xs
xsm
sm
md
lg

"ชวน"ดัดหลัง พวกชักดาบกยศ. อดเป็นขรก.สภาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เผย "ชวน" ตั้งกฎเหล็ก ผู้ไม่ชำระหนี้กยศ. อดเป็นข้าราชการสภาฯ- ไม่ให้เรียนหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า

วานนี้ (15 ก.ย.) ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ว่า เป็นโครงการที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการไว้ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2535 จากการเห็นความสำคัญของการศึกษา และเข้าใจถึงปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของเด็ก และเยาวชน โดยวัตถุประสงค์หลักของกองทุน กยศ. คือ การให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เป็นการมอบโอกาสแก่เด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง

ปัจจุบันการดำเนินงานของ กยศ. ประสบปัญหาจากการที่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา และผ่านช่วงระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีไปแล้ว ไม่ได้กลับมาใช้หนี้ตามข้อกำหนดของกองทุนฯ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิม คือ เมื่อมีการคืนเงิน ก็จะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในกองทุนฯ โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณเพิ่มเติม และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ที่สำคัญ คือนอกจากการสร้างคนให้มีความรู้แล้ว การศึกษาจะต้องทำให้คนเป็นคนดี มีจิตสำนึก แม้ในขณะนี้ ยังมีกลุ่มผู้กู้ยืมส่วนหนึ่งที่ไม่มีเงินและไม่มีงานทำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป แต่กลุ่มที่มีงานทำ ก็ยังทำให้เกิดปัญหาการค้างชำระหนี้ ไม่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯ ซึ่งในกลุ่มนี้ก็เป็นผู้ที่รับราชการจำนวนไม่น้อย

ดังนั้น สำหรับในส่วนงานของรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงได้มอบนโยบายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบ และดำเนินการให้ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนฯ ถือปฏิบัติตามประกาศการหักเงินจากผู้กู้ยืมเงิน แต่ละรายผ่านโครงการจ่ายตรงฯ ทั้งนี้ มีผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 166 คน โดยได้ดำเนินการหักจากรายได้ และนำส่งเงินคืนกองทุนฯ แล้วเป็นจำนวน 206,070 บาท และให้ถือปฏิบัติต่อเนื่องสืบไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ประธานรัฐสภาในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) ได้มีดำริ ขอมติเห็นชอบในการเพิ่มหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ โดยให้การคืนเงิน หรือไม่คืนเงินกองทุน กยศ. เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ใช้พิจารณาสำหรับการสรรหา และการบรรจุเข้ารับราชการ

เมื่อมีการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมดังกล่าว ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า ผู้เข้าเรียนและ จบหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีชื่อเสียง ดังนั้นควรนับเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ต้องมีคุณธรรม และจริยธรรมประกอบด้วย จึง

เสนอให้การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกองทุน กยศ. คือไม่ได้คืนเงินเข้ากองทุนฯ เป็นหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครหลักสูตรของสถาบันฯไว้ด้วย เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น