทธ์ก็มีความเห็นแบบนี้เช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า “ที่ผ่านมามีประชาธิปไตยเต็มใบ เสรีภาพอยากจะทำอะไรก็ทำแล้วเกิดความวุ่นวาย” เราแทบไม่เคยได้ยินประโยคที่เขาพูดจากจิตสำนึกของตนเองเพื่ออธิบายขยายความจุดเด่นและจุดแข็งของประชาธิปไตยและเสรีภาพแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นพลเมืองและมนุษย์ การต่อรองและแสวงหาทางออกแบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และการแสดงออกทางการเมือง

เผด็จการต้องการให้คนอื่นคิดและทำเหมือนตนเอง ต้องการให้คนอื่นปฏิบัติตามที่ตนเองบอก ต้องการให้คนอื่นเชื่อเหมือนกับตนเอง หากใครเชื่อไม่เหมือนตนเองก็จะลงมือปราบปรามหรือทำร้าย หรือใช้กฎหมายที่ล้าหลังมาจัดการคนที่คิดต่าง เผด็จการชอบใช้อารมณ์และความเชื่อมากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง ชอบให้ผู้คนยอมอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ชอบการท้าทายและการถูกตั้งคำถาม และมักใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติที่ต่างจากตนเอง

ลักษณะของระบอบการเมืองแบบระบอบประยุทธ์และพฤติกรรมของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลในขณะนี้มีสัดส่วนของความเป็นเผด็จการสูงเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่สัดส่วนของความเป็นประชาธิปไตยมีอยู่เพียงน้อยนิด และกำลังถูกริดรอนลงไปทุกวันจากผู้มีอำนาจรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น