xs
xsm
sm
md
lg

สายเกินไป-จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

นางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส
ทันทีที่ประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง นางแคร์รี แลม ประกาศในรายการพิเศษผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในเย็น (18.00 น.) วันพุธที่ 4 กันยายน เป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของผู้ชุมนุมที่ยกระดับการชุมนุมจาก 1 ข้อมาเป็น 5 ข้อ

หุ้นในกระดานฮั่งเส็งวิ่งขึ้นถึง 4% หลังจากตกลงอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์

เธอปูพื้นว่า ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุม (ซึ่งได้ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง) คือ ต้องการให้รัฐบาลฮ่องกงถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไปจากการพิจารณาของสภา ซึ่งเธอก็กล่าวย้ำว่า เธอได้เคยประกาศตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนแล้วว่า จะแขวนร่างกฎหมายนี้แน่นอน และต่อมาก็ได้ย้ำว่า ร่างกฎหมายนี้ได้ “ตายไปแล้ว” ซึ่งก็มีความหมายที่ชัดแจ้งอยู่ แต่การชุมนุมก็ดำเนินต่อไป และรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น วันนี้เธอจึงขอประกาศให้ชัดแจ้งว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเป็นทางการทันทีที่จะถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากสภาอย่างเด็ดขาด

ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องให้มีการสอบสวนอย่างอิสระ ต่อการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุมนั้น เธอบอกว่า ขณะนี้มีสภาอิสระรับข้อร้องเรียนเรื่องตำรวจ (IPPC-Independent Police Complaints Council) ที่เป็นอิสระอยู่แล้ว แต่เธอจะเพิ่มกรรมการอีก 2 คนที่เป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของฮ่องกงได้เข้าร่วมพิจารณาด้วย
สำหรับเรื่องการให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม (ขณะนี้เกิน 1,000 คนแล้ว) ก็ต้องเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งข้อหาว่า ก่อการจลาจล (ยังไม่ถึงข้อหา “บ่อนทำลายฮ่องกง” หรือ “ก่อการร้าย” ด้วยซ้ำ) นั้น ก็ขึ้นอยู่กับขบวนการยุติธรรมและหลักฐานต่างๆ และฮ่องกงก็เป็นนิติรัฐที่จะต้องเคารพขบวนการพิจารณาที่เป็นอิสระ และฝ่ายรัฐบาลจะเข้าแทรกแซงขบวนการยุติธรรมไม่ได้

สำหรับข้อเรียกร้องให้เธอลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อการจัดการการชุมนุมจนขยายไปสู่ความรุนแรงนั้น เธอไม่ได้เอ่ยถึง; รวมทั้งข้อเรียกร้องต้องการให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีสิทธิในการเลือกตั้งตรงฝ่ายบริหาร (โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเช่น ตำแหน่งของประธานแคร์รี แลม) เธอไม่ได้เอ่ยถึง; เพียงแต่เธอได้ย้ำถึงการชุมนุมที่สร้างความปั่นป่วนแก่ศูนย์กลางการเงิน และการเดินทางแห่งภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะการบุกโจมตีสำนักงานของรัฐบาลกลาง (Liaison office) ในฮ่องกง ถึงกับทำลายสัญลักษณ์ประจำชาติ และตราแผ่นดินจีน ซึ่งถือเป็นความท้าทายโดยตรงต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ-สองระบบ” คือไม่ยอมรับว่า ฮ่องกงคือส่วนหนึ่งภายใต้อธิปไตยของจีน

แต่ในวันพฤหัสบดี ตลาดฮั่งเส็งไม่สามารถยืนบวก 4% ได้ กลับบวกแค่ 0.4% หลังจากมีปฏิกิริยาจากนายโจชัว หว่อง หนึ่งในหัวหน้าแกนนำชุมนุมที่ออกมาสวนทันทีว่า “มันสายเกินไปแล้ว” สำหรับคำประกาศยอมถอนร่างกฎหมายเจ้าปัญหานั้น หลังจากเล่นแง่ชั้นเชิงกับคำว่า “มันตายไปแล้ว” ตั้งแต่เมื่อกว่า 2 เดือนที่แล้ว

นายโจชัว หว่อง กำลังเดินทางไปพร้อมกลุ่มของเขา หลังได้รับอนุมัติให้ประกันตัวออกมาจากการจับกุม (ที่จัดการชุมนุมในวันจันทร์ที่ 2 กันยายน เพื่อปิดเส้นทางไปสนามบิน ในวันเปิดเทอมวันแรกที่นักเรียนมัธยมส่วนใหญ่ของฮ่องกงได้ประกาศอารยะขัดขืนไม่เข้าห้องเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์) และกำลังไปปลุกระดมที่ไต้หวันให้จัดการชุมนุมร่วมกับผู้ประท้วงที่ฮ่องกง

นายหว่อง ประกาศว่า “Too Little-Too Late” คือ การยอมถอยของประธานแคร์รี แลม ถือว่า ถอยน้อยเกินไป (แค่ข้อเดียวจาก 5 ข้อ) และสายเกินไป จนตอนนี้มีผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บมากมาย, ตายไปแล้ว 7 คนและถูกจับเกิน 1 พันคน

เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรุนแรงต่อต้านฝ่ายรัฐบาลที่ฮ่องกงนี้ มีบางคนเปรียบเทียบกับการชุมนุมของเสื้อเหลืองที่ฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายอย่างมีลักษณะคล้ายกันที่อาจเปรียบเทียบกันได้

ปธน.มาครง โดนผู้ชุมนุมโต้กลับว่า “สายเกินไป” (Too Little-Too Late) หลังจากเขาต้องยอมถอยที่จะขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีนี้ (1 ม.ค. 2019) โดยประกาศล่วงหน้า 3 เดือน

มีการชุมนุมจากผู้ขับขี่เจ้าของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ซึ่งมองว่า ทำไมรัฐบาลมารีดภาษีจากผู้มีรายได้น้อยที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น (น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันของรถบรรทุกเล็ก และรถยนต์คันเล็กๆ ของผู้มีรายได้น้อย-ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในชนบท)-ทำไมไม่ไปขึ้นภาษีรายได้คนรวยที่มีรายได้สูงๆ

การชุมนุมเริ่มขึ้นขณะที่ปธน.มาครงไปร่วมประชุม G20 ในต่างประเทศ ส่วนที่บ้านทางรัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงปราบปราม และพยายามสลายการชุมนุมในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เพื่อให้การชุมนุมจบลงก่อนช่วงคริสต์มาสที่ปารีสจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาจับจ่ายอย่างบ้าคลั่ง และชื่นชมความงดงามแห่ง City of Lights คือสวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ผู้ชุมนุมจึงยังออกมาต่อต้านรัฐบาลแม้รัฐบาลจะยอมเลื่อนการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลไปอีก 6 เดือน

การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองรุนแรงกว่าที่ฮ่องกงหลายเท่า มีการปิดถนนหลายสาย จนการเดินทางติดขัดมาก รวมทั้งการปะทะกับตำรวจก็ถึงกับตายไปเป็นจำนวนหลายสิบคน มีการเผารถตำรวจเป็นหลายสิบคันด้วย

แต่แรกมาครง ไม่ยอมเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งก็เป็น Leaderless Protest (ไม่มีแกนนำ) เช่นเดียวกับที่ฮ่องกง

ปธน.มาครงปรับการสลายการชุมนุม โดยยอมถอยคือ ประกาศเลิกการขึ้นภาษีน้ำมัน หลังจากได้เลื่อนมาแล้ว และแจกเป็นซานตาคลอสในการลดภาษีรายได้ของข้าราชการบำนาญ และแจกเงินให้ประชาชนไปจับจ่ายช่วงคริสต์มาส รวมทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย

ได้ผลทีเดียว คือ ผู้เข้าชุมนุมทุกวันเสาร์-อาทิตย์-ได้ลดจำนวนลงมาก เพราะหลายคนมองว่า รัฐบาลยอมแล้ว-ก็ไม่น่ามาชุมนุมต่อไป

ยิ่งกว่านั้น ปธน.มาครงประกาศเจรจาจับเข่าคุยกับประชาชนทุกหมู่เหล่า; กับข้อร้องเรียนต่างๆ เป็นการเปิด Town hall Meetings ที่ตัวมาครงเองได้ถลกแขนเสื้อขึ้นเพื่อพูดจาเปิดอกรับฟังข้อทุกข์ร้อนของประชาชน ซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศ เป็นจำนวนร้อยแห่ง; หลายคนคงสงสัยว่า ปธน.ไม่มีเวลาทำงานทำการรึยังไง? เขาทำได้ดีทีเดียวในการจัดบริหารเวลา และได้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน

ดังสุภาษิตที่ว่า “Better Late Than Never” คือ ถึงสายเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่เกิดขึ้นเสียเลย

และในที่สุด ประธานแคร์รี แลม ก็ได้เสนอจะพบกับประชาชนฮ่องกงในการสนทนาพูดคุย (Dialogue) กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งการสนทนาพูดคุยนี้เกิดขึ้นช้าไปถึง 3 เดือน แต่ก็ดีกว่าไม่เกิดขึ้น

ต้องคอยติดตามว่า การยอมถอยของแคร์รี แลม จะเป็นน้ำเย็นเข้าลูบ ที่ทำให้การชุมนุมแบบดุเดือดเลือดพล่านจะสงบลงได้ ทันก่อนการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ครบ 70 ปีที่จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ได้หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น