xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

** เรื่องนายกฯลุงตู่ นำครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ที่ตอนแรกถูกมองว่าเป็นเรื่อง "หยุมหยิม" แต่ถึงวันนี้ กำลังเป็นเรื่องร้อนแรงปรอทแทบแตก จน"ลุงตู่"ต้องออกปากขอโทษครม. ก็คงต้องจับตากันต่อไปว่าถึงที่สุดจะลงเอยอย่างไร

เรื่อง"นายกฯลุงตู่" กล่าวนำครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง“หยุมหยิม”แต่มาถึงวันนี้ได้กลายเป็นเรื่อง "ร้อนปรอทแตก" ของรัฐบาลไปแล้ว
ต้นเรื่องเกิดในวันที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายนั้น "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้มีการหารือก่อนการแถลง จังหวะนี้ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ลุกขึ้นมาทักท้วงว่า สถานะของรัฐบาล ยังไม่ถือว่าสมบูรณ์ หรือไม่ เพราะตามรธน.มาตรา 161 จะต้องกล่าวว่า
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แต่นายกฯ กล่าวว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ตลอดไป”
ส่วนที่หายไปคือ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”แต่มีคำว่า “ตลอดไป”เพิ่มมาแทน ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้
ประเด็นนี้ "ปิยบุตร" กะว่าจะใช้เป็น “หมัดเด็ด” เพื่อใช้น็อก “บิ๊กตู่”ให้ล้มคว่ำกลางที่ประชุม ก่อนแถลงนโยบาย แต่ "ประธานชวน" ได้“ตัดบท” ว่าเป็น "ข้อกล่าวหาที่รุนแรง" ผู้พูดต้องรับผิดชอบ พร้อมตัดเข้าสู่วาระการประชุมทันที ทำให้ "ปิยบุตร" ต้องออกไปแถลงข่าวเรื่องนี้นอกห้องประชุม เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจปล่อยข้ามไป...
เมื่อนักข่าวหยิบประเด็นนี้ไปถาม "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แต่ก็ได้รับคำตอบเหมือนไม่ให้ความสำคัญว่า "เสร็จเรียบร้อยกระบวนการครบถ้วน และผ่านพ้นไปแล้ว ผมจะหาเรื่องให้เขาเอากลับมาพูดอีกทำไม" แล้วยังระบุ ด้วยว่า ปัญหาการอ่านคำถวายสัตย์ฯไม่ครบก็เคยมีในอดีต...“ตอนนี้ถือว่าเรียบร้อย ถือว่าจบ เพราะได้รับพระราชทานพรใส่เกล้าใส่กระหม่อมแล้ว" และเมื่อถูกถามบ่อยเข้า "รองฯวิษณุ" ก็ไม่ตอบ เพียงแต่บอกว่า "ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ตอบ" และยังทิ้งท้ายอย่างมีนัยด้วยว่า “สักวันจะรู้เองว่า ทำไมไม่ควรพูด”...
แต่ที่ฝ่ายค้านไม่ละทิ้งประเด็นนี้ ยังคงตอกย้ำว่า จะมีการตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ ขณะที่นอกสภาฯ ก็มีผู้ไปยื่นเรื่องร้องเรียน เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดว่า เรื่องนี้ ขัดรธน.หรือไม่ ... หากขัดรธน. ก็หมายถึงว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ ยังไม่มีผลสมบูรณ์ รัฐบาลก็ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลได้อนุมัติไปก็จะ "โมฆะ"
เมื่อเรื่องทำท่าว่าจะจบไม่ลงอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลคิดไว้ ...ยิ่งนักข่าว นำเรื่องนี้ไปถามนายกฯลุงตู่ ซึ่งตอนแรกๆ นายกฯ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะตอบนัก...ยังอุบเอาไว้เหมือนจะให้ไปตีความกันว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่มีการกล่าวหา ... กระทั่งเมื่อเรื่องร้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำตอบออกมาว่า "เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน เรื่องดังกล่าวก็คงต้องว่ากันต่อไป" ... และเมื่อสองวันก่อน ช่วงที่นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จ.ยะลา ก็พูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งว่า "เดี๋ยวคงเรียบร้อยนะ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด เขาดูกันที่เจตนา"...
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) "ลุงตู่" ได้ไปเป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ที่ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งสิ้นประมาณ 800 คนร่วมรับฟัง...เรื่องที่ "ลุงตู่" พูดถึงเป็นลำดับแรกก็คือเรื่องนี้ ... "เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือ เรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่า จะทำอย่างไร ถึงจะทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญ ว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็คงยังจะมีรัฐบาลอยู่ และต้องขอโทษ บรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่า ผมได้ทำเต็มที่แล้ววันนี้ขอร้องเรื่องเก่าๆ อะไรที่ไม่ควรพูด ก็ไม่ต้องพูด อะไรพูดได้ ก็พูดไป ผมเองรับผิดชอบทั้งหมดอยู่แล้ว ยืนยันว่ ามีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐมนตรี และให้เกียรติกับทุกคน และให้เวลาพิสูจน์ผลงานในการทำงาน"...
เมื่อจับความระหว่างบรรทัดที่ นายกฯลุงตู่พูดมาต่อเนื่อง จาก "กำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหา" ... ต่อมาก็ "ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด" และ ล่าสุด "ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่า ผมได้ทำเต็มที่แล้ว" ... ทำให้มีการตีความกันว่า... หรือ "ลุงตู่จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี" ...
อย่างไรก็ตาม "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" โฆษกรัฐบาล ก็ออกมายืนยันว่า "ที่ท่านนายกฯ ขอโทษรัฐมนตรีนั้น คือ ท่านขอโทษที่อาจจะทำให้ ครม. ทุกคนไม่สบายใจ ในเรื่องใดๆก็ดี และท่านยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เรื่องราวที่เหลือก็เป็นไปตามกระบวนการ" ... ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร

** รอยร้าวเล็กๆในรัฐบาลเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อ 5 ใน10 พรรคเล็กขู่ถอนยวง อ้างรัฐบาลไม่เอานโยบายของพวกเขาไปปฏิบัติ ... ขณะที่ในสภาฯ รัฐบาลปริ่มน้ำ ก็แพ้โหวตฝ่ายค้าน 204-205 เสียง ในการพิจารณาระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ให้เห็นแล้ว

ขณะที่รัฐบาลกำลังหนักอกหนักใจกับเรื่องที่ "นายกฯลุงตู่" กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ...ก็มีเรื่อง "10พรรคเล็ก" ฮึดขึ้นมาอีกรอบ โดย "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ออกมาบอกว่าจะไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ ...เนื่องจากรัฐบาลละเลย ไม่นำนโยบายของบรรดาพรรคเล็กไปปฏิบัติ
"ขณะนี้พรรคเล็ก ได้แก่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธรรมไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เห็นไปในแนวทางเดียวกัน ที่จะทบทวนในการร่วมรัฐบาล โดยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้านอิสระ... ขอย้ำว่าแก้วที่มันร้าวมากแล้ว บังเอิญกาวตราช้าง ก็ไม่มีประสาน จึงทำให้ต่อติดค่อนข้างลำบาก"
ขณะที่ "พิเชษฐ สถิรชวาล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ก็ออกมาขานรับอีกแรงว่า พรรคเล็กได้มีการหารือกัน ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะเมื่อไม่มีส่วนในฝ่ายบริหาร ก็ไม่อาจไปตอบประชาชนที่เลือกพวกตนเข้ามาได้ว่า ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ ...พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการต่อรองตำแหน่ง
"นี่ไม่ใช่การล้มรัฐบาล รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะอยู่ต่อไป แต่อาจมีปัญหาได้เมื่อถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีรายบุคคลที่หลายรายมีข้อครหาเรื่องความไม่เหมาะสม" นายพิเชษฐ สำทับ
เบื้องหลังที่ไม่ได้ลึกลับอะไรมาก ของการ "ขู่ถอนยวง" ครั้งนี้ ก็สาเหตุมาจากความไม่พอใจที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก พลาดโอกาสในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งสำคัญหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ 10 พรรคเล็ก ประกาศสนับสนุน"ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรี ... เริ่มจาก การจัดสรรโควตาในตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้มีบารมีนอกพรรคพลังประชารัฐ ก็รับปาก10 พรรคเล็กว่า จะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย 1 เก้าอี้ เพราะ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี 10 เสียง ได้ตำแหน่ง รมว. 1 เก้าอี้ และรมช. 1 เก้าอี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลย เพราะแม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง ก็แทบจะแตกจากการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ต่อมาผู้มีบารมีนอกพรรค ก็รับปากว่าจะดูตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ให้อีก แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้สักตำแหน่ง จนล่าสุด ผู้มีบารมีนอกพรรค รับปากว่า จะให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี และล่าสุดก็ไม่มีวี่แวว ทำให้พรรคเล็กๆ ไม่พอใจเหมือนโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“แม้แต่นายพิเชษฐ สถิรชวาล ที่ขอตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงขณะนี้ ก็ส่อแววว่าจะโดนเบี้ยวเช่นกัน จนทำให้ 10 พรรคเล็กไม่พอใจ จึงออกมาเคลื่อนไหวประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระแล้ว 5 พรรค และอาจจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ หากมีการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล ก็น่าจะเป็นช่วงของการเอาคืนของกลุ่มเหล่านี้"
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เคยเป็นคนกลางในการเจรจาดึงกลุ่ม 10 พรรคเล็ก เข้าร่วมรัฐบาล ก็ได้แต่บอกว่า ทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไป ส่วนเสถียรภาพในการทำงานของรัฐบาลนั้นก็คงไม่กระทบ ไม่ปริ่มน้ำ เพราะตนดูแลตรงนี้อยู่ แต่บางเรื่องบางราวนั้นตนคงพูดไม่ได้ และหากไม่ได้รับมอบหมาย คงคุยอะไรโดยพลการไม่ได้ ต้องเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคที่ต้องไปแก้ปัญหา หรือรอให้มีนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่ามอบหมายให้ตนไปคุยกับพรรคเล็ก
" คงต้องฟังนายมงคลกิตติ์ ว่าอึดอัดใจอะไร ต้องฟังเขาบ้าง ถ้าไม่ฟังเลยวันหนึ่งคุณอาจจะเสียใจ ผมไม่ได้เข้าข้าง แต่เขาเสียสละมามากพอแล้ว ควรให้ความสำคัญกับเขาบ้าง เขาเซ็นสัญญาเอ็มโอยูกับใคร คนๆนั้นควรจะรับผิดชอบ แต่ผมเชื่อว่าเขาคงไม่ไปไหน เดี๋ยวก็ปรับความเข้าใจกันได้"
เช่นเดียวกับ"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" รมว.ดิจิทัลฯ ซึ่งถือว่าเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ ก็ได้แต่บอกว่า เราก็เห็นใจพรรคเล็ก ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมา และทุกคะแนนก็มีความสำคัญ ดังนั้นทุกเสียงสะท้อนก็ต้องรับฟัง แต่เนื่องจากเรามาจากพรรคร่วมหลายพรรค จะให้ได้ทั้งหมด ก็คงไม่ได้...คงต้องขอเวลาสักเล็กน้อย ยังมีเวลา เพราะยังมีอีกหลายตำแหน่ง ที่ยังไม่ได้สรุป...
หากจะพูดให้ชัดก็คือว่า 10 พรรคเล็กต้องการ "ตำแหน่ง" ขณะที่แกนนำรัฐบาลก็รู้ จึงออกมาตอบว่า ยังมีอีกหลายตำแหน่ง ที่ยังไม่ได้สรุป...เพื่อหวังว่าจะ"ดึง" ให้อยู่ด้วยกันต่อไป เพราะหาก 5 ใน10 พรรคเล็ก ถอนตัวจริง เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาฯ ก็จะเหลือเพียง 249 เสียง ส่วนฝ่ายค้าน 246 เสียง ที่เหลือเป็น 5 เสียงของฝ่ายค้านอิสระ นอกจากนี้ยังมีพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยของ"ดำรง พิเดช" อีก 2 เสียง ก็เคยออกอาการไม่พอใจเช่นเดียวกับ 5 พรรคเล็กมาแล้ว
สิ่งที่น่ากังวลของรัฐบาลที่เป็น"ไฟต์บังคับ" คือ การโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่เป็นกฎหมายสำคัญ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่คาดว่าจะมีขึ้นแน่ หากเกิดการแพ้โหวตขึ้นมา ก็ทำให้รัฐบาลพังได้ ... และ "รอยร้าว" ที่ดูเหมือนเล็กๆ นี้ก็ส่งผลออกมาให้เห็นแล้ว เมื่อรัฐบาล "แพ้โหวต" ฝ่ายค้านไปด้วยคะแนน 204-205 เสียง ในการพิจารณา ระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา เมื่อวานนี้ (8ส.ค.)...ก็คงต้งอจับตาว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร กับรอยร้าวเล็กๆ ...โปรดอย่ามองข้ามความปลอดภัย

-------
รูป -- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - วิษณุ เครืองาม ,ปิยบุตร แสงกนกกุล
-มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
กำลังโหลดความคิดเห็น