xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเค้าทะมึน เกมฉีกรธน. แค่เป้าหลอก-เป้าจริงยั่วให้ป่วน!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**แม้ว่าจะยังไม่ทันที่รัฐบาล “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบริหารได้ครบเดือน แต่ในซีกฝ่ายค้านก็ไม่ยอมให้ได้หายใจหายคอ หรือเปิดโอกาสให้ได้ทำงานพิสูจน์ผลงานกันเสียก่อน แต่กลับเดินหน้าสกัดกั้น หรือพยายามเตะตัดขากันทุกทาง เรียกว่า หาทางจัดการกันตั้งแต่ต้นมือกันเลยทีเดียว
การเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดย พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ แม้จะเป็นไปตามสิทธิ การตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญก็ตาม และที่สำคัญ เป็นใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่พวกเขาแสดงอาการรังเกียจก็ตาม หรือบางพรรคอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในเรื่องของการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการคิดคำนวณคะแนน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ได้เป็นกอบเป็นกำ และที่ผ่านมาก็เคยแสดงท่าทีแบบหยั่งเชิง ขอแก้ไขบางมาตราเพื่อลดบทบาทของ ส.ว.เท่านั้น แต่ก็ถูกคัดค้านจากพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้ฉีกทิ้งทั้งฉบับ แล้วร่างใหม่ จนทำให้ต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ การเคลื่อนไหวทั้งนอกและในสภา ที่สอดรับกัน เริ่มจากเวลานี้ที่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แบบไม่ลงมติ แน่นอนว่า นี่คือการใช้แท็กติกทางกฎหมาย ถล่ม“ลุงตู่”ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมในกลางเดือนหน้า และยังเป็นการใช้สิทธิ์ตามมาตราดังกล่าวได้ครั้งเดียว ภายใน 1 ปี นั่นหมายความว่า ใช้เสียก่อน ก่อนที่จะไม่ได้ใช้ โดยถือว่าเป็นการ “ซ้อมมือ”ก่อนถึงรายการใหญ่ที่เป็น “หมัดเด็ด” นั่นคือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสมัยประชุมหน้า
สำหรับการซักฟอกแบบเรียกน้ำย่อยในครั้งนี้ ก็อย่างที่รู้กันก็คือ ฝ่ายค้าน ได้หยิบยกเหตุผลในเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนของ นายกรัฐมนตรี และอ้างว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ระบุที่มาของงบประมาณ ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่พวกเขาจ้องจะฉีกทิ้งนั่นแหละ ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปชี้แจงหรือชี้แจงอย่างไร
แน่นอนว่า การพ่วงเอาเรื่องการแถลงนโยบาย โดยไม่ระบุที่มาของงบประมาณเข้ามากับเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบก็เชื่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลี่ยงมาตอบสภาฯ เพราะก่อนหน้านี้เขาอ้างเหตุผลที่ไม่ไปตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้านว่า เวลานี้เรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ให้ว่ากันไปตามขั้นตอน ดังนั้นการพ่วงเอาเรื่องหลังเข้ามาด้วยก็ทำให้เลี่ยงไม่ออกต้องไปตอบด้วยตัวเอง นั่นเอง
อย่างไรก็ดี การยื่นซักฟอกแบบไม่มีการลงมติคราวนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาล แต่ในวงการมองออกว่า นี่คือรายการ “ด่าลุงตู่” ในสภา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาจากอารมณ์ร่วมของสังคมภายนอกด้วยว่า ชาวบ้านเขามองเรื่องนี้อย่างไร จะมองว่า“ป่วนไม่เลิก”หรือไม่ยอมเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงานแก้ปัญหาในเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนเร่งด่วน ก่อนหรือไม่ เช่น เสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่อง “ปากท้อง”เสียก่อน เป็นต้น ซึ่งก็น่าจับตาอยู่เหมือนกันว่า ถึงตอนนั้นกระแส จะเทไปทางไหนได้มากกว่ากัน
**แต่ที่น่าลุ้นมากกว่า ก็น่าจะเป็นเรื่องการอภิปราย ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะมีขึ้นในสมัยประชุมสมัยวิสามัญในเดือนตุลาคมนี้ ที่น่าจะเป็นการลุ้นอยู่ หรือไป เหมือนกัน เพราะด้วยสภาพของรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ”แบบนี้ มันก็น่าหวาดเสียว เพราะหากเกิดพลาดพลั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทางเลือกสองทางคือ ไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา
แต่ขณะเดียวกัน ก่อนที่จะถึงการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าว ในช่วงปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายนนี้ เวลานี้ก็ได้เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ที่กำลังเริ่มรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งแน่นอนว่า ทุกฝ่ายก็รับรู้กันอยู่แล้วว่ามัน “แก้ไขยาก”แต่ที่น่าจับตาก็คือ มันมีรายการแบบ “วาระซ่อนเร้น”เหมือนกัน มีเจตานาป่วน และช่วยไม่ได้ที่มีหลายคนมองออกว่า มีความพยายามสร้างกระแสให้เกิดความขัดแย้งปั่นป่วนขึ้นมาอีก โดยนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวล่อ
อีกทั้งปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประมติด้วยเสียงข้างมาก มาแล้วถึงจำนวน 16.8 ล้านเสียง ถือว่าท่วมท้น ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง มันก็กลายเป็นเกราะป้องกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้อีกชั้นหนึ่งเหมือนกัน ว่าการคิดจะแก้ไขมันไม่ง่าย นอกเหนือจากต้องผ่านด่านในสภา ที่ถือว่า “หิน”อยู่แล้ว นั่นคือ “นอกสภา” ที่ย่อมมีไม่น้อยที่ยังคิดว่ายังไม่ถึงเวลา หรือ “ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบคอขาดบาดตาย”รอให้ใช้ไปสักระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ 5 ปี ที่บทเฉพาะกาล ที่เกี่ยวกับ ส.ว.แต่งตั้งก็จะสิ้นสุดลง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ มันเหมือนกับว่า มีเจตนาสร้างความปั่นป่วนขึ้นมา เพราะรู้ว่ามันแก้ไขได้ยาก และสร้างความขัดแย้งขึ้นมาแน่นอนจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งเห็นเจตนาซ่อนเร้นเป็นคำถามว่าเจตนาที่แท้จริงนั้นเพื่อ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญต้านโกง” เพื่อใครหรือไม่ ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกมองว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียง “เป้าหลอก” แต่ของจริงคือเจตนาให้เกิดคามปั่นป่วน หรือนำไปสู่การโค่นล้มทั้งรัฐบาล และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น