xs
xsm
sm
md
lg

ส่องอนาคต“เพื่อไทย” เหมือนถูกลอยแพไร้ทิศทาง !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**ได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของ “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และคณะระหว่างลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้งใน จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมไปถึงได้เห็นท่าทีและอารมณ์ของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดมุมมองและเกิดความเปรียบเทียบกับเส้นทางของพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้ ถือว่าเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ทั้งเส้นทางและอารมณ์ช่างแตกต่างกันแบบสุดขั้ว
หากพิจารณากันทีละด้านก่อนจะมาเปรียบเทียบกัน โดนเริ่มจากฝ่ายรัฐบาล ที่นำโดย “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าหากพิจารณากันด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์ รัฐบาลผสมราว 18 พรรค มีเสียงสนับสนุนรวมกัน 253 เสียง ถือว่าเสียง“ปริ่มน้ำ”ที่หมิ่นเหม่อย่างยิ่ง เพราะมีเสียงเกินมาแค่ 2-3 เสียงเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว เริ่มเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ
การลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นความเคลื่อนไหว และปรากฏการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นที่นั่น นอกเหนือจากได้เห็นส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในพื้นที่ได้มารอต้อนรับนายกฯในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งประกาศยกมือสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ที่จะเข้าสภาฯ ในอีกไม่นานข้างหน้านี้ด้วย รวมไปถึงการสนับสนุนให้อยู่ยาวครบ 4 ปี อย่ายุบสภา มันก็ได้สะท้อนความรู้สึกของพวก ส.ส. ออกมาได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีใครอยากเลือกตั้งบ่อยๆ อีกทั้งยังไม่เห็นด้วย กับการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อีกด้วย เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงานได้ไม่กี่วันเท่านั้น
แม้ว่าจากท่าทีดังกล่าวของ ส.ส.ฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย จ.สุรินทร์ คือ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม และ ตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล อาจถูกมองว่า ทั้งคู่อาจถูก“พลังดูด”มาเข้ากับพรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรคฝ่ายรัฐบาล ก็ถือว่าน่าจับตา ว่ามีทั้งเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่นาน มีข่าวว่า มีการดึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่มีส.ส.รวมกัน 6 เสียง มาเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจจะมาแบบยกพรรค หรือมาเฉพาะบางส่วน ตามข่าวยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด
ขณะเดียวกัน หากโฟกัสจากการลงพื้นที่ภาคอีสาน ที่เริ่มจาก จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ในครั้งนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หากมองในมุมการเมืองก็ต้องถือว่า นี่คือการเริ่มขยับออกตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับพรรคการเมือง เนื่องจากมีเขตเลือกตั้งมากที่สุด และมีจำนวนส.ส.มากที่สุด
ที่ผ่านมาถือว่า พรรคเพื่อไทยครองแชมป์ มีจำนวน ส.ส.ในพื้นที่ดังกล่าวมาตลอด รวมทั้งครั้งล่าสุดด้วย อย่างไรก็ดี ระยะหลังเริ่มมีการเบียดเข้ามาแบบสูสีมากขึ้น หลังมีพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ เกิดขึ้นมา ทำให้พรรคเพื่อไทย เริ่มมีคู่แข่ง และไม่อาจผูกขาดในสนามเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว แม้ว่าจะมีปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่าง เป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้ง แต่ในภาพรวมก็ต้องถือว่า พรรคเพื่อไทย ในฐานแชมป์เก่ากำกังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
**สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในพื้นที่ภาคอีสานถือว่าน่าจับตา เพราะหากสังเกตจากคำพูด ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาหลายโครงการมีมูลค่าหลายพันล้านบาท นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการรื้อฟื้นโครงการ “โขง ชี มูล”ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะผลักดันให้มีการศึกษารายละเอียดกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้
แน่นอนว่า จุดอ่อนของภาคอีสาน คือเรื่อง“น้ำ” ซึ่งตามมาด้วยความยากจน แต่หากสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ก็จะทำให้ความยากจนในภาคอีสานลดลงไปจำนวนมาก และเรื่องน้ำ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของชาวบ้านที่เรียกร้องกันมานาน แต่ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง และเป็นระบบ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาขยับในเรื่องดังกล่าว ทำให้มีความหวัง อีกทั้งในทางการเมือง ถือว่านี่คือยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะการสร้างแนวร่วมในฐานะ“ลูกอีสาน”คนหนึ่ง
**ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริงก็ต้องบอกว่า“ไร้สีสัน”ไม่มีแรงดึงดูด เพราะหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มี สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค และนอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค หรือแม้แต่การรับหน้าที่ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" บทบาทในสภาฯของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแก่นสาร ก็ยังแทบจะมองไม่เห็นเลย อย่างมากก็มีแค่รายการประท้วง ในแบบป่วนในห้องประชุม และที่สำคัญก็คือ “บทบาทนำ”กลับกลายเป็นว่าตกไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคขนาดรอง เสียอีก
ที่น่าจับตาก็คือ เวลานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคเพื่อไทยเดิม ทั้งที่เป็น อดีตส.ส. หรือส.ส.ในปัจจุบัน หรือแม้แต่มวลชนคนเสื้อแดง ที่เคยเป็นฐานสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และครอบครัวของเจ้าของพรรคดั้งเดิมอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เริ่มขยับย้ายค่ายกันมากขึ้น ทั้งในส่วนของ พรรคอนาคตใหม่ รวมไปถึงก่อนหน้านี้ที่ย้ายไปซบพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงก่อนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
หลายคนเริ่มมองเห็นภาพเหมือนกับว่าเวลานี้ พรรคเพื่อไทยกำลัง “ถูกลอยแพ”จากเจ้าของเดิม นั่นคือ จากทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเห็นแนวโน้มแล้วว่า โอกาสที่จะกลับมายิ่งใหญ่แบบเดิม น่าจะเป็นเรื่องยาก รวมไปถึงการขบเหลี่ยมในทางลึกกันกับพรรคอนาคตใหม่ ก็น่าจะมีให้เห็นมากขึ้น เพราะในเส้นทางข้างหน้า ยากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะในสนามเลือกตั้งมันต้องขยายอาณาเขตกินพื้นที่ลึกเข้าไปของอีกฝ่ายแบบช่วยไม่ได้
**ดังนั้น หากพิจารณาจากแนวโน้มในอนาคตอันใกล้แล้ว สำหรับพรรคเพื่อไทย ถือว่าจะต้องเจอศึกสองด้านกระหนาบ นั่นคือ ด้านหนึ่งเป็นศึกใหญ่จากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังขยายเครือข่ายในภาคอีสาน ส่วนด้านหนึ่งยังมีศึกในที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ซึมลึกเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงได้บอกว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว เส้นทางข้างหน้าถือว่าหนักหน่วงกันเลยทีเดียว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น