xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปิดคดี 33 ปี รุก “เกาะปอดะ” ทวงคืนสมบัติ “ชวน” กลับสู่สมบัติ “ชาติ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เกาะปอดะ ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คดีรุกพื้นที่บน “เกาะปอดะ จ.กระบี่” ระหว่าง “กรมอุทยานฯ” กับ “นายทุน” ต่อสู้แย่งชิง “สมบัติชาติ” ห้ำหั่นกันมายาวนาน 33 ปี โต้แย้งด้วยหลักฐานเพื่อแย่งสิทธิ์ครอบครองที่ดิน นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งผลสิ้นสุดศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำเลย คือ “นายชวน ภูเก้าล้วน” มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งส่งผลทำให้เกาะแห่งนี้หวนคืนความเป็นสมบัติชาติอีกครั้ง

สำหรับ เกาะปอดะ ตั้งอยู่ใน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีความสวยงามโดดเด่น น้ำทะเลใสสวย หาดทรายขาวนวลเนื้อละเอียด บริเวณด้านหน้าหาดมองเห็น “ภูเขาหินรูปใบเรือตั้ง” ตระหง่าน เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของเส้นทางเที่ยวทะเลกระบี่ ทัวร์ 4 เกาะ ได้แก่ เกาะไก่ เกาะหม้อ เกาะทับ และเกาะปอดะ

บนเกาะปอดะมีพื้นที่ราบเกือบ 100 ไร่ อยู่ห่างฝั่งเพียง 8 กิโลเมตร มีความสวยงามโดดเด่น ซึ่งหากคิดมูลค่าเกาะก็น่าจะอยู่ที่ประมาณหลักพันล้านถึงหลักหมื่นล้านเลยก็ว่าได้ เนื่อง เพราะรายล้อมไปด้วยธรรมชาติงดงาม ทะเลสวย น้ำใส หาดทรายขาว

ส่วนประเด็นการแย่งสิทธิ์ครอบครองที่ดิน “เกาะปอดะ จ.กระบี่” ระหว่าง “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” และ “นายชวน ภูเก้าล้วน” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ นักธุรกิจและเศรษฐีที่ดินใน จ.กระบี่ เริ่มตั้งแต่ปี 2528
มหากาพย์คดีรุกพื้นที่เกาะปอดะ จ.กระบี่ เป็นคดีปะวัติศาสตร์ที่มีการต่อสู้คดีกันมายาวนานระยะเวลากว่า 33 ปี หลังจากกรมอุทยานฯ เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณเกาะปอดะ หมู่ที่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ตรวจพบชาวบ้าน 2 คน ชื่อนายโหรบ ชำนินา และนางมิอะ ชำนินา ภรรยา ให้การว่า ได้ครอบครองที่ดินเกาะปอดะ โดยมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก) เลขที่ 750, 757, 758 และ 759 ซึ่งได้ขายที่ดินทั้งหมดให้กับ นายชวน ภูเก้าล้วน

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อกล่าวหา นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ศรีผ่องพาณิชย์ จำกัด ข้อหาบุกรุกครอบครองพื้นที่อุทยานฯ โดยทางนายชวน แจ้งว่า มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน น.ส. ก.จำนวน 4 ฉบับ เนื้อที่กว่า 50 ไร่ กระทั่ง ปี 2554 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. ทั้ง 4 ฉบับ และออกหมายบังคับคดีให้จำเลย พร้อมบริวารออกจากพื้นที่

ต่อมา ปี 2556 นายชวน ยื่นเอกสาร ส.ค. 1 เลขที่ 1 เนื้อที่ 71 ไร่ เพื่อยืนยันว่าได้มีการทำประโยชน์บนเกาะปอดะมาก่อน ปี 2495 เป็นหลักฐานแสดงสิทธิ์ในที่ดินบนเกาะปอดะต่อศาลอีกครั้ง รวมทั้ง ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ในคดีแพ่งดังกล่าว หมายเลขดำที่ 115/2558 หมายเลขแดงที่ 525/60 ของศาลจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 เรื่องฟ้องขับไล่และสิทธิครอบครอง เรียกค่าเสียหาย 3 ล้านบาท กระทั่ง 20 เม.ย. 2560 ศาลชั้นต้น จังหวัดกระบี่ มีคำพิพากษาให้ นายชวน ภูเก้าล้วน เป็นฝ่ายชนะคดีเพราะเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวมีการทำประโยชน์มาก่อนจริง

หลังจากนั้น กรมอุทยานฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ จนกระทั่ง 12 ก.พ. 2561 ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ได้มีคำพิพากษากลับให้ นายชวน ภูเก้าล้วน มีความผิดในข้อหาบุกรุกตาม พ.ร.บ.อุทยาน และ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พิพากษาจำคุกจำเลย เป็นระยะ 3 ปี 6 เดือน และให้จำเลยและบริวารออกไปจากพื้นที่เกาะปอดะ ซึ่งนายชวนได้ยื่นอุทธรณ์

ก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา นายชวนได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า แม้จะมีโอกาสติดคุกในวัย 85 ปี แต่ยืนยันว่า จะไม่หลบหนีและขอเดินทางไปฟังคำพิพากษา เนื่องจากมั่นใจว่า เอกสิทธิ์ที่ใช้ต่อสู้ในคดี 2 ฉบับ คือ ส.ค.1 เลขที่ 1 และ น.ส.3 ที่แปลงมาจาก ส0ค.1 เลขที่ 2 ซึ่งใช้อ้างสิทธิ์ถือครองที่ราบบนเกาะปอดะ ซื้อต่อมาจากชาวบ้านอย่างถูกต้อง แต่หากผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม ก็พร้อมน้อมรับ เพียงแต่ต้องการสื่อสารกับคนในจังหวัดกระบี่และคนทั่วประเทศให้เข้าใจว่า ไม่ได้เป็นนายทุนรุกที่ป่าหรือฮุบเกาะอย่างที่ถูกตีตรามาโดยตลอด เพราะตลอดกว่า 30 ปีที่มีข้อพิพาทเรื่องนี้ ต้องทนรับกับข้อกล่าวหานี้ ทั้งที่ตัวเองไม่ต่างจากเกษตรกรที่ถูกรัฐฟ้องขับไล่จากที่ดินที่ถือครอง

และเมื่อวันที่10 ก.ย. 2562 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยคือนายชวน ภูเก้าล้วน มีความความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือนอย่างไรก็ดี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นความผิดไม่ได้รุนแรง จึงแก้คำพิพากษาให้ รอลงอาญา 2 ปี ให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 30 ชม. พร้อมชำระค่าปรับเป็นเงิน 80,000 บาท พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ “กรมอุทยานฯ เป็นฝ่ายชนะ”
ชวน ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ นักธุรกิจและเศรษฐีที่ดินใน จ.กระบี่ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิในเกาะปอดะ
เบื้องหลังชัยชนะทวงคืนสิทธิครอบครองเกาะปอดะ พื้นที่ 71 ไร่ ที่เอกชนอ้างครอบครองโดยมิชอบ กรมอุทยานฯ คงต้องยกความดีความชอบให้กับ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร รวมทั้ง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ฯ จนพลิกกลับมาชนะเอกชนในที่สุด

โดยพิสูจน์หาความจริงจากภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2510 ที่นำมาแปลภาพถ่ายทางอากาศ ชัดเจนว่าไม่เคยปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่เกาะปอดะ รวมทั้ง ร่องรอยต้นมะพร้าวอายุมากสุด 45 ปี ที่เป็นหลักฐานในคดีครั้งแรก

 อย่างไรก็ตาม ภายหลังกรมอุทยานฯ แพ้คดีชั้นต้นไปแล้วนั้น “นายธัญญา เนติธรรมกุล” อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ออกมาประกาศ “สู้” ทวงคืนเกาะปอดะเป็นสมบัติชาติ โดยขอความร่วมมือบูรณาการจากหลายหน่วยงาน เพื่อทำข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นประจักษ์ รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ มาต่อสู้ ในชั้นอุทธรณ์ กระทั่ง กรมอุทยานฯ พลิกกลับมาชนะสามารถนำเกาะปอดะกลับคืนเป็นสมบัติชาติ

“นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี ผู้รับมอบอำนาจจากกรมอุทยานฯ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่คดีชนะแบบบูรณาการ โดยตลอดระยะเวลาที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับหลายหน่วยงาน และนักวิชาการ โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ขอสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ มีการหาหลักฐานร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินมาต่อสู้ และใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

 ในขั้นการทำสำนวนอุทธรณ์ มีการหาพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยาน ยืนยันตามหลักฐานเดิมในชั้นศาลชั้นต้น และมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและแปลภาพถ่าย ที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทีมพืชสวนชุมพร ต้องพิสูจน์ในเรื่องของอายุมะพร้าวที่มีอยู่ในแปลงคดีว่ามีอายุตามจริงซึ่งจากการตรวจสอบพบมีอายุระหว่าง 45 ปีขึ้นไป ไม่พบร่องรอยทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2510

 ทั้งนี้ ศาลแพ่งอุทธรณ์ภาค 8 ได้พิจารณาคดีโดยได้อ้างคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปได้ว่าในเมื่อ ส.ค.1 หมายเลข 2 ที่ฝ่ายเอกชนอ้างว่าอยู่ติดกัน และได้พิจารณาแล้วว่า ส.ค.1 หมายเลข  2 ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ ซึ่งได้พิพากษาให้เพิกถอน น.ส.3 ก ทั้งหมด ดังนั้น ส.ค.หมายเลข 1 ที่นำมากล่าวอ้างก็ถือว่าไม่ถูกต้องและจากการพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี 2510 ก็ไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์

นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานแต่คุ้มค่าแก่การรอคอย เพราะ “กรมอุทยานฯ” พลิกเป็นผู้ชนะนำ “เกาะปอดะ จ.กระบี่” กลับคืนสู่สมบัติชาติได้สำเร็จ!

ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช




กำลังโหลดความคิดเห็น