xs
xsm
sm
md
lg

“เต้”นำ5พรรคเล็กถอนตัว รัฐบาลส่อเสียงไม่ถึงครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"มงคลกิตติ์" ประกาศตัดขาดรัฐบาล ขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ ยันพรรคเล็กไม่ใช่ลูกน้อง "บิ๊กตู่-อุตตม-สนธิรัตน์" “พิเชษฐ” ขู่ ส.ส.พรรคเล็กพร้อมฟรีโหวต เตือน “รบ.เสียงข้างน้อย” มีปัญหาแน่ ด้าน"ธรรมนัส" แนะฟังเขาบ้าง ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียใจ เผยพรรคเล็กโดนเบี้ยวหลายหน ก่อนประกาศฝ่ายค้านอิสระ ทำ รบ.เหลือเสียง 249 ไม่ถึงครึ่งสภาฯ ขณะที่ประชุมทำข้อบังคับสภาฯ “ฝ่าย รบ.” ประเดิมแพ้โหวตแล้ว

วานนี้ (8 ส.ค.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดเผยว่า เมื่อ 2-3 เดือนแล้ว นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มาเชิญพรรคเล็กให้เข้าร่วมรัฐบาลแบบมีเกียรติ เป็นกลุ่มแรกที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐมีเสียงเกิน 126 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดสวิตซ์ประเทศไทย โดยเราจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะร่วมกันพารัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เดินหน้าต่อไป แต่วันนี้พรรคเล็กทั้งหมด 10 พรรคถอยมามากแล้ว หลังแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว พวกเราได้รับการตอบสนองค่อนข้างน้อย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญเรามีตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อนโยบายของพรรคเข้าไป ก็เหมือนเป็นอีแอบ ไม่มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในฝ่ายบริหารเพื่อขับเคลื่อน จึงเป็นอุปสรรคและการที่จะอภิปรายใดๆ ก็ตามในปัจจุบันค่อนข้างจะลำบาก เพราะติดสถานะความเป็นฝ่ายรัฐบาล เวลาพรรคเล็กจะยื่นปรึกษาหารือหรือตั้งกระทู้สดก็ต้องขอวิปรัฐบาลและเขาต้องดูข้อมูลก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่อึดอัด แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านอิสระเรื่องพวกนี้จะไม่ถูกท้วงติง ความทุกข์ร้อนของประชาชนจะไม่ถูกสกรีน ต่อไปนี้อะไรที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องท้วงติง เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องการต่อรองผลประโยชน์ เรียกว่าเป็นการต่อรองทำการทำงานให้กับบ้านเมืองมากกว่า เพราะพวกตนไม่ใช่พนักงานบริษัท และไม่ใช่ลูกน้องของ พล.อ.ประยุทธ์ นายอุตตม หรือนายสนธิรัตน์

“ขณะนี้พรรคเล็ก ได้แก่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธรรมไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เห็นไปในแนวทางเดียวกันที่จะทบทวนในการร่วมรัฐบาล โดยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านอิสระ รัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ จะเดินไปได้อีก 1 เดือน 4 เดือน 6 เดือน หรือ 4 ปี ก็อยู่ที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองนี้ได้ด้วยความสามารถเชิงการบริหารหรือไม่ ขอย้ำว่าแก้วที่มันร้าวมากแล้ว บังเอิญกาวตราช้างก็ไม่มีประสาน จึงทำให้ต่อติดค่อนข้างลำบาก" นายมงคลกิตติ์ กล่าว

ขณะที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เปิดเผยว่า พรรคเล็กได้มีการหารือกันเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะถ้าไม่มีส่วนในฝ่ายบริหาร ก็ไม่อาจไปตอบประชาชนที่เลือกพวกตนเข้ามาได้ว่า ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องการต่อรองตำแหน่ง พวกเราไม่ได้ยื่นคำขาดหรือเงื่อนไขอะไร การเป็นฝ่ายค้านอิสระไม่ได้หมายความว่าไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แต่หมายความว่า การลงมติจะพิจารณาเป็นกรณีไป หรือฟรีโหวต ไม่ต้องทำตามมติของวิปฝ่ายรัฐบาล หากเรื่องไหนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ยังสนับสนุน แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ต้องไม่เห็นด้วย การเมืองแบบนี้น่าจะถูกต้องกว่า

“นี่ไม่ใช่การล้มรัฐบาล รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะอยู่ต่อไป แต่อาจมีปัญหาได้เมื่อถึงการพิจารณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีรายบุคคลที่หลายรายมีข้อครหาเรื่องความไม่เหมาะสม" นายพิเชษฐ กล่าว

ด้าน พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพรรคพลังชาติไทย ยืนยันว่า 11 พรรคเล็กที่ประกาศร่วมรัฐบาลยังมีต่อมติร่วมรัฐบาลต่อไป ส่วนกรณีที่นายมงคลกิตติ์ ประกาศแยกตัวและเตรียมเป็นฝ่ายค้านอิสระนั้น เชื่อว่าเป็นความเห็นส่วนตัว และไม่เกี่ยวกับข้อตกลงของ 11 พรรคเล็กที่เคยตกลงว่าจะร่วมรัฐบาล รวมถึงไม่ต่อรองขอตำแหน่ง ยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณาให้

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีพรรคเล็กจะแยกตัวจากรัฐบาลว่า เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไป ส่วนเสถียรภาพในการทำงานของรัฐบาลนั้นก็คงไม่กระทบ ไม่ปริ่มน้ำ เพราะตนดูแลตรงนี้อยู่ แต่บางเรื่องบางราวนั้นตนคงพูดไม่ได้ และหากไม่ได้รับมอบหมาย คงคุยอะไรโดยพลการไม่ได้ ต้องเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคที่ต้องไปแก้ปัญหา หรือรอให้มีนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่ามอบหมายให้ตนไปคุยกับพรรคเล็ก

"คงต้องฟังนายมงคลกิตติ์ว่าอึดอัดใจอะไร ต้องฟังเขาบ้าง ถ้าไม่ฟังเลยวันหนึ่งคุณอาจจะเสียใจ ผมไม่ได้เข้าข้าง แต่เขาเสียสละมามากพอแล้ว ควรให้ความสำคัญกับเขาบ้าง เขาเซ็นสัญญาเอ็มโอยูกับใคร คนๆนั้นควรจะรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเขาคงไม่ไปไหน เดี๋ยวก็ปรับความเข้าใจกัน" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ที่ผ่านมามีความไม่พอใจของ 10 พรรคการเมืองขนาดเล็กมาโดยตลอด จากการพลาดโอกาสในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ผู้มีบารมีนอกพรรคพลังประชารัฐ รับปากว่า จะให้โควตาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย 1 เก้าอี้กับ 10 พรรคเล็ก สุดท้ายก็ไม่ได้ตำแหน่ง ต่อมาผู้มีบารมีนอกพรรคก็รับปากว่าจะดูตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรให้อีก แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้อีก จนล่าสุดมีการรับปากว่าจะให้ตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือกรณีนายพิเชษฐขอตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ซึ่งก็ไม่มีวี่แวว ส่อแววว่าจะโดนเบี้ยวเช่นกัน ทำให้พรรคเล็กๆ ไม่พอใจเหมือนโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก 5 พรรคเล็กถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลจริง จะส่งผลให้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาฯเหลือเพียง 249 เสียง ส่วนฝ่ายค้าน 246 เสียง ที่เหลือเป็น 5 เสียงของฝ่ายค้านอิสระ นอกจากนี้ยังมีพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย จำนวน 2 เสียง ที่มี นายดำรง พิเดช เป็นหัวหน้าพรรค เคยแสดงความไม่พอใจเช่นเดียวกับ 5 พรรคเล็กมาแล้ว

รายงานข่าวระบุอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลของรัฐบาลคือการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่เป็นกฎหมายสำคัญ หากไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบตามธรรมเนียม รวมไปถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ จากการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ที่ต้องใช้ ส.ส.จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. 251 คน จากจำนวนเต็มของสภาฯ 500 คน ที่สำคัญในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯจะไม่สามารถยุบสภาได้

ขณะเดียวกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (8 ส.ค.) วาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการลงมติในข้อ 9 หน้าที่และอำนาจของประธานสภาฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ได้เพิ่มถ้อยคำ "ให้ประธานสภาฯ ต้องวางตนเป็นกลางนการปฏิบัติหน้าที่" โดยมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 115 เขียนเป็นมาตรฐานการทำหน้าที่ไว้อยู่แล้ว จนทำให้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและดุเดือด ก่อนที่ นายชวน ได้ตัดบทและให้ลงมติในข้อบังคับดังกล่าว ปรากฏว่า เสียงข้างมาก 205 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของฝ่ายค้าน ต่อ 204 เสียงที่เห็นเสียงของรัฐบาล เห็นด้วยกับที่ กมธ.แก้ไข งดออกเสียง 2 เสียง คือ นายชวน และ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่1 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการประชุม แม้ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ จะขอให้มีการลงมติใหม่ แต่นายชวน ไม่อนุมัติ ก่อนที่จะขอเลื่อนการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมต่อในสัปดาห์ต่อไป และสั่งปิดประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น