xs
xsm
sm
md
lg

สงครามข่าวสาร : ภาพแห่งความตกต่ำทางศีลธรรมของรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ทวิตเตอร์ปิดบัญชีในประเทศไทยจำนวน ๙๒๖ บัญชี ปรากฎว่าบัญชีที่ถูกปิดจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลและกองทัพไทย ทิศทางของเนื้อหาหลักของบัญชีเหล่านั้นมี ๒ ด้าน ด้านแรกคือการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและกองทัพ และอีกด้านหนึ่งคือ การบ่อนทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบุคคลที่มีทัศนคติตรงข้ามกับรัฐบาล

ห้าเดือนถัดมา เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เฟซบุ๊กได้ลบบัญชี ๑๘๕ บัญชีออกจากระบบด้วยข้อหาการมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง บัญชีที่ถูกลบมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพไทย ซึ่งใช้ทั้งบัญชีปลอมและบัญชีจริงในการจัดตั้งกลุ่มและเพจ เป็นทั้งเพจทหารโดยตรงและเพจที่เชื่อมโยงทางอ้อม ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องที่เฟซบุ๊คระบุคือ การใช้เนื้อหาหลอกหลวง การสนับสนุนกองทัพ และการโจมตีฝ่ายที่กองทัพมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

การปิดบัญชีทั้งของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่ารัฐไทยมอบหมายให้หน่วยงานราชการดำเนินการใช้ข้อมูลหลอกลวงประชาชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จนกระทั่งบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ทั้งสองสืบจับได้และสั่งปิดไปในที่สุด การกระทำของรัฐบาลจนถูกปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แพร่กระจายไปทั่วโลก และทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมากในระดับสากล

อันที่จริงการเปิดเผยข้อมูลว่ารัฐไทยใช้ข้อมูลข่าวสารหลอกลวงในการปั่นหัวประชาชนและทำลายความน่าเชื่อถือของผู้คิดต่าง หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (information operation – io) เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการช่วงที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ในคราวนั้นนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีการจัดตั้งเพจปลอมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่มีความคิดต่างจากรัฐบาล มีการโจมตีโดยใช้ถ้อยคำแห่งความเกลียดชังอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ใช้ข้อมูลด้านเดียวที่เป็นเชิงบวกเพื่อเชิดชูหรืออวยรัฐบาลและกองทัพ และนายวิโรจน์ได้นำเสนอหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างเพจเหล่านั้นกับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยอย่างชัดเจน

แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูล แต่การปฏิบัติการสงครามข่าวสารของหน่วยงานรัฐก็มิได้น้อยลงแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับดูเหมือนมีความเข้มข้นมากขึ้น ปีถัดมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลได้นำเสนอข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐกับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาโจมตีโดยใช้ข้อมูลข่าวสารเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความเกลียดชังและความแตกแยกในหมู่ประชาชน

การที่ส.ส.ฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูลในสภาผู้แทนราษฎรและตามมาด้วยการปิดบัญชีที่เชื่อมโยงกับกองทัพของทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยว่า รัฐบาลไทยได้มีการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิดและทัศนคติทางการเมืองกับรัฐบาลจริง นั่นหมายความว่ารัฐไทยมีความคิดว่าประชาชนที่คิดต่างคือปรปักษ์ของรัฐนั่นเอง

รัฐใดก็ตามที่คิดว่าประชาชนเป็นปรปักษ์ ไม่อาจกล่าวได้ว่ารัฐนั้นเป็นรัฐประชาธิปไตย เพราะรัฐประชาธิปไตยนั้นรัฐกับประชาชนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และรัฐเป็นเครื่องมือของประชาชนทั้งมวลหาใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมไม่ และเป้าหมายของรัฐคือ “ความสงบสันติสุข” ภายใต้เงื่อนไขของความยุติธรรม ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีเสรีภาพในการแสดงคิด กระทำ และพัฒนาศักยภาพของตนเองภายใต้กฎหมายที่มีความชอบธรรม

รัฐที่มองประชาชนเป็นศัตรูมักเป็นรัฐเผด็จการที่มีคนส่วนน้อยบางกลุ่มควบคุมอำนาจรัฐ เป้าหมายของรัฐคือ “ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง” ภายใต้เงื่อนไขที่การปกครองประเทศต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มผู้อำนาจนำ เพื่อธำรงรักษาอำนาจทางการเมือง อภิสิทธิ์ทางสังคม และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้ยาวนานที่สุด ดังนั้นหากประชาชนกลุ่มใดมีความคิดและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กลุ่มผู้บริหารปกครองประเทศต้องลดอำนาจ ลดอภิสิทธิ์ และลดความมั่งคั่ง ประชาชนกลุ่มนั้นก็จะถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ซึ่งจะถูกปราบปรามและทำลายอย่างเลือดเย็นจากบริหารปกครองประเทศ

ในยุคปัจจุบันรัฐเผด็จการมักถูกปฏิเสธจากสากล เพราะอารยประเทศมิอาจยอมรับการกระทำที่ปราศจากศีลธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐได้ รัฐเผด็จการจึงมักนำเสื้อคลุมของประชาธิปไตยมาห่อหุ้มเพื่อปกปิดอัตลักษณ์ที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม การปกปิดอำพลางตนเองของรัฐเผด็จการมักทำได้ไม่นานนัก เพราะด้วยนิสัยถาวรที่เสพติดอำนาจจนฝังแน่นในจิตใต้สำนึกของผู้ปกครอง รัฐเผด็จการจึงกระทำบางอย่างตามแบบแผนที่พวกเขาเคยชินอันสะท้อนของความเป็นเผด็จการออกมา และถูกผู้คนจับได้เสมอ ดังที่รัฐไทยปฏิบัติการสงครามข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนนั่นเอง

ในการสร้างความมั่นคงแก่อำนาจเผด็จการจำแลง ผู้บริหารปกครองรัฐมักสร้างเงื่อนไขและสถานการณ์เพื่อทำให้ประชาชนแตกแยก พวกเขาพยายามกุมสภาพและครอบงำความคิดของประชาชนบางกลุ่มเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ผิดพลาดและเบี่ยงเบนจากหลักการประชาธิปไตยหลายประการด้วยกัน เช่น การทำให้เกิดความหลงผิดและเข้าใจว่าผลประโยชน์ของผู้บริหารประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผลประโยชน์ของประชาชน การทำให้ประชาชนหลงผิดและเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมทางการเมืองและสังคมเป็นเรื่องธรรมชาติเหมือนกับความไม่เท่าเทียมทางกายภาพ การสร้างความเชื่อว่าคนส่วนน้อยบางกลุ่มควรมีอภิสิทธิ์ สถานะ และอำนาจเหนือกว่าคนที่เหลือทั้งหมดของสังคม การทำให้เกิดหลงผิดคิดว่า กฎหมายที่ปกป้องอภิสิทธิ์ของคนส่วนน้อยบางกลุ่มในสังคมและการมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ละเมิดเป็นกฎหมายที่ชอบธรรม และการสร้างความเชื่อที่ผิด เพื่อให้ประชาชนคิดว่าสิทธิพิเศษในการใช้อำนาจตามแต่ใจของตนเองของคนบางกลุ่มที่มีอำนาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีแล้ว

ประชาชนที่ตกเหยื่อของการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารนั้นมีสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เต็มใจเป็นเหยื่อ และกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่เต็มใจเป็นเหยื่อ กลุ่มที่เต็มใจเป็นเหยื่อนั้น มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาบางคนอาจได้รับผลประโยชน์บางอย่างและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงครามข่าวสาร ทั้งที่โดยสามัญสำนึกก็รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง และก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า มีบางกลุ่มที่ถูกปลูกฝังและกล่อมเกลาทางความคิดอย่างยาวนาน จนเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อนั้นเป็นความจริงและความดี จึงไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อแต่อย่างใด และพร้อมกระทำการสร้างข้อมูลข่าวสารเท็จในนามของความดี เพื่อปกป้องผู้มีอำนาจและทำลายผู้ท้าทายอย่างแข็งขัน 
 
สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่เต็มใจเป็นเหยื่อนั้น พวกเขาบางส่วนอาจเคยคิดหรือเชื่อตามที่ผู้ปกครองบอก ครั้นเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารอีกด้านที่ตรงข้ามกับอดีต พวกเขาก็นำมาพิจารณา เปรียบเทียบ ไตร่ตรอง และประเมินข้อมูลข่าวสารที่ได้รับในปัจจุบันกับข้อมูลข่าวสารในอดีต หากจิตของพวกเขายังมีความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม คนเหล่านั้นจะหลุดพ้นจากสภาพการเป็นเหยื่อ และตัดสินว่า การที่รัฐทำสงครามข้อมูลข่าวสารกับประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาก็จะหันมารับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมากขึ้นและเห็นความจริงในหลายแง่มุม รวมทั้งมีการปรับความคิด ปรับเกณฑ์ในการประเมินความจริงและความดีใหม่ ที่ตั้งอยู่บนเหตุผลเชิงจริยธรรมที่อิงกับความยุติธรรม ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น

การที่บัญชีสื่อสังออนไลน์ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐบาลไทยถูกปิด ด้วยข้อหาว่ามีพฤติกรรมไม่ถูกต้องและมีเนื้อหาหลอกลวง เป็นภาพสะท้อนความตกต่ำทางจริยธรรมอย่างรุนแรงของผู้บริหารปกครองประเทศยุคนี้ ที่ยึดเอาความหลอกลวงที่ไร้จริยธรรมและการมองประชาชนเป็นศัตรูมาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ รัฐบาลแบบนี้ย่อมเป็นรัฐบาลที่เลวร้ายและไม่เหมาะที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น