xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “บอส กระทิงแดง” ถึง “คดีน้องทอน” บทสะท้อน “ยามโพล้เพล้” ของ “อัยการไทย”??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จะว่าไปนับแต่ “คดีบอสกระทิงแดง” เป็นต้นมา “ความน่าเชื่อถือ” ของ “อัยการสูงสุด” ก็ถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่อง และมาตอกย้ำให้เกิดข้อกังขาอีกครั้งใน “คดีสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” น้องชายของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เมื่อออกมาบอกว่า “ยังก้ำกึ่งว่าเป็นการจงใจติดสินบน 20 ล้านเพื่อฮุบที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือถูกหลอก”

จาก “บอส กระทิงแดง” ถึง “คดีน้องทอน” สะท้อนให้เห็นถึง “ความโพล้เพล้ของกระบวนการยุติธรรมกลางน้ำ” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และประชาชนคนไทยก็มีสิทธิตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ปัญหาเริ่มต้นสำแดงให้เห็นเมื่อ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “สิระ เจนจาคะ” เป็นประธาน ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง “สกุลธร” ในเรื่องนี้ ทั้งที่ผู้รับสินบนทั้งสองคนนั้น ถูกอัยการสั่งฟ้อง และศาลได้ตัดสินจำคุก จนขณะนี้ทั้งสองคนได้พ้นโทษไปแล้ว

“วีรพล โมระกรานต์” อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต และ “ประเสริฐ จรัญรัตนศรี” อัยการผู้เชี่ยวชาญ คือสองตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรให้มาชี้แจง

“วีรพล” บอกว่า คดีนี้อัยการได้สอบถามไปยังพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนแล้ว ได้รับคำตอบว่า ได้มีการแยกดำเนินคดีในส่วนของ “สกุลธร” ออกมาเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก สำนวนที่ส่งมาจึงไม่ชื่อ “สกุลธร” เป็นผู้ต้องหา อัยการจึงไม่สามารถสั่งฟ้องได้ ขณะนี้อัยการก็ได้แต่รอว่า พนักงานสอบสวน จะส่งสำนวนคดีของ “สกุลธร” มาเมื่อไร จะได้พิจารณาว่า “สกุลธร” ผิดหรือไม่

ขณะที่ “ประเสริฐ” ก็บอกว่า เหตุที่ “สกุลธร” ในฐานะผู้ให้เงิน แต่ไม่ถูกดำเนินคดีนั้น เป็นเพราะกรณีคนให้เงินนั้น เป็นอีกบริบทหนึ่งว่า เป็นการให้เงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปกระทำผิดต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่งจากสำนวนมีพยานให้การว่า การให้เงินของ “สกุลธร” ทำให้คดีไม่ชัดเจนว่าให้โดยรู้อยู่แล้วว่าจะมีการกระทำความผิด... เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีการประสานงานกันอย่างเปิดเผย ไม่ได้ติดต่อกันทางลับ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลับไม่ได้เปิดเผยชัดเจนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงอาจเป็นการหลอกลวงได้... คดีนี้จึงเป็นเรื่องก้ำกึ่งว่า “สกุลธร” รู้เห็นเป็นใจกับกระบวนการทั้งหมด หรือถูกหลอก !!

คำชี้แจงที่ว่านี้ทำเอา “สิระ” ที่เป็นประธาน กมธ. ถึงกับบอกว่า การที่นายหน้าฝ่าย “สกุลธร” อ้างว่า ไม่ทราบกระบวนการขอเช่าที่นั้น “ฟังไม่ขึ้น” เพราะอาชีพนายหน้า ต้องรู้ว่าการจะได้ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องผ่านการประมูล... ทำไมอัยการไม่มีเหตุสงสัยในประเด็นนี้ ว่า เข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ ไม่เช่นนั้น เท่ากับว่า ใครพูดอะไรก็เชื่อหมด หากเป็นการให้ข้อมูลเท็จ จะเป็นอย่างไร เหมือนต้นน้ำมันสกปรก อัยการซึ่งอยู่กลางน้ำ กลับไม่ทำเรื่องที่มาแบบสกปรกให้มันขาวขึ้น คดีนี้รู้องค์ประกอบทุกอย่าง แต่กลับไม่สอบ...ดังนั้น เชื่อว่ามีความผิดปกติแน่นอน !!

ขณะที่ “วัชระ เพชรทอง” ที่ถูกเรียกไปขอความเห็นมองว่า คดีนี้มีคำพิพากษาจากศาลระบุชัดว่า “สกุลธร” ได้ติดสินบน จำเลยทั้ง 2 ราย จ่ายเป็นเช็ค 3 งวด โดยงวดแรก 5 ล้านบาท ในนามบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่มี “สกุลธร” เป็นประธาน และมี “ธนาธร-สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ร่วมเป็นกรรมการ งวดที่สอง 5 ล้านบาท จ่ายเช็คในนามสกุลธร และ งวดที่สาม 10 ล้านบาท จ่ายเช็คในนามสกุลธร รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท

อีกทั้งในสำนวนที่พนักงานสอบสวน ส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ระบุว่า มีเจตนานำเงินไปให้แก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำผิดหน้าที่ ช่วยเหลือบริษัท เรียลแอสเสทฯ ให้ได้สิทธิเช่าที่ดินทรัพย์สินฯ โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามปกติ จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้ให้ผู้ต้องหาทั้งสอง ไปกระทำความผิด... “สกุลธร” จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อมีหลักฐานปรากฏเป็นเช็คที่สั่งจ่ายในนามบริษัท เรียลแอสเสทฯ ที่ “สกลุธร” เป็นประธาน และมี “สมพร-ธนาธร” ร่วมเป็นกรรมการบริษัทในขณะนั้น ... สองคนหลังนี้จะมีความผิดไปด้วยหรือไม่

ที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ณ ขณะนี้สำนวนคดีในส่วนของ “สกุลธร” อยู่ในความดูแลของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ 20 เม.ย. 62 แต่จนป่านนี้ยังสรุปไม่ลง... ทั้งที่มีข้อมูลหลักฐานค่อนข้างชัดเจน คดีไม่ได้มีความซับซ้อน จึงเป็นคำถามที่คาใจสังคม ...และเกรงว่า จะซ้ำรอย “บอส อยู่วิทยา” ที่ตำรวจใช้แม่ไม้ “ยื้อเวลา” จนขาดอายุความไม่หลายคดี

จะว่าไป “ความโพล้เพล้” ที่ว่ามิใช่มีแค่ทั้งสองคดีที่ว่านั้น เพราะถ้าหากย้อนกลับไปดูอีกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ก็จะพบว่า น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ กรณีสำนักนายกรัฐมนตรีได้ตีกลับบัญชีรายชื่อการโยกย้ายข้าราชการอัยการ 2 บัญชี คือ บัญชีแรกระดับผู้บริหาร รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจราชการอัยการ อธิบดี และรองอธิบดี, บัญชีสอง ระดับข้าราชการอัยการทั่วไป อัยการพิเศษฝ่าย รวมทั้งอัยการอาวุโส

โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือไปถึง “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด” เพื่อให้คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) พิจารณาทบทวนรายชื่อใหม่เนื่องจากมีรายชื่ออัยการ 2 คน ที่มีปัญหาถูกสอบสวน คือ “นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส และ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี” ที่ถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ

การตีกลับรายชื่อมีผลกระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการทั้งระบบ และ ก.อ.จะมีการนัดประชุมหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 26 ม.ค. 2564 นี้

แน่นอนว่า การตีกลับดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะในช่วงตลอดการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดกว่า 125 ปี ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น และมีคำถามว่าใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ด้วยเป็นมติแต่งตั้งทั้งๆ ที่ทั้งสองคนมีคดีความติดตัว โดยในส่วนของนายเนตร นาคสุข ถูกคณะกรรมการ ก.อ. ตั้งคณะกรรมการสอบการใช้ดุลพินิจของนายเนตร กรณีสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธอยู่วิทยา หรือ บอส ฐานขับรถประมาทอันเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นถึงเก่ความตาย

ส่วน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ถูกกล่าวหาในคดีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ

แต่คณะกรรมการ กอ.กลับอ้างระเบียบว่า สามารถแต่งตั้งได้เพราะผลสอบยังไม่ถึงที่สุด

ที่ต้องไม่ลืมก็คือ กระบวนการแต่งตั้งดังกล่าวคือ สำนักนายกรัฐมนตรีคือหน่วยงานที่จะต้องนำรายชื่อของทั้งสองคนขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีตีกลับและส่งเรื่องให้ทบทวน ย่อมสะท้อนนัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 ได้มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีก 1 เรื่อง ส่งถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีเนื้อหาสรุปว่า “ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมผลการพิจารณากรณีนายเนตร นาคสุข สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในคดีขับรถยนต์ชนข้าราชการตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป จึงขอทราบว่ามีการพิจารณาสอบสวนความผิดทางวินัยเป็นที่ยุติชัดเจนแล้วหรือไม่ประการใด

“ สำนักงานเลขาธิการฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงานองคมนตรีว่า มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสาธารณะกรณีนายเนตร ผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งอัยการอาวุโสอยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และนายปรเมศวร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้นและอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีขับรถยนต์ในขณะมึนเมา เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จึงขอให้ยืนยันความถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งข้อมูลซึ่งเหตุผลใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำความกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป ในการนี้ ขอได้โปรดแจ้งข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมผลการพิจารณาที่เกี่ยวข้องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อแจ้งสำนักงานองคมนตรีใช้เป็นข้อมูลในการนำความกราบบังคมทูลต่อไป”


ดังนั้น สิ่งที่ดังก้องในสังคมไทยขณะนี้ก็คือ ถึงเวลาที่จะ “ปฏิรูปอัยการ” ได้หรือยัง? เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานนี้ดำรงตนเป็น “รัฐอิสระ” และการทำงานหลายต่อหลายเรื่องก็ก่อให้เกิดข้อครหาซึ่งไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างแจ้งได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความศรัทธาและความน่าเชื่อสำหรับประชาชนได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น