xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องหลังผลประโยชน์ของใคร ในการขวาง “กัญชา และ กระท่อม”? (ตอนที่ 1)/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การที่ภาคประชาสังคมจำนวนมากได้ตื่นตัวในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เกิดความตื่นกลัวที่หยิบยกสารพัดข้อมูลที่มาโจมตีการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายที่สนับสนุนกัญชาก็นำเสนอข้อมูลในเรื่องกรณีศึกษาของผู้ที่ได้ประโยชน์ในการใช้กัญชาจำนวนมาก ทั้งในโลกออนไลน์ ยูทูป เฟสบุ๊ค แม้หลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์และน่ายินดีที่มีผู้ป่วยได้รับประโยชน์เช่นนั้น ซึ่งก็มีอยู่จริง แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ปรากฏว่าผู้ป่วยดีขึ้นได้ด้วย “เงื่อนไขอื่น” ที่ไม่ได้ใช้กัญชาแต่เพียงอย่างเดียวก็ยังมีอีกมาก ในขณะเดียวกันฝ่ายที่สนับสนุนจำนวนไม่น้อยก็พยามหลีกเลี่ยงในการกล่าวถึงผลเสียของกัญชาในอีกด้านหนึ่งถ้ามีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ใช้เกินขนาด ใช้ต่อเนื่องนานเกินไป หรือไม่ควรใช้แต่ก็ยังใช้ ฯลฯ เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าสมุนไพรใดในโลกใบนี้จะมีประโยชน์เพียงใด แต่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมก็จะเกิดโทษได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสกัดสารสำคัญออกมาเข้มข้นด้วยเภสัชกรรมยุคใหม่ก็ย่อมมีผลข้างเคียงหรือผลเสียมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนอีกฝ่ายตรงกันข้ามที่โจมตีขัดขวางกัญชาด้วยอคติเหล่านั้นก็มุ่งเน้นไปในทิศทางที่นำเสนอเพียงมุมเดียวว่ากัญชายังไม่เป็นที่ยุติในงานวิจัยยุคใหม่ว่าเกิดประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือถึงแม้จะมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นมากขึ้น ก็จะยังกล่าวโจมตีว่ายังไม่ถือว่าเป็นงานวิจัยยุคใหม่ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และกล่าวโจมตีในกรณีการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง การใช้เกินขนาด ใช้ต่อเนื่องนานเกินไป หรือไม่ควรใช้แต่ก็ยังใช้ คนกลุ่มที่ใช้อคติตรงนี้สังเกตได้ง่ายเพียงประการเดียวคือไม่เคยพูดถึงสรรพคุณของกัญชาที่มีประโยชน์ต่อคนไข้จำนวนมากเลย และหลายคนก็เป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยาอีกด้วย

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ในสมัยพุทธกาลในขณะที่เรียนวิชาการแพทย์กับนายแพทย์ทิศศาปาโมกข์อยู่ 7 ปี ยังไม่สำเร็จการศึกษา นายแพทย์ทิศศาปาโมกข์ได้ให้โจทย์กับหมอชีวกโกมารภัจจ์ ให้เดินรอบเมืองตักกศิลา หากไม่พบอะไรที่ไม่ใช่ยาให้ขุดมา หมอชีวกโกมารภัจจ์เดินรอบเมืองไป 1 โยชน์ ไม่เห็นสิ่งใดที่ไม่สามารถทำเป็นยาได้สักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับ นายแพทย์ทิศศาปาโมกข์จึงกล่าวว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์สำเร็จการศึกษาแล้ว

วิชาการแพทย์แผนไทยซึ่งสืบทอดและได้นำความรู้จาก หมอชีวกโกมารภัจจ์ มาพัฒนาเป็นวิชาการแพทย์แผนไทยที่จะต้องรู้จักการใช้ “พืชทุกชนิด” เป็นยาได้ ด้วยการตรวจวิเคราะห์คนไข้ว่ามีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นลักษณะกำเริบ หย่อน พิการอย่างไรแล้ว จึงใช้รสยาและสรรพคุณทางยาของพืชมาปรุงเป็นตำรับเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ป่วย โดยลดผลเสียอันไม่พึงประสงค์ของพืชชนิดนั้นด้วยวิธีการกำหนดปริมาณยา ปรุงยาและการผสมเป็นตำรับยา

ดั้งนั้นจึงไม่ใช่แต่เพียงกัญชาอย่างเดียวเท่านั้นที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ความจริงแล้วสมุนไพรทุกชนิดก็มีทั้งประโยชน์และโทษทั้งสิ้น ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะใช้สมุนไพรชนิดนั้นให้เกิดแต่สรรพคุณหรือใช้แล้วจะเกิดโทษก็ขึ้นอยู่กับ “ปัญญา”

แต่หากมองในมุมผลประโยชน์แล้ว ยิ่งกัญชาหรือน้ำมันกัญชามีสรรพคุณขยายขอบเขตไปทดแทนยาเคมีนำเข้าจากต่างประเทศมากเท่าไหร่ การสูญเสียของธุรกิจยาและแพทย์ (บางคน)ผู้ได้รับผลประโยชน์ต่างๆจากบริษัทยาก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบไปด้วย จริงหรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่ากัญชาซึ่งเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ เหตุใดกัญชาจึงกลายเป็นยาเสพติดได้ทั้งๆที่เหล้าและบุหรี่สามารถซื้อขายได้ตามร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งยังก่อโทษและไม่ได้มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัญชา ในขณะที่กระท่อมซึ่งไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดให้โทษในเวทีระหว่างประเทศ เหตุใดประเทศไทยจึงประเทศเดียวในโลกที่ให้กระท่อมเป็นยาเสพติด ซึ่งน่าจะมีคำอธิบายอื่นมากกว่าเรื่องสุขภาพ จริงหรือไม่?

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ บทบาทสำคัญในการทำให้กัญชาเป็นยาเสพติดได้มาถึงทุกวันนี้ ก็คือประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการออกกฎหมายในการควบคุมกัญชาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2480 และส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษทั่วโลกในเวลาต่อมา

โดยเบื้องหลังอิทธิพลที่ทำให้กัญชากลายเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องควบคุมนั้นแท้ที่จริงเป็นปัญหาจากกัญชงซึ่งสามารถผลิตไฟเบอร์ได้ในราคาถูก ซึ่งถือว่าเป็นไฟเบอร์ชนิดแรกที่สามารถนำน้ำมันของพืชชนิดนี้มาผลิตเป็นพลาสติกจากพืชได้แทนปิโตรเลียม จึงย่อมกลายเป็นคู่แข่งของกลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนพลังงานที่มาจากปิโตรเลียม กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้นกลุ่มดูปองค์ (Dupont) ในสหรัฐอเมริกา ได้ผลิตอุตสาหกรรมกระดาษแก้ว (Cellophane) และผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ที่ทำจากปิโตรเลียมอีกหลายชนิด ดังนั้นการมีคู่แข่งอย่างกัญชงในขณะนั้นถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้เสียประโยชน์อีกด้วย

โดยก่อนหน้านั้น ค่ายรถยนต์ฟอร์ดได้เปิดตัวรถยนต์ชื่อ โมเดล ที.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2451 โดยใช้พลังงานจากการแปรรูปกัญชงเป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอิทธิพลของบริษัทน้ำมันนั้นไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเมืองในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

ดังนั้นพืชกัญชงในขณะนั้นจึงถูกมองเป็นพืชพลังงานในรูปของเอทานอล และกลายเป็นพืชที่มีศัตรูรอบด้านของหลายกลุ่มทุนในสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย

“สแตนดาร์ด ออยล์” เป็นธุรกิจน้ำมันของตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์ มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปรากฏว่าบริษัทในเครือของตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์เร่ิมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธืร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยปรับปรุงด้านการแพทย์และแพทย์ศาสตร์ศึกษาอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2458 (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) และมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาการแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทย

หลังจากนั้นอีก 10 ปี ก็ได้ปรากฏราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2468 (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) โดยกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ ผ่าน “กฎเสนาบดีเรื่องกันชา” ความว่า

“เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบด้วยคำแนะนำของอธิบดีกรมสาธารณสุขในข้อที่ให้เพิ่มชนิดยาเสพย์ติดให้โทษเข้าบาญชี ตามความในมาตรา ๔ และ ๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ นั้นแล้ว จึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ยาที่ปรุงด้วยกันชาก็ดี ยาผสมฤาของปรุงใดๆที่มีกันชาก็ดี กับยางกันชาแท้ฤาที่ได้ปรุงปนกับวัตถุใดๆเหล่านี้ ให้นับว่าเปนยาเสพย์ติดให้โทษทั้งสิ้น

กฎให้ไว้ณวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๘
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดี”


ความน่าสนใจในปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2468 ตรงกับปีที่สหรัฐอเมริกาได้ออกแรงสนับสนุนให้มีการควบคุม “กัญชา อินเดีย” ซึ่งมีความหมายรวมถึง “กันชา” และ “ยางกัญชา” ในเวทีการประชุมฝิ่นระหว่างประเทศด้วย

นอกจากนั้นแล้วจะเห็นได้ว่ากฎเสนาบดีของสยามที่กำหนดให้กันชาและยางกันชาเป็นยาเสพติดนั้น ยังครอบคลุมไปถึงการใช้เป็นยา ซึ่งมีการกล่าวถึงยางกันชาด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่ารูปแบบของน้ำมันกัญชาในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการปรุงเป็นยาในสมัยรัชกาลที่ 6 เลย

อย่างไรก็ตามภายหลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาประมาณ 3 ปี ได้ปรากฏมีราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2478 ประกาศ พระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. 2478 ขึ้น โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าจะมีการบัญญัติว่ากันชาเป็นอันตรายแก่ผู้สูบ

แต่พระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. 2478 ฉบับดังกล่าวนี้กลับไม่ได้เห็นความรุนแรงของกัญชาว่าต้องให้มีการยกเลิกในทันที แต่กลับให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านนานพอสมควร โดยมีการบัญญัติการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายได้ในบางจังหวัดแต่ไม่เกิน 2 ปีก็ดี หรือการที่เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครองพันธุ์กัญชาเอาไว้เพื่อประโยชน์ในการทดลองหรือโรคศิลปะก็ดี ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็ยังเล็งเห็นประโยชน์ของกัญชาว่าเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อยู่อย่างชัดเจน

จนกระทั่งวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดต้นฉบับภาษาอังกฤษ กับที่ได้มีการแปลมาเป็นภาษาไทยจึงแตกต่างกัน โดยเฉพาะสาระสำคัญที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการใช้ประโยชน์พืชเสพติด 3 ชนิด คือ ฝิ่น โคคา และกัญชา กล่าวคือ ในภาษาอังกฤษเขียนเอาไว้ในมาตรา 4 (ค) ในส่วนของข้อผูกพันทั่วไปจากภาษาอังกฤษที่กำหนดเอาไว้ว่า

“Article 4 General Obligations

The parties shall take such legislative and administrative measures as may be necessary:
(c) Subject to the provisions of this Convention, to limit exclusively to medical and scientific purposes the production, manufacture, export, import, distribution of, trade in use and posession on drugs”


ส่วนฉบับภาษาไทยกลับแปลว่า

“มาตรา 4 ข้อผูกพันทั่วไป

1. ภาคีทั้งหลายจะดำเนินการในทางนิติบัญญัติและการบริหารเท่าที่จำเป็นเพื่อที่จะ
(ค) จำกัดการผลิต การทำ การส่งออกและนำเข้า การแจกจ่าย การค้า การใช้ประโยชน์ และ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษต่างๆ ตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้”


ซึ่งหากจะแปลให้เป็นภาษาไทยอย่างถูกต้องก็ควรจะมีข้อความที่ “ตกหล่นหายไป” จากฉบับภาษาอังกฤษว่า “สำหรับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการทดลองทางวิทยาศสตร์” เข้าไปด้วยตามอนุสัญญาฉบับภาษาอังกฤษว่า

1. ภาคีทั้งหลายจะดำเนินการในทางนิติบัญญัติและการบริหารเท่าที่จำเป็นเพื่อที่จะ
(ค) จำกัดการผลิต การทำ การส่งออกและนำเข้า การแจกจ่าย การค้า การใช้ประโยชน์ และ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษต่างๆ สำหรับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้”


จนในที่สุดแล้ว “ฝิ่น” ได้ถูกห้ามใช้ในการแพทย์แผนไทยและกลายสภาพกลายเป็นมอร์ฟีนให้แพทย์แผนปัจจุบันได้ใช้แต่เพียงกลุ่มเดียว “กัญชา” แพทย์แผนไทยก็ห้ามใช้โดยอ้างว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันกลายเป็นสารแคนาบินอยด์ที่ให้แพทย์แผนปัจจุบันสามารถใช้ได้ ส่วน “กระท่อม”ไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดให้โทษในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) แต่ประเทศไทยเพิกถอนตำรับยาที่มีทั้งฝิ่น กัญชา และกระท่อมออกทั้งหมด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากัญชาในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 นั้นสามารถมีเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้มาตั้งนานแล้ว ไม่เคยมีใครขัดขวางห้ามนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย และในความจริงแล้วแต่ละประเทศก็มีกฎหมายการแพทย์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกฎหมายสำหรับวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านของไทย ดังนั้นไม่เคยมีใครห้ามใช้กัญชาในทางการแพทย์ นอกจาก “คนไทยห้ามกันเอง”

หลังจากประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 แล้ว หลังจากนั้นอีก 4 ปี ประเทศไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ฝิ่น กัญชา กระท่อม และรวมถึงเห็ดขี้ควาย เป็นยาเสพติดให้โทษทั้งสิ้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งฝิ่น กัญชา และกระท่อม ต่างมีสรรพคุณในการลดอาการปวดที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากยาต่างประเทศเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ ประสิทธิภาพ ระเบียบวิธีการวิจัยที่ต้องใช้เวลานานและใช้เงินอย่างมหาศาลแล้ว เราก็จะเห็นแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่มีสายป่านยาว เงินทุนหนา เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะกลายเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจพืชที่มีสรรพคุณแก้ปวดในพืช 3 ตัวนี้ได้

โดยเฉพาะ “กระท่อม”นั้นประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติด อีกทั้งยังทำลายตำรับยาไทยทุกชนิดที่มีฝิ่น กัญชา และกระท่อมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทั้งๆที่กระท่อมไม่ได้เป็นยาเสพติดในอนุสัญญาเดี่ยวระหว่างประเทศ ค.ศ. 1961 เลย และไม่มีการห้ามใช้กัญชาและฝิ่นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เลย

จากรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา วันที่ 15 ตุลาคม 2546 โดยนายภิญญา ช่วยปลอด เป็นประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญชุดดังกล่าวได้สรุปเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า

“บทสรุป

ประเมินจากข้อมูลที่รวบรวมได้จนถึงปัจจุบัน พบสรุปได้ว่า แอลคะลอยด์ mitragynine ในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ในขณะที่สารมิตราไจนีนซูโดอินโดซิล (mitragynine psedudoindoxyl) ซึ่งเป็นเมตาโบไลท์ของสาร mitragynine จะมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 100 เท่า เมื่อใช้เป็นเวลานานจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการจนเกิดการติดยาได้ในที่สุด ใบกระท่อมหรือ mitragynine มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการดังนี้:

1. กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ
2. ไม่ทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน
3. พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
4. ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Carving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
5. อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายด้วยยากล่อมประสาทระยะ 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ที่ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึง methadone ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน 3 เดือนขึ้นไป
6. การควบคุมทางกฎหมายไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น
7. ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้”


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในประเทศที่เริ่มใช้กัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้ว อัตราการใช้มอร์ฟีนลดลง ส่วนกระท่อมนอกจากจะช่วยระงับปวดคล้ายฝิ่น ส่งผลเสียน้อยกว่าฝิ่น แถมมาช่วยบำบัดการติดฝิ่นและมอร์ฟีนด้วย เหตุใดกลายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปได้?

คำตอบนี้หาได้ที่เบื้องหลังในการตรา พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการให้กระท่อมกลายเป็นยาเสพติดนั้นได้ปรากฏบันหลักการและเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 เอาไว้ว่า

หลักการ เพื่อห้ามเสพไบกระท่อมหรือส่วนต่างๆของต้นกระท่อม และห้ามเพาะปลูก”

เหตุผล กะท่อมเป็นพรึกสชาติชนิดหนึ่ง ไบมีรสมึนเมาคล้ายฝิ่น ปรากตว่าประชาชนชาวไทยนิยมเสพกันแพร่หลายมาก การเสพไบกระท่อมเป็นการให้โทษแก่ร่างกายโดยทำไห้ผู้เสพติดและเกิดอาการมึนเมา ท้องอืด เบื่ออาหาร เปนโรคหัวไจอ่อนและโรคประสาทตื่นเต้น เพราะฉะนั้นจึงสมควรมีบทบัญญัติบังคับห้ามปลูก การมีไว้ในครอบครอง การพาเข้าส่งออกซึ่งไบกระท่อมและส่วนต่างๆ ของต้นกระท่อม ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองป้องกันไห้ความปลอดภัยแก่ประชาชนไห้บังเกิดต่อไป”


แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นกลับปรากฏในคำอภิปรายที่แสดงให้เห็นว่าเบื้องหลังการทำให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นเพราะในขณะนั้นรัฐต้องการมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากฝิ่นมากขึ้น ดังนั้นการมีกระท่อมที่ประชาชนเสพได้อย่างแพร่หลายย่อมทำให้คนติดฝิ่นน้อยลง รัฐย่อมจะจัดเก็บภาษีจากฝิ่นได้น้อยลง โดยในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2486 (สมัยวิสามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2486 ได้ปรากฏบันทึกคำอภิปรายของ พลตรีพิณ อมรวิสัยสรเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ความว่า

“ฝิ่นนั้นมีภาษีมาก แต่พืชกระท่อมไม่มีภาษี เมื่อฝิ่นแพงคนก็หันไปสูบกระท่อมแทนฝิ่น ทำให้การค้าของรัฐบาลลดหย่อนลงเช่นนี้ เพื่อให้ต้องตามวัฒนธรรมอันดีแล้ว จึงเห็นว่าฝิ่นสำคัญกว่าควรจะยกเลิก(กระท่อม)”

หลังจากนั้นกระท่อมก็กลายเป็นยาเสพติดต่อๆกันมาในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษจนถึงปัจจุบัน


เหตุผลเรื่องการขัดขวางเรื่องกัญชาและกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น จึงไม่ใช่มิติข้ออ้างเรื่องสุขภาพและยาเสพติดอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องด้วยอย่างชัดเจน

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษได้แล้ว และสมควรแล้วหรือยังที่จะให้แพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านสามารถปลูกกัญชาเพื่อนำไปปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายได้ และถ้าทำได้ ในวันข้างหน้าก็ควรจะขยายผลให้แพทย์แผนไทยให้สามารถใช้ฝิ่นเพื่อช่วยคนไข้ได้ด้วยศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่าแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้มอร์ฟีน หรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น