xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสียงปริ่มน้ำ+งูเห่า เรือเหล็กเอาอยู่  ศึกซักฟอกงบ63 แค่เรื่องชิลชิลชิมิ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกมในสภาว่าด้วย “การอภิปรายงบประมาณ” วัดความมั่นคงแข็งแรงของเรือเหล็กเสียงปริ่มน้ำว่าจะเอาอยู่หรือไม่ กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่ช้า โดยท่านประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย กำหนดวันอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 วาระแรก 17-18 ตุลาคมนี้ แต่เผื่อต่อเวลาให้ถึง 19 ตุลาคม อีกวัน

 เวลานี้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงอุ่นเครื่องร่วมกันขย่ม ตัดไม้ข่มนาม ทำสงครามจิตวิทยากันรายวัน ฝ่ายรัฐบาลนอกจากจะต้อน ส.ส.ในสังกัดเข้าคอกกำชับให้ยกมือพึ่บพั่บเป็นสภาฝักถั่ว เพราะถ้างบไม่ผ่านมีสิทธิ์พัง ยังต้องจัดหา “กองทัพงูเห่า” เอาไว้สำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดยามฉุกเฉิน

หากถามถึงความกังวลว่า ถ้าหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่านสภาฯ จะมีผลอย่างไรกับความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามีอยู่แล้วว่าอะไรก็ตามที่สภาฯ เสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงจะอยู่ต่อไป การไม่ไว้วางใจนั้นแสดงออกได้ 2 อย่าง คือ 1.ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย ตรงนี้ทำโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ 2.ไม่ไว้วางใจโดยปริยาย จะแสดงออกจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ แล้วสภาฯลงมติให้ไม่ผ่าน ซึ่งก็แปลว่าสภาฯไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรจะอยู่

แต่วิธีที่จะไม่อยู่นั้น สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ 1.ทำโดยรัฐบาลลาออก 2.ทำโดยออกด้วยกันทั้งคู่คือยุบสภา โดยในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ลาออกเพราะสภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมาย แต่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ลาออกแม้สภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมาย เพราะถือว่าไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่สำหรับกฎหมายงบประมาณนั้นถือเป็นกฎหมายสำคัญ

แต่เชื่อเถอะ ยังไงๆ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ต้องผ่านสภาจนได้ เพราะนี่เป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายค้านเล่นเกมถล่มหนักขวางเสียจนต้องเข้าสู่โหมดยุบสภา-ลาออก เกิดภาวะชะงักงันทำให้เสียเวลาเสียโอกาสพัฒนาบ้านเมือง ฝ่ายค้านเองก็จะเสียคะแนนนิยม ตอบคำถามประชาชนไม่ได้ทำไมไปขวางไม่ให้เงินลงมาสู่มือชาวบ้าน

 ยิ่งตอนนี้พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล จัดทัพใหม่พร้อมวางยุทธศาสตร์ใหม่แบบแน่นปึ๊กอยู่ยาวๆ ด้วยแล้ว ศึกอภิปรายงบประมาณคงไม่ทำให้รัฐบาลสั่นไหวได้ ส่วนใครจะรอดูรอยรูรั่วของเรือเหล็กคงอาจจะผิดหวังตั้งแต่ไก่โห่
        
    ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วาระที่ 1 ในวันที่ 17 ตุลาคมที่ทำสภาคึกคักกันหนักมากในขณะนี้เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่การจัดทำแผนงบประมาณแผ่นดินจะเข้าสู่การพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยก่อนนี้ในช่วงรัฐบาล คสช. แผนงบประมาณฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หนึ่งในแม่น้ำห้าสายใต้ร่มเงาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แทบไม่มีความเห็นต่างแต่อย่างใด

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่ 2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% แบ่งเป็นรายจ่ายงบประมาณประจำอยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.19 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 100% รายจ่ายเพื่อการลงทุนวงเงิน 6.55 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 6,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% รายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 8.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14%

ส่วนประมาณการรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 2.731 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.81 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.1% เป็นงบประมาณขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2%

หากดูลงไปถึงรายละเอียดงบประมาณแต่ละหน่วยงาน พบว่า 5 อันดับ ที่มีการจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงสุด จากปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย 1.กระทรวงมหาดไทย ปรับเพิ่มขึ้น 25,264 ล้านบาท จาก 327,742 ล้านบาท 2.กระทรวงแรงงาน ปรับเพิ่มขึ้น 8,284 ล้านบาท จากเดิม 52,954 ล้านบาท 

3.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับเพิ่มขึ้น 7,936 ล้านบาท จากเดิม 13,341 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มขึ้น 6,728 ล้านบาท จากเดิม 242,948 ล้านบาท และ 5.กระทรวงกลาโหม ปรับเพิ่มขึ้น 6,226 ล้านบาท จากเดิม 227,126 ล้านบาท

นั่นเป็นตัวเลขที่หน่วยงานต่างๆ เสนอขึ้นไปและเข้าสู่กระบวนการพิจารณางบประมาณ ส่วนจะยืนตัวเลขตามนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะมีทั้งหมด 63 คน เป็นสัดส่วนของ ครม. 15 คน, ส.ส.ฝ่ายค้าน 24 คน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 24 คน จะพิจารณาปรับลด ก่อนจะนำเข้าสู่สภาฯ ยกมือให้ผ่าน-ไม่ผ่าน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า หน่วยราชการต่างๆ ส่งคำของบประมาณรวมทั้งสิ้น 5.1 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท หากแยกเป็นงบประมาณด้านยุทธศาสตร์ 7 ด้าน จะเป็นดังนี้ 1.ด้านความมั่นคง 428,219 ล้านบาท 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 380,418 ล้านบาท 3.ด้านการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ 570,528 ล้านบาท
 
4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 766,269 ล้านบาท 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,576 ล้านบาท 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบ การบริหารจัดการภาครัฐ 504,657 ล้านบาท และ 7.ด้านการค่าดำเนินการภาครัฐ 431,336 ล้านบาท
 
ตรวจเช็กความพร้อมของฝ่ายค้านในศึกครั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า ได้เวลาอภิปราย 3 วัน ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม รวมทั้งสิ้น 40 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลได้เวลา 20 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 20 ชั่วโมง ซึ่งต้องนำมาเฉลี่ยใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งวันที่ 15-16 ตุลาคมนี้ พรรคเพื่อไทย จะประชุมติวเข้มเตรียมความพร้อมกันอีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะโฟกัสไปที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

แต่เท่าที่ดูภาพรวมเบื้องต้น นายสุทิน เห็นว่า ประมาณการรายรับคลาดเคลื่อนไปเยอะ งบความมั่นคงเยอะกว่างบแก้ไขปัญหาปากท้อง เมื่อดูในเนื้อหายังพบว่ามีการจัดงบประมาณแบบใหม่ งบบูรณการจัดงบโดยไม่มีรายละเอียดจำนวนมาก เช่น นำไปลงไว้ว่าเป็นการวิจัย เป็นงบกองทุน ซึ่งดูแล้วเห็นพิรุธหลายอย่าง

ส่วนเรื่องที่สังคมต่างจับตา ส.ส.เพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะมีใครกลายร่างเป็น “งูเห่า” หรือไม่ นายสุทินก็ว่า ถ้าใครออกนอกลู่ไปก็คงจะเจอสังคมตรวจสอบ ถ้า ส.ส.คนไหนโหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อกลับไปพื้นที่ก็ต้องเตรียมตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ด้วย

รอดูกันต่อไปว่า พลังประชารัฐ เลี้ยงงูเห่าเอาไว้เยอะแค่ไหน แต่ที่สำคัญที่สุด คือต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่างบประมาณรายจ่ายที่จัดสรรกัน 3.2 ล้านล้านนั้น จะถึงมือพี่น้องประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น