xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ใครชักปากให้พูด ตัวเลขสุดเวอร์ แบน 3 สารพิษ ภาคเกษตรเสียหาย 8.2 แสนล้าน เสียค่าแรงถางหญ้าปีละ 1.2 ล้านล้าน

ต้องชื่นชม "คณะกรรมการควบคุมวัตถุอันตราย" ที่แสดงความกล้าหาญ ลงมติห้ามใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิด คือ "พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต" มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 เป็นต้นไป ด้วยคะแนนเสียงที่ค่อนข้างจะท่วมท้น ท่ามกลางตัวแทนเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง ที่คัดค้านการแบน 3 สารดังกล่าว ประมาณ 500 คน ไปรวมตัวกดดันรอบๆ ห้องประชุม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวานนี้(22ต.ค.)
เรียกได้ว่ามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้ ได้ใจคนรักสุขภาพ คนรักสิ่งแวดล้อม และบรรดาสายคลีนทั่วประเทศไปเต็มๆ
แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า... ทำไมจึงยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านการแบนสารพิษ 3 ชนิดนี้ ทั้งๆ ที่สภาเกษตรแห่งชาติ องค์กรของภาคเกษตรตัวจริง เสียงจริงได้แสดงจุดยืนและเรียกร้องให้"แบน" มาหลายครั้งแล้ว
ภายหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติแบน 3 สารพิษดังกล่าว "สุกรรณ์ สังข์วรรณะ" เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ที่ไปร่วมติดตามการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงผลเสียที่จะเกิดตามมาอย่างมหาศาล จากการแบน 3 สารพิษนี้
"สุกรรณ์" ซึ่งอ้างเป็นตัวแทนเกษตรกร 5 ล้านครอบครัว บอกว่า ความเสียหายในแง่รายได้เกษตรกร จะสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ...มูลค่าการส่งออกเสียหาย 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วจะต้องสูญเสียกว่า 8.2 แสนล้านบาท ...ตัวเลขความเสียหายนี้จะน่าเชื่อถือหรือไม่ ในเมื่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2561 อยู่ที่ 7.44 แสนล้านเท่านั้น และไม่ใช่ว่าสินค้าเกษตรทุกชนิด ต้องพึ่งพาสารเคมี 3 ชนิด ดังกล่าว
นอกจากนี้ "สุกรรณ์" ยังอ้างว่า เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สิ่งทดแทนที่ไม่ใช่สารเคมี จึงขอให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชยค่าแรงงาน 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมหาแรงงานคนมาช่วยถอนหญ้า ... แถมยังประชดว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" มาถอนหญ้าให้เกษตรกร 60 ล้านไร่ ให้เสร็จภายใน 30 วัน รวมทั้งยกเลิกหนี้ ธ.ก.ส. เพื่อกู้เงินใหม่มาซื้อเครื่องจักร
ตบท้าย "สุกรรณ์" ได้ประกาศให้ วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นวันกลียุคเกษตรกรรมไทย จารึกไว้ให้รุ่นลูกหลานรู้ไว้ถึงเกษตรกรรมไทยล่มสลาย ด้วยระบบการบริหารเอื้อนายทุนสารเคมีกลุ่มใหม่ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมือง กับ NGO
ก็ไม่รู้ว่า"สุกรรณ์"พูดออกมาเอง หรือใครเขียนสคริปต์ให้พูดกันแน่ !!
แต่เมื่อสืบเปิดประวัติย้อนหลัง ก็น่าเสียดาย ที่"สุกรรณ์ สังข์วรรณะ" เคยเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับคนสุพรรณบุรี ที่ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยเท้าพ่อ ทำศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เป็นต้นแบบให้เกษตรกรทั่วไป มีรางวัลหมอดินอาสาดีเด่น ระดับประเทศประจำปี 2558 เป็นเครื่องการันตี
แต่พอ"สุกรรณ์" มาเป็นเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ก็กลายพันธุ์ กลับลำ สนับสนุนการใช้สารเคมี 3 ชนิด แบบสุดลิ่มทิ่มประตู
ข้อสงสัยว่า"สุกรรณ์" มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่นั้น "มูลนิธิชีววิถี" หรือ BIOTHAI เคยตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของ“สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย'” ว่าเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น หลังจากมีข้อเสนอให้มีการแบนสารเคมี 3 ชนิดนี่เอง
โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฏตัว และทำกิจกรรมร่วมกับ “สมาคมอารักขาพืช”ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รายใหญ่ในประเทศไทย
"ไบโอไทย" ยังระบุอีกว่า สมาพันธ์ฯนี้ เคยเผยแพร่ข้อมูลเท็จ โดยอ้างเอกสารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่า การแบนพาราควอต จะส่งผลให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 70,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีเอกสารหรืองานวิจัยที่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวแต่ประการใด...
ในจดหมายเปิดผนึกของสมาพันธ์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2560 "สุกรรณ์" ได้ยอมรับว่า "จากการกล่าวอ้างว่าสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย FSA มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีภาคการเกษตรนั้น ทางเราไม่ปฏิเสธ"
"ไบโอไทย" ยังระบุว่า ในประเทศที่มีการแบนพาราควอต จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากการขายสารพิษนี้ในหลายรูปแบบ ... ในรายงานของ Center for Food Safety เรื่อง Best Public Relations that Money Can Buy: A guide to food industry front groups ได้เปิดเผยกลอุบาย 4 ประการ ที่บ่งบอกว่ามีการจัดตั้งองค์กรเกษตรบังหน้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์บรรษัท คือ
1. ตั้งกลุ่มหรือองค์กรที่อ้างว่าเป็นเกษตรกรรากหญ้าไม่มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรอย่างชัดเจน แต่กลับประชุมและร่วมแถลงข่าวกับบรรษัทข้ามชาติอยู่เนืองๆ
2. สร้างวาทกรรมบิดเบือน เช่น ผู้เสนอแบนพาราควอต เป็นพวกต้านสารเคมีทุกชนิด รับเงินต่างชาติ เป็นเหยื่อพวก NGOs
3. จ่ายเงินให้วิจัย จ้างผู้เชี่ยวชาญให้พูดแทน แต่ล้มเหลวในการเปิดเผยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
4. สร้างความตระหนกบอกว่าเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจร้ายแรง เกษตรกรล่มสลาย โดยการปั้นข้อมูลเท็จ
ส่วนในประเทศไทยหากจะตัดสินใจว่า กลุ่มใดที่เป็นองค์กรบังหน้าอ้างว่าเคลื่อนไหวเพื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ แต่แท้จริงปกป้องผลกำไรของบรรษัท ก็อาจตรวจสอบได้จากพฤติกรรมทั้ง 4 ข้อดังกล่าว

** เบรก”พ่อฟ้า" นั่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63 หวั่นเป็นกับดักของอนาคตใหม่ จะทำให้มีการร้องเรียนจน พ.ร.บ.งบฯ โมฆะ

หลังจาก "พ่อฟ้า" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เป็นการชั่วคราว จนกว่าการพิจารณาเรื่องถือหุ้นสื่อฯ จะได้ข้อยุติ... "พ่อฟ้า" ก็ได้แต่ปฏิบัติหน้าที่เป็น "ส.ส.นอกสภาฯ" มาหลายเดือน...
จนกระทั่ง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 ผ่านวาระ 1 ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก่อนนำเข้าสู่สภาฯเพื่อพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป... ทางพรรคอนาคตใหม่ จึงได้โอกาสเสนอชื่อ "ธนาธร" ให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ในฐานะ "คนนอก" หวังให้หัวหน้าพรรค ได้มีโอกาสเข้าสภาฯ ไปมีบทบาทในการจัดทำงบประมาณ ... แม้จะไม่ใช่ห้องประชุมใหญ่ แต่เป็นห้องประชุมกรรมาธิการฯ ก็ยังดี...
แต่แล้ว"ทศพล เพ็งส้ม" ที่ปรึกษารองประธานสภาฯ คนที่1 (สุชาติ ตันเจริญ) ก็ออกมาเบรกว่า "พ่อฟ้า" คงจะเข้ามานั่งเป็นกรรมาธิการฯไม่ได้ เพราะส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ที่ระบุว่า... สภาฯ มีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็นส.ส. หรือมิได้เป็นส.ส. ตั้งเป็นกรรมาธิการฯ เพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาฯทราบ ตามระยะเวลาที่กําหนด...
เพราะถ้าจะเข้าไปใน "ฐานะส.ส." ก็เข้าไม่ได้อยู่แล้ว เพราะขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ... แต่ถ้าจะเข้าไปในฐานะ "คนนอก" ที่ไม่ใช่ ส.ส. ก็ไม่ได้อีก เพราะเขายังมีฐานะเป็นส.ส.อยู่ เนื่องจากศาลฯ ยังไม่ได้ตัดสินให้สิ้นสมาชิกภาพ...จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงหากจะให้ "พ่อฟ้า" เข้าร่วมประชุม เพราะถ้า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯผ่านสภา วาระ2 วาระ 3 ไปแล้ว เกิดมีผู้ไปร้องว่า ตั้งกรรมาธิการขัดรัฐธรรมนูญ ก็สุ่มเสี่ยงที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯอาจเป็นโมฆะได้ ...ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ คราวนี้ก็ไม่รู้ว่าถึงเดือนไหน กว่าจะได้ใช้งบประมาณ เพราะเท่าที่เป็นอยู่นี้ก็ช้าไปมากแล้ว
จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าเป็น "กับดัก" ที่พรรคอนาคตใหม่ ตั้งใจวางไว้หรือไม่ !!
ตามกำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเริ่มนัดแรกในวันที่ 24 ต.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะยังเริ่มประชุมเพื่อเข้าวาระไม่ได้ เพราะจะต้องมีสมาชิกหยิบยกเรื่อง "คุณสมบัติของพ่อฟ้า" มาหารือให้ได้ข้อยุติก่อน ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเชื่อได้ว่าความเห็นจะแตกเป็นสองทางจนไม่ได้ข้อยุติ ...ครั้น
จะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องถือหุ้นสื่อฯเสียก่อน ก็ต้องรอไปถึงวันที่ 20 พ.ย. กว่าจะรู้ผล...
ปมปัญหานี้ "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 24ต.ค.นี้ จะไปยื่นคำร้อง เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ตรวจสอบ และในช่วงบ่าย จะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความคุณสมบัติของ "ธนาธร" ที่จะร่วมเป็น กมธ.วิสามัญ ว่าสามารถทำได้หรือไม่...
ความจริงถ้า"พ่อฟ้า" อยากเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณฯ ในฐานะ"คนนอก" เพื่อจะได้เดินเข้าสภาฯ ... ก็แค่ยื่นลาออกจาก ส.ส. ปัญหาก็จบ ไม่ต้องรอยื่นตีความให้เสียเวลา

----------
รูป - ม็อบเกษตรกรคัดค้านการแบน 3 สารพิษ - สุกรรณ์ สังข์วรรณะ
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ทศพล เพ็งส้ม - สิระ เจนจาคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น