xs
xsm
sm
md
lg

การลงมติภายใต้ความขัดแย้งของตรรกะ “เอกภาพของพรรค” กับ “อิสระภาพของส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การลงมติของส.ส.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจคือมี ส.ส.จำนวนหนึ่งทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงมติสวนทางกับมติพรรคของตนเอง อะไรคือชุดของตรรกะที่ ส.ส.ใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจเลือกแนวปฏิบัติสำหรับการลงมติและปรากฏการณ์นี้มีนัยทางการเมืองอย่างไร

ตามบรรทัดฐานของการเมืองแบบไทย ๆ สำหรับการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรคือ การลงมติของส.ส.ต้องเป็นไปตามตามมติของพรรค ภายใต้ตรรกะหลักคือ “ความเป็นเอกภาพและระเบียบวินัยของพรรคการเมือง”

ตรรกะนี้มีฐานความคิดว่า พรรคการเมืองเป็นหน่วยทางสังคมที่ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อพรรคกำหนดแนวทางการตัดสินใจอย่างเป็นทางการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สมาชิกพรรคต้องยึดถือและปฏิบัติตามนั้น ไม่อาจตัดสินใจตามเจตนารมณ์แห่งความเป็นปัจเจกชนของตนเองได้ หรือหลักการสำคัญคือเจตจำนงของพรรคต้องอยู่เหนือเจตจำนงของสมาชิกนั่นเอง

การปฏิบัติตามเจตจำนงของพรรคถูกเรียกว่าความมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของความเป็นเอกภาพ ส่วนการปฏิบัติที่เบี่ยงเบนจากเจตจำนงของพรรคถูกตีตราว่าไร้ระเบียบวินัยและไม่จงรักภักดีต่อพรรค

ผลสืบเนื่องจากการที่ ส.ส.ตัดสินใจเลือกและปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมติพรรคคือการถูกลงโทษจากพรรค ความรุนแรงของบทลงโทษขึ้นอยู่กับเรื่องหรือประเด็นที่พรรคให้ความสำคัญ หากมีการลงมติไม่สอดคล้องในเรื่องที่ไม่สำคัญมากนัก บทลงโทษก็ไม่รุนแรง แต่หากเป็นเรื่องที่พรรคเห็นว่ามีความสำคัญมากบทลงโทษที่ตามมาค่อนข้างรุนแรง

อย่างไรก็ตามบทลงโทษของแต่ละพรรคไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนหรือมีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาด้วย โดยทั่วไปบทลงโทษแก่ส.ส.ที่ลงมติสวนทางกับมติพรรคได้แก่ การตักเตือน การตำหนิในที่ประชุม การตัดหรือลดการสนับสนุนทรัพยากร การไม่ให้ร่วมกิจกรรมพรรค การปลดออกจากกรรมาธิการ การปลดออกจากตำแหน่งภายในพรรค การห้ามใช้ชื่อพรรคในการดำเนินกิจกรรม การไม่ส่งลงเลือกตั้งในนามพรรคสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป และการขับออกจากพรรค

บทลงโทษที่ถือว่ารุนแรงทางการเมืองและมีผลต่อบทบาทและอาชีพของการเป็นนักการเมืองคือ การไม่ส่งลงสมัครในนามพรรคและการถูกขับออกจากพรรค เพราะทำให้อนาคตทางการเมืองของบุคคลเหล่านั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง และอาจถึงขั้นต้องจบชีวิตทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ส.ส.แต่ละคนแตกต่างกันออกไป หาก ส.ส.คนใดที่ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยกระแสความนิยมของพรรคก็จะได้รับผลกระทบสูง แต่หาก ส.ส.คนใดที่มีฐานเสียงส่วนบุคคลของตนเอง ผลกระทบก็มีไม่มากนัก เพราะแม้ว่าเปลี่ยนพรรคในการเลือกตั้ง แต่ ส.ส.ผู้นั้นก็ยังมีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกกลับมา โดยทั่วไป ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งได้รับเลือกด้วยกระแสพรรคและไม่มีฐานเสียงในพื้นที่มากนักจะได้รับผลกระทบสูงกว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีฐานเสียงเป็นของตนเอง

สำหรับมาตรการขับไล่ออกจากพรรคระหว่างอยู่ในสมัยของสภานั้น ในอดีตถือว่าเป็นมาตรการที่รุนแรงมากเพราะรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ บัญญติให้สิ้นสภาพของความเป็น ส.ส. ทันที แต่ต่อมาได้ถูกวิจารณ์ว่า อาจทำให้ ส.ส.ถูกครอบงำและบงการโดยพรรคมากเกินไป จนทำให้สูญเสียเจตจำนงอิสระในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ต่อมาผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ จึงได้เปลี่ยนแปลงข้อบัญญัตินี้และทำให้การถูกขับออกจากพรรคกลายเป็นมาตรการที่ไร้น้ำยา เพราะไม่ทำให้ส.ส.ผู้ถูกขับสิ้นสภาพความเป็นส.ส. แต่อย่างใด หากเขาหรือเธอสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายในสามสิบวัน

ข้อบัญญัติเช่นนี้ทำให้ส.ส.ในปัจจุบันตัดสินใจลงมติที่สวนทางกับมติพรรคมากขึ้น และอาจรู้สึกยินดีด้วยซ้ำหากถูกพรรคเดิมขับออกไปเพราะทำให้ตนเองสามารถเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่ตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของพวกเขามากกว่าพรรคเดิมได้อย่างสะดวก

นัยของตรรกะเอกภาพและความมีระเบียบคือการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิก ซึ่งเป็นรากฐานขององค์การทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์การทางการเมือง การควบคุมอาจได้รับการบัญญัติเป็นข้อบังคับของพรรคหรือการใช้มติพรรค การควบคุมที่ถือว่ามีความชอบธรรมในกรณีพรรคการเมืองคือ การใช้มติของเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการบริหารพรรคหรือที่ประชุมใหญ่ของพรรค เมื่อมีมติใดออกมา แม้สมาชิกพรรคไม่เห็นด้วย ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่ามตินั้นถูกต้องหรือสอดคล้องกับเหตุผลเชิงจริยธรรมหรือไม่ก็ตาม

แต่ปมปัญหาคือ มีความชอบธรรมหรือไม่ หากมตินั้นเป็นเพียงความคิดของผู้นำพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคไม่กี่คนที่ทรงอิทธิพลและใช้ความคิดของตนเองบงการให้สมาชิกอื่น ๆต้องยอมตาม แม้ว่าเรื่องนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึก หลักศีลธรรม และหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

สำหรับตรรกะอีกชุดซึ่งขัดแย้งและแข่งขันกับ “ตรรกะความเป็นเอกภาพและความมีระเบียบวินัยของพรรคการเมือง” คือ “ตรรกะความเป็นอิสรภาพของส.ส.ในการตัดสินใจในฐานะที่เป็นตัวแทนปวงชน”

ตรรกะชุดนี้มีฐานคิดว่า ส.ส.เป็นตัวแทนของปวงชน มิใช่ตัวแทนของพรรคหรือเขตเลือกตั้ง การตัดสินใจของพวกเขาควรเป็นอิสระจากข้อผูกมัดหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากพรรคที่เขาสังกัด หรือจากเขตเลือกตั้งที่เลือกเขามา ข้อผูกมัดของพวกเขาคือการธำรงหลักการประชาธิปไตยและผลประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมหรือปวงชนทั้งมวล ตรรกะชุดนี้เป็นฐานคิดเชิงปฏิบติที่ได้รับการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ และเป็นตรรกะที่ทำให้ ส.ส.ใช้อ้างยามที่พวกเขาตัดสินใจลงมติสวนทางกับพรรคการเมืองที่เขาสังกัด การตัดสินใจมีความชอบธรรมหากสิ่งที่อ้างสอดคล้องกับหลักการอย่างแท้จริง แต่จะไร้ความชอบธรรมทันทีหากสิ่งที่อ้างเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาปกปิดความปรารถนาและเหตุผลที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ส.ที่ลงมติสวนทางกับพรรคของตนเองมีข้ออ้างที่ชอบธรรมหรือไร้ความชอบธรรม เพราะการบอกแต่เพียงว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะลงมติอย่างไรก็ได้นั้นคงมีน้ำหนักไม่เพียงพอในการสร้างความชอบธรรมให้กับการลงมติ กรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้จากเหตุผลที่แถลง และพฤติกรรมที่กระทำในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อประเมินว่าข้ออ้างมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด

กรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล กลุ่ม ส.ส.บางคนที่ลงมติสวนทางกับมติพรรคในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมสวนทางกับพรรคมาแล้วหลายครั้งในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งอนุมานได้ว่า ส.ส.เหล่านี้มีจุดยืนและกรอบคิดในการดำเนินงานทางการเมืองแตกต่างกับพรรคอย่างสิ้นเชิง กลุ่มคนเหล่านี้ปรารถนาย้ายพรรค แต่ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายทำให้ลาออกเพื่อเข้าไปอยู่ในพรรคใหม่ไม่ได้ เพราะการลาออกทำให้หมดสถานะของความเป็นส.ส. ทันที

ดังนั้นจึงมีการแสดงบทบาททางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับพรรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้พรรคขับไล่ออกจากพรรค ซึ่งทำให้สามารถเข้าสังกัดพรรคใหม่ได้โดยยังคงสถานภาพความเป็นส.ส.เอาไว้ และพฤติกรรมการลงมติของส.ส.กลุ่มนี้มีเหตุที่น่าสงสัยว่า มิได้มาจากเจตจำนงอิสระ แต่อาจมาจากความคาดหวังถึงผลประโยชน์ในอนาคต ดังการลงมติไว้วางใจหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีการวิเคราะห์ว่า ส.ส.กลุ่มนี้จะย้ายเข้าสังกัดในอนาคต ตามเพื่อนร่วมพรรคเดียวกันบางคนที่ได้ไปอยู่ก่อนแล้ว หากเหตุผลและพฤติกรรมที่แท้จริงของพวกเขาเป็น “การมัดจำเพื่ออนาคตของตนเอง” ก็แสดงว่าข้ออ้างในการลงมติของสวนทางกับพรรคเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบธรรม

สำหรับกรณี ส.ส.พรรคการเมืองอื่น ๆ บางคนลงมติสวนทางมติพรรคเพราะมีความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งและผลประโยชน์ภายในพรรค บางคนขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมือง บางคนไม่พอใจการปฏิบัติแบบห่างเหินของรัฐมนตรีที่มีต่อพวกตนเอง และบางคนอาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หากส.ส.คนใดที่ลงมติด้วยเหตุผลเหล่านี้ ก็ย่อมไม่มีความชอบธรรมเช่นเดียวกัน และมีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ที่ลงมติสวนทางกับมติพรรคในครั้งนี้มีแนวโน้มถูกกำหนดจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่กล่าวมา

ในแง่นี้ความเป็นอิสระของส.ส.ในการลงมติจึงมีความเปราะบาง ทำให้ ส.ส.ที่เป็นนักฉวยโอกาสและนักแสวงโชคทางการเมืองใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องนี้ เมื่อเทียบกับข้อบกพร่องของการถูกควบคุมบงการอย่างสัมบูรณ์ของพรรคการเมือง หลายคนอาจคิดว่ายอมรับได้มากกว่า เพราะสร้างผลกระทบต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยน้อยกว่า แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไปเพราะหากเมื่อไร มีพรรคการเมืองบางพรรคสามารถเสนออามิสสินจ้างที่มากเพียงพอ พวกเขาก็อาจล้มรัฐบาลได้ และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็จะตามมา

ประเทศไทยได้ทดลองใช้ชุดของตรรกะทั้งสองชุดนี้หลายครั้งแล้ว วนเวียนกันไปมา ตรรกะแต่ละชุดเมื่อนำไปปฏิบัติจริงต่างมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งสิ้น “ตรรกะความเอกภาพของพรรค” มักสร้างปัญหาทรราชของเสียงส่วนใหญ่และเป็นอันตรายยิ่งหากพรรคการเมืองนั้นมีความฉ้อฉล ละเมิดหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ส่วน “ตรรกะความเป็นอิสระของ ส.ส.” ก็มักนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ความขัดแย้ง ไร้ประสิทธิภาพและสร้างการเมืองน้ำเน่า “แบบงูเห่ากินกล้วย” ขึ้นมา ซึ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตย

ปมปัญหาหนีเสือปะจระเข้เช่นนี้ยังคงดำรงอยู่คู่กับการเมืองไทยไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าเราจะสามารถหาหนทางที่ทำให้ข้ามพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น