xs
xsm
sm
md
lg

ชงแพคเกจ2แสนล้าน เข้า ครม.เศรษฐกิจวันนี้ "สมคิด" สั่ง “ปตท.-กฟผ.”อุ้มผู้มีรายได้น้อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ขุนคลัง” ชงมาตรการกระตุ้น ศก.เข้า “ครม.เศรษฐกิจ” วันนี้ หวังเกิดเงินหมุนเวียนกว่า 2 แสนล้านบาท ช่วยทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกรประสบภัยแล้ง-หนุนการท่องเที่ยว-เติมบัตรสวัสดิการฯ-ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน-รายย่อย-เอสเอ็มอี ด้าน "สมคิด" สั่ง “ปตท.-กฟผ.-กองทุนน้ำมันฯ” ระดมจัดหามาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชน พร้อมให้ปตท.เร่งดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด-ห้องเย็นเก็บผลไม้ ใช้ปั๊มปตท.กระจายสินค้า ดันไทยสู่ผู้นำพลังงานภูมิภาค "สนธิรัตน์" เด้งรับจองคิวตรวจเยี่ยม ปตท.-กฟผ.ภายในเดือนนี้ หวังเป็นกลไกขับเคลื่อน ศก.ฐานราก

วานนี้ (15 ส.ค.) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังหารือกับคณะผู้แทนสภาธุรกิจ สหรัฐอเมริกา-อาเซียน เกี่ยวกับแนวทางบริการทางการเงินว่า นักลงทุนต่างชาติความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา โดยพร้อมเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศและต้องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี การเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ตลาดตราสารหนี้ดอกเบี้ยลดลง ก็กระทบการส่งออก จึงต้องดูแลกำลังซื้อของฐานราก ภาคเกษตรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการปลูกพืชทดแทน ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหลายพื้นที่ เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่นขายสินค้าได้มากขึ้น เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านหลายมาตรการ ทั้งงบกลาง เงินทุนจากแบงก์รัฐ และอีกหลายส่วนที่ใช้ลดหย่อนภาษี เมื่อมีการใช้จ่ายของชาวบ้านจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระกระทรวงการคลังร่วมกับหลายหน่วยงานเตรียมเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันนี้ (16 ส.ค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่

1.มาตรการบรรเทาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรผ่อนคลายหนี้สินสนับสนุนพิเศษด้านดอกเบี้ย ทั้งสนับสนุนสินเชื่อใหม่และต้นทุนการเพาะปลูก ด้วยการชดเชยกรปลูกข้าว 4 ล้านครัวเรือน 500-800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินช่วยเหลือ 57,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ฉุกเฉินรองรับภัยแล้ง ปล่อยกู้ 500,000 บาทต่อราย ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก รวมวงเงิน 55,000 ล้านบาท ด้านประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจหลักทั้งข้าวเปลือกเจ้า ประกัน 10,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 15,000 บาทต่อตัน วงเงิน 53,000 ล้านบาท มันสำปะหลัง ยางพารา 60 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 35,743 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมช่วยเหลือ 6.23 ล้านครัวเรือน

2.มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท รับค่าครองชีพ 200 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาทต่อคน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาทต่อคน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี รับค่าครองชีพ 300 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 1,500 บาทต่อคน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ฝึกอาชีพ 100 บาทต่อคน

และ 3.มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวล่าสุดที่สอดรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เล็งสร้างเงินสะพัดท้องถิ่น จากการใช้จ่ายและการช้อปสินค้าชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เตรียมมอบเงินให้ 1,500 บาทสำหรับท่องเที่ยวทั่วประเทศ เป้าหมาย 10 ล้านคน ใช้เงิน 15,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมพิจารณายกเว้นวีซ่าด่านตรวจคนเข้าเมือง Visa On arrival (VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ หลังจากมาตรการครบกำหนด 31 ต.ค.62 เพื่อจูงใจกลุ่มทัวร์ให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีน อินเดีย เข้ามาท่องเที่ยว 15 วัน มีผล 1 พ.ย.62-31 ต.ค.63 เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่การท่องเที่ยวฯ เตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การส่งเสริมท่องเที่ยวรายเดือน วันที่ 9 เดือน 9 จัดโปรโมชั่นลดราคาที่พักหลักร้อยบาทต่อคืน เพื่อดึงยอดเข้ามาใช้จ่ายช่วงท้ายปี รวมไปถึงมาตรการพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายเล็กทั่วประเทศเข้าถึงเงินทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้คาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ และเชื่อว่าจะสามารถรับมือผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกได้ โดยประเมินว่าชุดมาตรการจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจรวมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทในครึ่งหลังของปีนี้

อีกด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงพลังงานว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันบริหารกองทุนน้ำมัน (องค์การมหาชน) ฯลฯ ไประดมความเห็นร่วมกันเพื่อจัดหามาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

โดยมอบให้กลุ่ม ปตท.ไปเร่งดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นให้สอดคล้องกับชนิดของดินแต่ละพื้นที่และพืชเกษตร เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกร ขณะเดียวกันให้จับมือกับสหกรณ์ที่จะใช้เป็นเครือข่ายในการกระจายปุ๋ยและสินค้าด้านเกษตรต่างๆ ผ่านสถานีบริการน้ำมันหรือ PTT Station รวมทั้งให้พิจารณาเร่งรัดการทำห้องเย็นที่เป็นขนาดเล็กเพื่อเก็บผลไม้ในการลดปัญหาราคาตกต่ำ และขอให้ ปตท.และบริษัทในเครือมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบ BCG ที่ประกอบด้วย Bio Economy ,Circular Economy และ Green Industry ที่เป็นเทรนด์ของโลก

“ไทยต้องเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานโดยไม่เอาเปรียบใครโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่ไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานและเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อเพิ่มศักยภาพ เป็นต้น” นายสมคิด ระบุ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า เร็วๆนี้ จะไปมอบนโยบายให้กับ บมจ.ปตท. และหลังจากนั้นประมาณปลายเดือนส.ค. จะไปตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อที่จะปรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงพลังงานและรัฐบาล เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากทั้งการผลิตปุ๋ยสั่งตัด การยกระดับเป็นสหกรณ์หรือ PTT -CO-OP เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนที่เน้นผลิตไฟใช้เองลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนและสร้างอาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น