xs
xsm
sm
md
lg

BEMย้ำได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ต่อสัญญาทางด่วน-ยุติพิพาท1.37แสนล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (14 ส.ค.) นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึง การเข้าให้ข้อมูลต่อ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร และความคืบหน้าในการเจรจากับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BEM มีสัญญาสัมปทานกับกทพ. ได้ร่วมมือกันด้วยดีมาตลอด ทั้งการบริหาร การปรับปรุงทางด่วน และส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาต่างๆ แต่ก็มีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันเกิดขึ้นจาก 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องผลกระทบจากการก่อสร้างส่วนต่อขยาย จากอนุสรณ์สถานถึงรังสิต ที่ส่งผลทำให้ปริมาณจราจร และรายได้ของทางด่วนบางประอิน–ปากเกร็ด (ทางด่วนอุดรรัถยา) ของบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL)ซึ่งเป็น บริษัทลูกของ BEMลดลง จำเป็นต้องขอให้กทพ.ชดเชยตามที่ระบุในสัญญา ตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 มีผลกระทบเป็นรายปี มาจนถึงปัจจุบัน เรื่องจึงต้องไปเข้าอนุญาโตตุลาการ แต่ กทพ.ไม่รับการชี้ขาด เรื่องจึงไปสิ้นสุดที่ศาลปกครอง
ส่วนอีกเรื่อง กรณีการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา โดยสัญญากำหนดให้ 5 ปีปรับค่าผ่านทางหนึ่งครั้ง ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อนที่ต้องปรับบ่อยๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีการให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา จึงเกิดเป็นข้อพิพาทกัน
จากทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ทำให้ BEMมีข้อพิพาทกับ กทพ. จนถึงสิ้นปี 2561 ทั้งสิ้น 17 ข้อพิพาท จำนวนนี้มีคดีทางแข่งขัน ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเป็นที่สุดแล้ว ให้กทพ.ชดเชยให้ BEM จำนวน 4.3 พันล้าน โดยส่วนนี้เป็นเงินต้น 1.7 พันล้าน แต่ดอกเบี้ย 2 พันกว่าล้านบาท ที่เป็นส่วนของค่าเสียหายเมื่อปี 2542-43 เท่านั้น
"ข้อพิพาทหลายกรณี ผ่านอนุญาโตตุลาการแล้ว และชี้ขาดให้กทพ.ชดเชยให้ BEM ทั้งหมด แต่เมื่อกทพ.ไม่รับคำชี้ชาด ก็มีการนำเรื่องเข้าศาลปกครอง จนพิพากษาสิ้นสุดไปแล้ว 1 คดี ในส่วนทางแข่งขันปี 2542-43 มูลค่า 4.3 พันล้านบาท ส่วนคดีไม่ขึ้นค่าผ่านทางของปี 2546 ก็ได้สิ้นสุดในชั้นศาลปกครองกลาง ที่ให้กทพ.ชดเชย BEMมูลค่า 7.2 พันล้านบาท ขณะนี้ ทางกทพ.ก็กำลังอุทธรณ์ ที่ศาลปกครองสูงสุด จากแนวโน้มของคดีจึงเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนต.ค.61 ให้ กทพ. เจรจาหาทางยุติข้อพิพาทกับ BEMเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด" นายพงษ์สฤษดิ์ ระบุ
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่าการเจรจากับ กทพ. ได้คำนวณมูลค่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ปรากฏว่า ในส่วนของคดีทางแข่งขัน ที่มีผลกระทบตั้งแต่ปี 2542 และสิ้นสุดในปี 2569 มีผลกระทบต่อรายได้ในทุกๆปี คำนวณแล้ว มูลค่าความเสียหายถึงสิ้นปี 2561 เป็นเงิน 78,908 ล้านบาท ขณะที่คดีไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นทุก 5 ปี มูลค่าถึงสิ้นปี 2561 คิดเป็น 56,034 ล้านบาท รวม 2 กรณี และ กรณีกทพ.ส่งมอบพื้นที่ให้ BEMไม่ได้ 6.3 พันล้านบาท ส่วนนี้ผ่านศาลปกครองกลาง กำลังอยู่ในศาลปกครองสูงสุด เบ็ดเสร็จถึงสิ้นปี 2561 คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 137,517 ล้านบาท โดยที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งหากคำนวณจนสิ้นสุดสัญญา และต่อสู้คดีจนถึงที่สุดทุกข้อพิพาท คาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดในปี 2578
ในกรณีที่ กทพ.แพ้คดีทั้งหมด อาจส่งผลให้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยมากถึง 326,127 ล้านบาท ในส่วนนี้ เฉพาะดอกเบี้ยก็สูงถึง 1.39 แสนล้านบาท โดยในการเจรจานั้น กทพ.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้ยุติข้อพิพาททั้งหมด ด้วยการชดเชยโดยขยายสัญญาสัมปทาน และมีเงื่อนไขให้ BEMเป็นผู้ลงลงทุนการดำเนินงาน และปรับปรุงทางด่วน รวมทั้งไม่ปรับค่าผ่านทางบ่อยมากนัก เพื่อความสะดวกและไม่เป็นภาระของประชาชนผู้ใช้บริการ
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวด้วยว่า ในการเจรจา BEMได้พิจารณาโดยมองภาพรวมทั้งหมด และเข้าใจภาครัฐ จึงนำเฉพาะคดีที่สิ้นสุดแล้ว ในส่วนของผลกระทบทางแข่งขันมาคำนวณ จนสิ้นสุดสัมปทานแล้วมากกว่า 1.09 แสนล้านบาท เหลือเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาททางแข่งขัน ณ สิ้นปี 2561 หรือ 7.8 หมื่นล้านบาทเสียอีก โดยที่คดีอื่นๆ ถือว่ายกเลิกทั้งหมดทันทีที่ลงนามในสัญญา ทั้งในส่วนการไม่ปรับค่าผ่านทาง หรือการส่งมอบพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนข้อพิพาทในอนาคต อาทิ การต่อขยายดอนเมืองโทลเวย์ จากอนุสรณ์สถานถึงบางปะอิน ซึ่งกระทบเส้นทางอุดรรัถยาแน่ แต่เมื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดแล้ว ในอนาคตจึงจะไม่มีการเรียกร้องใดๆ กันอีก จึงมาเป็นข้อยุติที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับกันได้ เพราะเหมือนฝ่ายรัฐไม่ได้เสียหายเลย BEM ก็มีผลตอบแทนที่พออยู่ได้ทางธุรกิจ เมื่อตกลงกันในหลักการได้ จึงนำมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาทนั้น มาคำนวณเป็นสัญญาสัมปทาน ก็ได้ออกมาเป็น 30 ปี โดยมีเงื่อนไขในเรื่องการลงทุนก่อสร้าง Double Deck หรือ ทางด่วนชั้นที่ 2 จาก งามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร, ก่อสร้างช่วง Bypass แก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด , ขยายพื้นผิวจราจร บริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
ทั้งนี้ มูลค่าการก่อสร้างที่ดูสูงกว่าปกตินั้น ก็เนื่องจากการก่อสร้างทำได้ยาก และต้องทำบนทางด่วนที่ยังเปิดให้บริการปกติอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างทางขึ้นลงบริเวณสถานีกลางบางซื่อ อีก 2 พันล้านบาท รวมมั้งการจ้างพนักงานของ กทพ.ที่ BEM จ้างอยู่จนกว่าจะเกษียณ หรือหมดหน้าที่ อย่างไรก็ดี ในส่วนของ Double Deckนั้น กทพ.ต้องทำ EIAให้เสร็จภายใน 2 ปี จากนั้น BEMจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี แต่หาก EIAไม่ผ่าน และไม่สามารถสร้าง Double Deckได้ ทุกสัญญาสัมปทานก็จะสิ้นสุดในปี 2578
"เรื่องนี้ไม่ใช่ค่าโง่ จากการทำสัญญาเสียที่เปรียบ แต่เป็นเรื่องที่รัฐไม่ทำตามสัญญา ถือเป็นค่าเบี้ยว มากกว่าค่าโง่ ในฐานะบริษัทเอกชน BEM ก็จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยที่เราเชื่อว่าในทางธุรกิจ และในทางสัญญาว่าเราถูกต้อง และมั่นใจว่าหากสู้คดีต่อไป ก็ชนะทุกคดี แต่ก็ถามตัวเองว่า สู้แล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะเราตระหนักดีว่า BEMเป็นบริษัทคนไทย ทำธุรกิจในประเทศไทย ให้บริการประชาชนคนไทย การมีข้อพิพาทกับรัฐ จึงไม่ใช่เป้าประสงค์ของบริษัท จึงมองหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า แต่ก็ต้องมีวิธีการเยียวยาเราที่พอเหมาะ จึงยินดีที่จะเจรจา ก่อนนำมาสู่ข้อยุติ 5 หมื่นกว่าล้านบาท โดยที่ BEMไม่เอาเงินซักบาทเดียว และไปรับความเสี่ยงในอนาคต ในการรับสัมปทานต่อ ในขณะที่มีการพัฒนาและประชาชนหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน หรือรถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่า ข้อยุติจากการเจรจาครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย" นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น