xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ15ต.ค.เซ็นรถไฟ3สนามบิน “ถาวร”สั่ง“บินไทย”รื้อแผนฟื้นฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“อนุทิน” ยันไม่คิดหัก CPH แต่เดินหน้า รถไฟ 3 สนามบิน ยัน เพื่อประโยชน์ชาติ มั่นใจ 15 ต.ค.นี้ เอกชนมาเซ็นเดินหน้าโครงการแน่ เพราะหากไม่มา เจอแบล็กลิสต์ ได้ไม่คุ้มเสีย “ถาวร”นัด”เอกนิติ-สุเมธ ”ถกทำแผนฟื้นฟูการบินไทยใหม่ 10 ต.ค. ชี้แผนเดิมแก้ขาดทุนไม่ได้จริง กังวลปีนี้ ขาดทุนอาจแตะหมื่นล้าน ชี้องค์กรวิกฤติ ปลุกประธานบอร์ด ต้องตื่นตัวในการแก้ปัญหามากกว่านี้ ยันไม่ค้านจัดหาเครื่องบินใหม่ แต่ตอบคำถามไม่ได้เอง

วานนี้ (3 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกำหนดให้ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ที่ชนะการประมูลต้องมาเซ็นรับงาน ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ว่า ขณะนี้มีความพยายามสื่อสารว่า ตนหักกับกลุ่ม CPH แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขอให้เข้าใจว่า ในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ มีความจำเป็นต้องทำงาน และกลุ่ม CPH ก็ชนะการประมูลจะครบปีแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้ากันเสียที ทั้งนี้ เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่ง ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่า ภาครัฐเองยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้

“การที่เราออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบไปหมด ที่ดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงานเป็นการทำเพื่อชาติ เพราะถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่จะไปลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่จะมาลงทุนในโครงการ EEC โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที เราทำเพราะว่าเรามองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน ทางเอกชนจะได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ได้ งานจะได้เดินหน้าเสียที ยิ่งกว่านั้น กรอบการยืนราคาไปถึงแค่วันที่ 7 พ.ย.นี้เท่านั้น” นายอนุทิน ระบุ

เชื่อ CPH ทำงานได้-15ต.ค.ได้เซ็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกลุ่ม CPH ต้องการให้รัฐส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้าง นายอนุทิน กล่าวว่า แต่ตามสัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐก็ทำได้ตามสัญญา ถ้าจะขอเพิ่มไปกว่านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ดูแลรับผิดชอบคงไม่ยอม ส่วนที่มีการบอกว่ากลุ่ม CPH กำลังหาแหล่งทุนนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าทางผู้ชนะการประมูลแค่ต้องการเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพ ฝ่ายเอกชนทำโครงการนี้ได้แน่นอน และขอยืนยันว่า ภาครัฐจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามบันทึกข้อตกลง (TOR)

"คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคมนี้ กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มาจะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้นมันหมายถึงว่า นอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ" นายอนุทิน กล่าว

สั่ง TG ทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่หมด

อีกด้าน นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีมติให้ฝ่ายบริหารกลับไปทบทวนโครงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาทใหม่ว่า หลังจากที่ตนได้นำแผนมาศึกษาและตั้งคำถามไป 6 ข้อ รวมถึงให้ทำแผนธุรกิจ 2 ช่วง กรณีหากแผนจัดหาเครื่องบินผ่าน คณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ แผนธุรกิจ ในช่วง 2 ปี ที่รอเครื่องบินใหม่ และ แผนธุรกิจหลังจากได้รับเครื่องบินใหม่ ซึ่งยังไม่มีคำตอบ ทั้งบอร์ดและผู้บริหารเกิดความไม่มั่นใจในแผนขึ้นมา จึงต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด

“ผมไม่ได้ขวางจัดหาเครื่องบินของการบินไทย แต่ต้องการความชัดเจนว่า จะนำเครื่องบินไปใช้ในเส้นทางไหน อย่างไร จัดหาแหล่งเงินทุนจากไหน จะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ เพื่อให้แข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ และเมื่อต้องปรับแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ แผนฟื้นฟูเดิมจึงไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายใต้โครงการ “มนตรา”อาจจะใช้ได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น” นายถาวร ระบุ

สะกิด “ประธานบอร์ด” ตื่นตัวแก้ปัญหา

นายถาวร เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ ได้นัด นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ด, นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) พร้อมผู้บริหารทุกสายงานร่วมประชุมแบบเพื่อทำแผนฟื้นฟูใหม่ เป้าหมายคือ ต้องเพิ่มรายได้ และลดการขาดทุน คาดว่าประมาณ 3 เดือนน่าจะชัดเจน โดยยังมีความกังวลว่าสิ้นปี 2562 อาจจะยังขาดทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท เพราะผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุนไปแล้ว 6 พันล้านบาท

“ต้องปรับแผนฟื้นฟูใหม่ เพราะแผนเดิมยังแก้ปัญหาขาดทุนไม่ได้ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารรับค่าจ้างเดือนละเป็นล้านต้องไปคิด ล่าสุดบอร์ดการบินไทยประเมินผลงานให้ ดีดี ผ่าน ตอนนี้ ก็คงไม่สามารถปลดหรือย้ายอะไรได้ ดังนั้นต้องจับมือลงเรือลำเดียวกัน ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาสายการบินแห่งชาติให้สามารถแข่งขันได้ หากผมเป็นดีดีเอง ผมจะทำและรับผิดชอบเอง ไม่ให้ขาดทุนอย่างไร แต่ละธุรกิจมีความแตกต่างต้องปรับตัวเองส่วนจะปรับลดคน เพิ่มคน อยู่ที่โครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ ซึ่งการบินไทยมีระบบและเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่แพ้ใคร ที่สำคัญอยู่ที่มีคนที่จะใช้เครื่องมือนั้นได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้บริหารและ พนักงานมีความตื่นตัวมากพอหรือยังในการแก้ไข ขอฝาก ประธานบอร์ดเอกนิติ ให้ตื่นตัวและทำงานหนักขึ้นกว่านี้” นายถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น