xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางการต่อสู้และความขัดแย้งของกลุ่มพลังทางการเมืองในสังคมไทย (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ทำลายประชาธิปไตย ขณะที่ศาสตราธิปไตยเติบโต ส่งผลให้สังคมไทยสูญเสียความสมดุลของอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ อย่างรุนแรง ความขัดแย้งรอบใหม่ก่อตัวขึ้นมาและขยายขอบเขตครอบคลุมทั่วทุกปริมณฑลของสังคมไทย กลุ่มและองค์การทางการเมืองแทบทุกกลุ่มถูกผนวกเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งในรอบใหม่นี้โดยปราศจากข้อยกเว้นดังในอดีต


อำนาจการเมืองถูกดูดและรวมศูนย์อยู่ที่กองทัพและบรรดาเครือข่ายนายพลทั้งหลายที่เป็นแกนนำคณะรัฐประหาร นักการเมือง ข้าราชการ และนักพัฒนาเอกชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเชิงจารีตยกขบวนขึ้นสู่อำนาจรัฐ เข้าดำรงตำแหน่งทั้งในคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กลุ่มทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของนายพลนักรัฐประหารและได้รับการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองและผลประโยชน์กันถ้วนหน้า


ภาคประชาชนถูกกีดกันและบั่นทอนการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองถูกจำกัด นักต่อสู้และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านคณะรัฐประหารถูกจับดำเนินคดีและบางส่วนถูกลอบทำร้าย เศรษฐกิจถดถอย ความเหลื่อมล้ำขยายตัว หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นานาอารยะประเทศหมางเมินลดความสัมพันธ์ ประชาชนฝันสลาย อนาคตมืดมน จมอยู่ในวัฏจักรของความทุกข์ยาก

แม้ว่าคณะรัฐประหารต้องการธำรงอำนาจแห่งศาสตราธิปไตยและระบอบเผด็จการทหารให้ยาวนานที่สุด แต่ด้วยบริบททางสังคมการเมืองในศตวรรษที่ ๒๑ พวกเขามิอาจแสดงเป้าประสงค์ออกอย่างเปิดเผยได้ พิธีกรรมทางการเมืองว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงปรากฎขึ้นมา

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกได้รับการจัดตั้ง แต่ดูเหมือนว่าผู้ร่างคณะนี้ไม่อาจตอบสนองความต้องการในการสืบทอดอำนาจของคณะรับประหารได้ ในทางกลับกันคณะผู้ร่างพยายามบัญญัติเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีกรอบคิดเพื่อสร้างความสมดุลอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น และมีการเพิ่มอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของฝ่ายอำนาจรัฐมากขึ้น ซึ่งมีทิศทางตรงข้ามกับเป้าประสงค์ของคณะรัฐประหาร ปฏิบัติการล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยเครือข่ายอำนาจของคณะรัฐประหารในสภานิติบัญญัติจึงเกิดขึ้น และพวกเขาประสบความสำเร็จ

จากนั้นคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สองขึ้นมา ภายใต้การนำของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ คณะกรรมชุดนี้ตอบสนองบัญชาและความต้องการของคณะรัฐประหารได้ดียิ่ง พวกเขาบัญญติให้มีบทเฉพาะกาลที่รองรับการใช้อำนาจรัฐประหารและรองรับการสืบทอดอำนาจโดยให้คณะรัฐประหารแต่งตั้งวุฒิสมาชิกและให้อำนาจวุฒิสมาชิกในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การกระจายอำนาจ และสิทธิของประชาชนถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้มาก

เมื่อร่างเสร็จคณะรัฐประหารได้สร้างพิธีกรรมการลงประชามติ ในปี ๒๕๖๐ เพื่อให้เพิ่มความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ ทว่า พิธีกรรมการลงประชามติ ซึ่งเป็นกระบวนการลงประชามติแบบจอมปลอมซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของการลงประชามติโดยเฉพาะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ กลับยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีมลทินและมัวหมองยิ่งขึ้น

และยิ่งกว่านั้นคณะรัฐประหารยังใช้กลอุบายการเพื่อให้การสืบทอดอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยการเพิ่มอำนาจวุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยการตั้งคำถามที่ใช้ประโยคแบบซ่อนเร้นซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจ และลงมติรับรองรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงทั้งที่ปราศจากความรู้และความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขารับรอง


รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ผ่านการรับการรับรองด้วยเสียงส่วนใหญ่ ทว่าได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งเอาไว้ด้วย และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว แทนที่คณะรัฐประหารจะใช้เนื้อหาสาระตามนั้นทั้งฉบับ กลับปรากฎว่าบางมาตรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายอำนาจทางการเมืองที่เป็นทางการของพลังจารีตนิยม การกระทำเช่นนั้นเท่ากับว่าคณะรัฐประหารดำเนินการโดยไม่เคารพมติมหาชน เป็นการใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน และยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมลดลง และกลายมาเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภายหลัง

แม้อยู่ภายใต้บริบทของระบอบศาสตราธิปไตย แต่พลังคนรุ่นใหม่ก่อตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายปริมณฑลทางสังคมการเมือง พวกเขามีส่วนผสมของกลุ่มหลากหลายกลุ่มและมีความหลากหลายของอุดมการณ์การเมือง อันได้แก่ อุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่ สังคมสวัสดิการนิยม พหุวัฒนธรรมนิยม สตรีนิยม และนิเวศนิยม แต่มีจุดร่วมคือการสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองและการต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมจารีตนิยมแบบไทย ๆ

การเลือกตั้ง ๒๕๖๒ เป็นเวทีการปรากฎตัวออกมาอย่างชัดเจนในอาณาบริเวณการเมืองที่เป็นทางการของคนรุ่นใหม่ พวกเขาส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับคณะรัฐประหารและพลังอนุรักษ์นิยมจารีต การเกิดขึ้นและพัฒนาของ พรรคอนาคตใหม่ ทำให้พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตเกิดความหวาดวิตก หวั่นเกรงว่าพรรคนี้จะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งและครอบครองอำนาจรัฐ พวกเขาจึงวางแผน กำหนดเป้าหมายและยุทธวิธีเพื่อบั่นทอนและสลายพลังนี้ให้อ่อนตัวลงในเวทีการเมืองที่เป็นทางการ

แม้ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตประสบความล้มเหลวในการสกัดกั้นชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ แต่พวกเขาประสบสำเร็จในการบั่นทอนจำนวนที่นั่งให้ลดลงด้วยเทคนิคการคิดคะแนนแบบพิสดารของคณะกรรมการเลือกตั้ง จนทำให้คะแนนเสียงในภาพรวมของฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับคณะรัฐประหารมีน้อยกว่าฝ่ายที่สนับสนุนแกนนำคณะรัฐประหาร

ต่อมาฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตก็ใช้เครือข่ายการเมืองที่ไม่เป็นทางการและจักรกลการเมืองที่เป็นทางการเป็นเครื่องมือในการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพวกเขาประสบความสำเร็จนั่นคือพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและแกนนำของพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง

แม้พรรคการเมืองที่เป็นเสมือนตัวแทนความคิดและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ถูกบั่นทอนสลายพลัง แต่กระแสความคิดและความเชื่อของพวกเขามิได้จางหายไปแต่อย่างใด หากแต่มีการสะสม ขยายตัวและทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง กระแสการปฏิเสธพลังจารีตแบบดั้งเดิมขยายตัวออกไปในวงกว้างมากขึ้น และในที่สุดพลังคนรุ่นใหม่ก็ได้เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวทีสาธารณะอย่างเปิดเผยในปลายปี ๒๕๖๒

เงื่อนไขหลักที่ทำให้กระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ปรากฏและขยายตัวประกอบด้วย ประการแรก คณะรัฐประหารมักใช้สถาบันเป็นแหล่งสร้างความชอบธรรม ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงเกิดการรับรู้เข้าใจแบบเชื่อมโยงขึ้นมา ดังนั้นเมื่อคณะรัฐประหารตัดสินใจทางการเมืองหรือใช้กฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็ถูกตีความว่ามีความเชื่อมโยงและได้รับการรับรอง ในแง่นี้การกระทำของคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารจึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประการที่สอง กลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รับเอากระแสความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยมาเป็นอุดมการณ์หลักโดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และการไม่ยอมรับสถานะแห่งการเป็นอภิสิทธิ์ชนของกลุ่มชนชั้นนำ พวกเขามีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อภิสิทธิ์อย่างเข้มข้นและกระจายในวงกว้าง

ประการที่สาม มีการขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย รวมเร็ว และกว้างขวาง มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหลายอย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถรับรู้วิถีการใช้ชีวิตและการใช้อำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งบางเรื่อง เมื่อคนรุ่นใหม่เห็นและตีความแล้วอาจทำให้พวกเขามีคำถามหรือไม่ยอมรับและนำไปสู่การลดลงความเชื่อถือศรัทธา

ประการที่สี่ มีการขยายอำนาจของพลังจารีตในอาณาบริเวณทางการเมือง การบริหารราชการ และเศรษฐกิจ โดยใช้กลไกที่เป็นทางการอย่างรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งกลไกที่ไม่เป็นทางการประเภทอื่น ๆ อีกด้วย การดำเนินการเช่นนั้นทำให้สภาพของการอยู่เหนือการเมืองดังที่สาธารณะเคยรับรู้ในอดีตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ประการที่ห้า ความต้องการให้สถาบันจารีตมีบรรทัดฐานและแบบแผนการปฏิบัติที่สอดคล้องกับสถาบันจารีตในสากล โดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงและมีการเมืองแบบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรอบนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายพลังอนุรักษ์นิยมจารีตแบบสุดขั้ว กับ เครือข่ายพลังเสรีนิยมสมัยใหม่ เครือข่ายอนุรักษ์นิยมจารีตต้องการรื้อฟื้นระบอบการเมืองแบบเผด็จการ หรือหากทำเช่นนั้นไม่ได้ เป้าหมายระดับรองของพวกเขาคือยอมให้มีระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำสามารถกุมสภาพอำนาจทางการเมืองไว้ในเครือข่ายของพวกตนเอง เพื่อธำรงรักษาสภาพความเป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือประชาชนให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวอย่างของกลุ่มเหล่านี้ เช่น อดีตแกนนำคณะรัฐประหาร นายพลและข้าราชการระดับสูง นายทุนผูกขาดขนาดยักษ์ นักการเมืองฉวยโอกาส นักการเมืองแบบเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และแกนนำมวลชนอนุรักษ์นิยม เป็นต้น

ขณะที่เครือข่ายพลังเสรีนิยมสมัยใหม่ต้องการระบอบประชาธิปไตยแบบสากล ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองและสังคมและขยายสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนอย่างทั่วหน้า ตัวอย่างของกลุ่มนี้ เช่น กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการรุ่นใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ นักธุรกิจระดับกลางและขนาดย่อย และภาคประชาสังคมบางส่วน เป็นต้น

การต่อสู้และความขัดแย้งของกลุ่มพลังทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไป ในระยะนี้ดูเหมือนว่าเครือข่ายอนุรักษ์นิยมจารีตอยู่ในสถานะได้เปรียบ เพราะพวกเขาสามารถควบคุมและใช้กลไกรัฐได้ในทุกระดับ การใช้อำนาจของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบปรามผู้ต่อต้านมากขึ้น ทั้งการใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างไม่สมเหตุสมผล การใช้อำนาจรัฐในทางลับและอิทธิพลเถื่อนหลายรูปแบบเพื่อคุกคาม ทำลาย และทำร้ายผู้ต่อต้าน แต่พวกเขามีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความชอบธรรมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการกระทำมากขึ้น ถูกวิจารณ์และล้อเลียนมากขึ้น และอัตราการไม่ยอมรับก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ด้านเครือข่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ระยะนี้ดูเหมือนตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ตัวบ่งชี้หลักคือการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และการอ่อนตัวลงของการชุมนุมบนท้องถนน ทว่าจุดแข็งที่สำคัญคือ การมีอุดมการณ์สอดคล้องกับกระแสความคิดของยุคสมัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑ การมีเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับจากสากลซึ่งทำให้มีความชอบธรรมสูง และการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยง กระจายความคิด และนัดหมายการเคลื่อนไหวทางการเมือง


การต่อสู้ของพลังทางการเมืองมีพลวัตและพัฒนาการต่อไป จวบจนเข้าสู่ภาวะดุลยภาพใหม่อีกครั้ง แต่ดุลยภาพใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร และต้องเผชิญกับความรุนแรงและการสูญเสียมากน้อยเพียงใด คำตอบหลักอยู่ที่การตัดสินใจของฝ่ายที่ควบคุมอำนาจรัฐว่าจะแสดงบทบาทอย่างไร หากแสดงบทบาทในฐานะผู้ปกป้องสถานภาพเดิมและต่อต้านการปฏิรูป ภาวะขาดดุลยภาพก็จะยืดเยื้อยาวนาน โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงและความเสียหายแก่ประเทศก็มีสูง แต่หากแสดงบทบาทในฐานะยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนการปฏิรูป ดุลยภาพใหม่ก็จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ความรุนแรงและความเสียหายแก่ประเทศก็จะมีน้อย แต่จะเลือกแสดงบทบาทแบบใด ลองไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณเถิด


กำลังโหลดความคิดเห็น