xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา


สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขที่น่าตื่นตกใจ สำหรับหนี้ครัวเรือนสิ้นสุดไตรมาสแรกปี 2562 ซึ่งพุ่งขึ้นระดับ 13 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 78.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดนับจากไตรมาสแรกปี 2560

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากจำนวน 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย หรือสูงเป็นอันดับที่ 11 จากจำนวน 74 ประเทศทั่วโลก

การติดอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับหนี้ภาคครัวเรือนประเทศไทย เป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจนัก เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนกำลังมีหนี้ท่วมหัว

หนี้สาธารณะของประเทศหนักพออยู่แล้ว ล่าสุดสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 6.91 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 41.45% ของจีดีพี

แม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ห่างไกลจากเพดานการก่อหนี้ แต่จำนวนหนี้ที่พุ่งเกือบทะลุ 7 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะเป็นภาระผูกพันที่ต้องชดใช้กันยันชั่วลูกชั่วหลาน

แต่หนี้ครัวเรือนขณะนี้ สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากกว่า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลที่เกาะติด สะท้อนถึงปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ทั้งปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และผลกระทบต่อผู้ปล่อยกู้ รวมทั้งสถาบันการเงิน

หนี้ครัวเรือนหมายถึงหนี้ของบุคคลที่กู้มาซื้อบ้าน รถยนต์ หรือการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ซึ่งยอดสินเชื่อรวมพุ่งมาอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท

การสำรวจข้อมูลของแบงก์ชาติพบว่า มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อครัวเรือนลดลง โดยการปล่อยกู้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีการแข่งขันสูง ทั้งจากผู้ให้บริการสินเชื่อและค่ายรถยนต์รวมทั้งจักรยานยนต์ นอกจากนั้นยังมีการขยายเวลาการผ่อนชำระเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 ปี และมีการแต่งบัญชีช่วยผู้ขอสินเชื่อด้วย

ส่วนสินเชื่อประเภทรถแลกเงิน กระบวนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมีความหละหลวม และปล่อยกู้ลูกค้าที่มีความสามารถผ่อนชำระหนี้ต่ำ ขณะที่สินเชื่อก้อนโตของสหกรณ์มีการขยายเพดานการปล่อยกู้ ขยายเวลาการผ่อนชำระยาวขึ้น และมีการปล่อยกู้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี

แบงก์ชาติยังพบว่า ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้น สะท้อนจากความสามารถในการผ่อนชำระที่ลดลง ในสินเชื่อเช่าซื้อรถ สินเชื่อรถแลกเงิน บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด และสินเชื่อก้อนโตสหกรณ์ นอกจากนั้น ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายที่เกินตัวมากขึ้น

ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนถูกพูดถึงมาหลายปีแล้ว เพราะมีแนวโน้มที่จะลุกลามเป็นวิกฤต โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องพึ่งพาเงินในอนาคตมาใช้จ่าย เพื่อประคับประคองตัว

ในช่วงที่ดอกเบี้ยแพง แม้อัตราเงินเฟ้อจะสูง แต่ประชาชนยังมีกำลังซื้อ เนื่องจากมีเงินจากการฝากดอกเบี้ยประจำมาใช้จ่าย ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ

แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ผลตอบแทนจากการฝากเงินไม่เพียงพอในการจับจ่าย ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ ประชาชนที่มีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องนำเงินออมออกมาใช้ จนเงินออมร่อยหรอ ส่วนคนที่ไม่มีเงินออม จำเป็นต้องกู้เงิน หรือไม่ก็ต้องขายทรัพย์สินมาจับจ่าย

ป้ายประกาศขายที่ดินจึงเต็มไปทั่วประเทศ เพราะประชาชนต้องขายทรัพย์สินเก่าเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

ปัจจุบัน ไม่มีสัญญาณหรือสิ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจะฟื้น มีแต่แนวโน้มที่จะฟุบลงต่อเนื่อง แนวโน้มปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนจะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนลดลง จนอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้เสีย กระทบต่อผู้ปล่อยกู้หรือสถาบันการเงินทั้งระบบ

แม้สถาบันการเงินจะเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวปัญหาหนี้เสียซ้ำรอยปี 2540 แต่ถ้าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัวต่อไป ความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนจะลดลงโดยปริยาย

ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งขึ้น เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า เศรษฐกิจที่ตกต่ำ กำลังทำให้คนไทยมีแต่หนี้ และอาจเกิดการล้มละลายกันครั้งใหญ่

และถ้าเกิดวิกฤตหนี้ภาคครัวเรือน จะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เสียอีก และรัฐบาลอาจรับมือไม่ไหว

เพราะหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอยู่ในภาวะใช้จ่ายเกินตัวเหมือนภาคครัวเรือน ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล ทำโครงการเมกะโปรเจกต์มากมาย ทุ่มเงินกับโครงการประชานิยมไปไม่น้อย ก่อหนี้เพิ่มนับล้านล้านบาท จนไม่มีเงินที่จะรับมือกับวิกฤตใดที่อาจเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจขาลงเต็มตัว

นโยบายกระตุ้นการจับจ่าย ขณะที่ประชาชนหมดกำลังซื้อ ไม่เหลือเงินออม และซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจซบเซาสุดขีด กำลังจุดชนวนวิกฤตหนี้ภาคครัวเรือน

สัญญาณร้ายในความล่มสลายภาคครัวเรือนก่อตัวมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครเข้าไปดับ ไม่มีมาตรใดจากรัฐบาลเข้าไปแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น