xs
xsm
sm
md
lg

หลุมอันตรายจากเหมืองทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มหกรรมพ่นน้ำลายตามวิถีระบอบประชาธิปไตยทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลหลายเรื่อง มีทั้งจริงบ้าง จริงแท้ และจริงบางส่วน นำเสนอโดยฝ่ายค้าน มีดรามาประกอบ และการลุกขึ้นประท้วงโดยบริวารรัฐมนตรีถี่ยิบ

 ไม่ต้องบอกว่าลีลาน้ำเน่าในการลุกขึ้นประท้วงนั้นได้สร้างความน่าเบื่อหน่ายให้ชาวบ้านมากแค่ไหน ส่วนใหญ่เป็นหน้าเดิม ถูกยกว่าเป็นองครักษ์พิทักษ์เสนาบดี ส่วนพวกค่อนแคะว่าบางคนเป็นนักกำจัดคราบสกปรกบนท็อปบู๊ตชั้นเยี่ยม 

เรื่องพรรค์นี้เป็นพฤติกรรมปกติของนักเลือกตั้งบางประเภท ถ้าไม่อายทำได้ทั้งนั้น ไม่แยแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น ทำให้นายท่านพอใจ ยิ่งถ้าผลงานดี นายท่านอาจตบรางวัลเป็นตำแหน่งงามๆ

นักประท้วง 2-3 รายหวังว่าตัวเองอยู่ในคิวที่จะเป็นรัฐมนตรีสมัยหน้า ดูแล้วก็แปลกที่พฤติกรรมหน้าไม่อายนั้นได้รับการตอบสนองเป็นรางวัลทางการเมือง แต่ไม่ควรแปลกใจ เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสภาพการเมืองด้อยพัฒนา

การจะเป็นนักประท้วง รับบทองครักษ์พิทักษ์เสนาบดีนั้น ใช่ว่าใครก็ทำได้ ต้องมีความกล้าทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำ อยากดัง ทนต่อถ้อยคำเสียดสี ถากถาง ถ้าทำงานให้เสนาบดีมีภาพลักษณ์ไม่สะอาด ฉาวโฉ่ จะได้เป็นอสูรพิทักษ์จอมมาร

เมื่อเป็นเกมการเมือง มีได้มีเสีย การทำหน้าที่พิทักษ์ถือเป็นการลงทุน ทำด้วยใจ ไม่มียั้งมือ ทุ่มสุดตัว ยิ่งนายท่านเป็นเป้าใหญ่ ต้องมีตัวช่วยสลับกันเล่นบท
 ในเรื่องฉาวที่ฝ่ายค้านยกมาเล่นงานรัฐบาล มี 1 เรื่องที่ถือว่าสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างแรงคือ สัมปทานสำรวจและทำเหมืองทองคำ ซึ่งได้สร้างปัญหาให้รัฐบาลและประเทศไทยอย่างรุนแรง 

ในจังหวัดที่มีการทำเหมืองทอง เราจะเห็นภาพของหลุมเหมืองขนาดใหญ่ ทั้งกว้างและลึก มีทั้งสารพิษตกค้าง ใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เป็นแผลขนาดใหญ่บนแผ่นดิน หลังจากผู้ประกอบการขุดเอาสินแร่ทองคำไปแล้ว ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

เป็นความเสียหายด้านทรัพยากร สภาพแวดล้อม และอันตรายถ้ามีคนหรือสัตว์พลัดตกลงไป เพราะการจะถมต้องใช้ดินจำนวนมหาศาล และไม่ชัดเจนว่ามีเงื่อนไขว่าถ้าขุดแล้วผู้ประกอบการต้องถมและคืนพื้นที่ให้ในสภาพเหมือนเดิม

เราจึงมีหลุมขนาดยักษ์ ใหญ่กว่าหลุมอุกาบาตร ถือว่าเป็นหลุมอุบาทว์ก็ได้ ที่เห็นในจังหวัดพิจิตร ก็เป็นหลุมกว้างใหญ่ สร้างปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในพื้นที่

นึกว่าการปิดเหมืองทองอัคราจะไม่มีการขุดเช่นนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าการเจรจาเรื่องค่าเสียหายจะเป็นอย่างไร แต่มีข่าวว่ารัฐบาลได้ให้สัมปทานสำรวจอีกแล้ว ให้เจ้าเดิมจากออสเตรเลียนั่นแหละ จะเป็นการให้เพื่อกลบการฟ้องหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่

ถ้าให้มีการขุดอีกต่อไป นั่นคือหายนะที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดิน โดยชาวบ้านจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากความเสี่ยง รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงเล็กน้อย ใครจะได้ไต้โต๊ะ ส่วนแบ่งอย่างอื่นหรือไม่ ไม่มีใครเปิดเผย แต่บริษัทโกยกำไรไปไม่น้อย

 เรื่องสัมปทานสำรวจเหมืองทอง เสนาบดีอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจได้ชี้แจงช่วงหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าอย่างนี้

“....ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ให้นโยบายคณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ได้ เพื่อให้เสนอต่อ ครม. ต่อมา ครม.ก็เห็นชอบในเดือน ส.ค. 2560

คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติได้มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนั้น บริษัท อัคราฯ จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจจำนวน 44 แปลง ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548

ดังนั้น การมาเดินเรื่องคำขออนุญาตดังกล่าว และทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตไปนั้น จึงเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเพื่อการถอนฟ้องแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาระยะเวลา 15-20 ปี บริษัท อัคราฯ มาลงทุนในเมืองไทย กำไรคิดว่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าเอาจำนวนครบต้องอีก 25 ปี ถึงจะได้มา 22,500 ล้านบาท...” 

สัมปทานสำรวจ ต้องมุ่งไปสู่การขุดหาแร่ในที่สุด ไม่งั้นจะสำรวจทำไม!

กำไร 5 พันล้าน จริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพราะนายสุริยะคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ค่าสัมปทานจะคุ้มหรือไม่กับการเสียหายของพื้นที่ ชีวิตของชาวบ้าน ความเสี่ยงจากโรคร้ายเพราะสารพิษ ความขัดแย้งของชุมชนคนได้ประโยชน์และผู้เสียหาย

ดูสภาพแล้ว นี่คือการเปิดทางให้ต่างชาติเอาทรัพยากรอันมีค่าออกไปจากแผ่นดินไทย ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของโดยรวม เรามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรที่ต้องให้สัมปทานเหมืองทอง เพราะเก็บไว้ไต้ดินก็ไม่เสียหาย นับวันมีแต่ราคาจะเพิ่ม

เงื่อนไขการคืนพื้นที่ ถ้าฝืนให้สัมปทานขุดไม่ได้ ต้องเพิ่มส่วนแบ่งในอัตราที่เหมาะสมกับการสูญเสีย และต้องให้กลบหลุม หรือทำให้เป็นความเสียหายน้อยที่สุด เพราะคนทั่วไปไม่มีปัญญากลบได้ นอกจากปล่อยให้เป็นทะเลสาบน้ำพิษ

 นี่เป็นประเด็นพิสูจน์ว่าผู้กุมอำนาจรัฐรักชาติจริงหรือไม่ การระงับสัมปทานเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว น่าขนหัวลุกคือจะมีการขุดแบบเดียวกันอีก ถ้ามีแร่! 


กำลังโหลดความคิดเห็น