xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดสลัก “บึ้ม” ป่วนเมือง ใครคือ “กลุ่มคนหน้าเดิม”?? ใครคือ “Mastermind” ??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พร้อมคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีระเบิดป่วนกรุงแถลงความคืบหน้าของคดี ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงของเหตุ “ระเบิดป่วนเมือง” เช้าวันที่ 2 ส.ค. 2562 จะเป็นด้วยเหตุผลเรื่อง “ดิสเครดิตทางการเมือง” หรือโยงใยกับ “สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้” แต่สิ่งที่ “ผู้ก่อเหตุ” หวังผล คงหนีไม่พ้นการทำลายความชอบธรรมในการปกครองประเทศภายใต้การนำของ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างแน่นอน

เพียงแต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทั้ง 2 ประเด็นจะเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยการวางแผนอย่างแยบยลจาก “คนหน้าเดิม” ผู้เป็น Mastermind ดังที่ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์” ว่าไว้ และ Mastermind ที่ว่านั้นคือใครกันแน่

อย่างไรก็ดี ขณะที่บรรดา “ติ่ง” และ “ไอโอ” ของทั้งสองฝ่ายต่างยังคงทำงานปั้นข้อมูลข่าวสารเข้าใส่กันอย่างขมีขมัน สามารถสรุปได้ว่า เหตุระเบิดป่วนเมืองครั้งนี้ เกิดขึ้นใน 7 จุดหลักๆ คือ

1.เหตุลอบวางวัตถุคล้ายระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วงเย็นวันที่ 1 สิงหาคม จุดนี้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยตามภาพวงจรปิดได้ 2 คน คือ นายลูไอ แซแง อายุ 23 ปี และนายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ชาวนราธิวาสโดยจับกุมได้ขณะหลบหนีโดยใช้รถ บขส. ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร

2. เหตุระเบิดใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี ซึ่งจุดเกิดเหตุนี้ยังอยู่ใกล้กับอาคารมหานคร คิงเพาเวอร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ด้วย มีระเบิด 2 ลูก ระเบิดทั้ง 2 ลูก

3. เหตุระเบิดที่หน้าศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ อาคารบี จุดนี้วางระเบิดไว้ 2 ลูก ระเบิดทั้ง 2 ลูก

4. เหตุระเบิดที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย จุดนี้วางไว้ 2 ลูก ระเบิด 1 ลูก เก็บกู้ได้ 1 ลูก

5. เหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำ พบหลักฐานเป็นเศษซากอุปกรณ์เพาเวอร์แบงก์ ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่เพาเวอร์แบงก์ มีลักษณะเป็นระเบิดเพลิง คล้ายๆ กับเหตุระเบิดจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2559

6. เหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นวางสินค้าในห้างดัง 2 แห่งย่านสยามสแควร์ มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นการวางระเบิดเพลิง โดยใช้ระเบิดแสวงเครื่องคล้ายๆ กับเหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำ

7.เหตุระเบิดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ร่วมขบวนการในการก่อเหตุความไม่สงบนั้น มีจำนวน 15 ราย โดยคัดจากพวกที่มีประวัติสะอาด คือเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ ที่ไม่มีประวัติก่อเหตุมาก่อน หรือที่เรียกว่า “กลุ่มหน้าขาว” โดยขึ้นมาจากทางภาคใต้ กระจายกันพักตามย่านรามคำแหง รวมไปถึงใน 7 อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี

แต่ละคนจะนำระเบิดที่เตรียมมาไปวางตามจุดที่วางแผนไว้ เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โดยรอบการประชุม รมต.อาเซียน ย่านปทุมวัน ระเบิดถูกตั้งเวลาหน่วงไว้ที่ประมาณเวลา 08.00 น. - 09.00 น. ของวันที่ 2 ส.ค. และถูกนำไปวางในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ในแต่ละจุด

ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่าผู้ก่อเหตุจุดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน นั้น เป็นกลุ่มเดียวกัน มีทั้งหมด 4 คน โดยแบ่งเป็นทีมศูนย์ราชการ 2 คน หน้าสำนักงานปลัดกลาโหม 1 คน และอีก 1 คน คือผู้ต้องสงสัยที่นำระเบิดมาส่งมอบให้

โดยทีมที่วางระเบิดทั้งสองจุดดังกล่าว พักอาศัยอยู่ในซอยพหลโยธิน 107 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยได้มีการนัดแนะกันให้เพื่อมารับมอบระเบิดที่ แม็คโคร สาขารังสิต จากนั้นได้เรียกแท็กซี่กันไปตามจุดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนนำระเบิดมาส่งได้ขับขี่จักรยานยนต์หลบหนีไปทางเส้นปทุมธานี

ส่วนอีกทีมมีจำนวน 2 ราย นำระเบิดมาวางที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหลังจากก่อเหตุเสร็จได้หลบหนีไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 แล้วขึ้นรถทัวร์ลงไปที่จะสงขลา แต่มาถูกจับกุมตัวได้ก่อนที่ จ.ชุมพร

ขณะที่ทีมระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านสยาม เป็นทีมเดี่ยว ทำเพียงลำพัง โดยเข้ามาภายในร้านขายสินค้า ก่อนนำระเบิดมาซุกไว้ ด้านทีมระเบิดในย่านประตูน้ำ เพชรบุรี 17 มีจำนวน 4 ราย แต่ล่ะคนนำระเบิดที่นำมาแยกกันไปวางแต่ละจุด โดยมีระยะไม่ห่างกันมากนัก

จากการวิเคราะห์หลักฐานและวัตถุพยานทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ พบประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน กล่าวคือ
องผู้ต้องสงสัยป่วนกรุง ที่ถูกจับได้ขณะเตรียมตัวหนีไปชุมพร
1.วัตถุระเบิดที่ใช้เป็นระเบิดแสวงเครื่อง แบบตั้งเวลา และมี “ไอซี ไทม์เมอร์” หรืออุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิด โดยมีการเลือกภาชนะห่อหุ้มระเบิดให้สอดคล้องกับสภาพสถานที่ที่นำระเบิดไปวาง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่ และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักเคมีชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า สารประกอบระเบิดที่ใช้คือ PETN และมีวงจรหน่วงเวลาที่เรียกว่า IC Timer

สำหรับ PETN นิยมใช้ทำระเบิดพลาสติก โดยสารระเบิดชนิดนี้ แค่ 100 กรัมขึ้นไป แรงดันสามารถทำลายรถยนต์ได้ 1 คัน ส่วน IC Timer ใช้ IC558 หรือ IC555 เป็นการหน่วงเวลาข้ามคืนหลายวัน และตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลาพร้อมกัน

จากข้อมูลสถิติระเบิดของหน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าระเบิดที่คนร้ายใช้ มีการนำ IC Timer มาใช้เป็นวงจรจุดระเบิดครั้งแรกเมื่อปี 47 เพียง 1 ครั้ง จากนั้นก็เว้นว่างมาจนพบ IC Timer ถูกนำมาใช้กับวงจรจุดระเบิดอีกครั้งในปี 52 และพบมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้ไปป์บอมบ์มากขึ้น โดยอุปกรณ์ชนิดนี้หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และเจ้าหน้าที่แกะรอยหลักฐานจากเศษซากระเบิดได้ยากกว่าการใช้นาฬิกาตั้งเวลา

ส่วนสารระเบิด PETN หรือ Pentaerythritol Tetranitrate เป็นวัตถุระเบิดทางทหารที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ดินระเบิดแรงสูง” คือ มีอำนาจในการทำลายล้างรุนแรงมาก ทำให้สิ่งที่อยู่ในรัศมีขณะเกิดระเบิดฉีกขาดและแหลกเป็นชิ้นเล็กๆได้ ความแรงพอๆ กับ อาร์ดีเอ็กซ์ (RDX) และยังมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สามารถใช้ใต้น้ำได้ โดยมากจะถูกใช้เป็นดินขยายการระเบิด ไม่ค่อยถูกใช้เป็นดินระเบิดหลัก ส่วนใหญ่พบถูกนำไปบรรจุใน “ชนวนฝักแคระเบิด” หรือ “เชื้อปะทุไฟฟ้า” ซึ่งใช้ในการจุดระเบิด

สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลสถิติของหน่วยข่าวความมั่นคงพบว่า มีการใช้ PETN ในการทำเป็นดินระเบิดเพียงครั้งเดียว ในปี 54 นอกจากนั้นไม่เคยพบถูกนำมาใช้เป็นดินระเบิดหลักในการประกอบระเบิดอีกเลย มีเพียงนำมาใช้ประกอบเป็นเชื้อปะทุไฟฟ้า สาเหตุน่าจะเพราะ PETN เป็น “วัตถุระเบิดทางทหาร” หามาใช้ในปริมาณมากได้ยาก ทำให้ดินระเบิดหลักที่นิยมใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็น ANFO (แอน-โฟ) เหมือนเดิม คือ แอมโมเนียมไนเตรต ผสมน้ำมันเชื้อเพลิง (Ammonium nitrate + Fuel Oil)

2. เป้าหมายของการวางระเบิด แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก หน่วยงานความมั่นคง และส่วนราชการ คือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ และกองบัญชาการกองทัพไทย กลุ่มที่สอง ห้างสรรพสินค้า และย่านการค้ากลางกรุงเทพฯ กลุ่มที่สาม ระบบขนส่งมวลชน

3. เป้าหมายของการสร้างสถานการณ์ ชัดเจนว่า ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล เพราะสามารถวางระเบิดได้ในบริเวณศูนย์ราชการ และฐานบัญชาการของกองทัพ โดยคนร้ายเลือกจังหวะเวลาที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน รวมทั้งโจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ทั้งย่านการค้าและห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เพื่อให้กระทบกับความเชื่อมั่น และสะเทือนภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

“เบื้องต้นกลุ่มที่เข้ามาก่อเหตุมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับการเมืองหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนและยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ยังไม่ตัดประเด็นใดออก เพราะการก่อเหตุมีการดำเนินการกันหลายคน ซึ่งเราจะต้องไปต่อจิ๊กซอว์ว่ากลุ่มเหล่านี้เดินทางมาอย่างไร รวมถึงการหาวัตถุว่ามาจากที่ใดด้วย”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์
สภาพแต่ละจุดหลังเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 ส.ค.
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตและคำถามที่ฝ่ายความมั่นคงยังหาคำตอบไม่ได้ ก็คือ เหตุใดมือระเบิดที่นำวัตถุระเบิดไปวางที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงปฏิบัติการในลักษณะของ “มือสมัครเล่น” ไม่ใช่ “มืออาชีพ” ซึ่งโดยทั่วไปหลังก่อเหตุจะต้อง “กบดานในพื้นที่” มิใช่ตาลีตาเหลือกขึ้นรถหนีกลับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฉับพลันทันทีจนเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้โดยละม่อม

ขณะที่เหตุระเบิดตรงจุดอื่นๆ กระทำการในลักษณะของมืออาชีพมากกว่า และเมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ดูลักษณะแล้วเหมือนไม่ใช่คนที่มาจากต่างจังหวัด น่าจะเป็นคนในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในกรุงเทพฯมานานแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ว่า ทำงานในลักษณะของ “ทีมผสม” โดยใช้คนจากสามจังหวัดใต้เป็นตัวล่อ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ง่าย แต่ทีมปฏิบัติการจริงในจุดอื่นๆ เป็นมืออาชีพ โดยมี Mastermind และทีมประกอบระเบิดแยกต่างหาก เหมือนกับที่ “บิ๊กแดง” ให้สัมภาษณ์เอาไว้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 สิงหาคมถึงความคืบหน้าเหตุระเบิดใน กทม.ว่า มีความคืบหน้าไปมาก แต่อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ด้วยวิธีการของกระบวนการยุติธรรมทั้งพยานวัตถุและตัวบุคคล ซึ่งต้องทำให้รอบคอบ และทำให้ดีที่สุด

และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ห้าปีที่ผ่านมามันลดไปแล้วทำไมมันมีในวันนี้ มีหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเก่าๆ” ซึ่งต้องถือว่ามี “นัยสำคัญ” เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่ บิ๊กแป๊ะ- พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่า “แนวทางการสืบสวนพบว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ก่อเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเมื่อปี 2559 โดยมองว่าในการก่อเหตุครั้งนี้เป็นกลุ่มเดิมๆ ใช้คนหน้าใหม่มาก่อเหตุ”

ฟังจากตรงนี้ เหตุระเบิด 2 สิงหาคมน่าจะมีต้นสายปลายเหตุมาจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชายแดนใต้ค่อนข้างมาก

8 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พร้อมคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีบึ้มป่วนกรุงแถลงความคืบหน้าของคดี โดยระบุว่าการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.พูดว่า ผู้ก่อเหตุเป็นคนหน้าเดิมนั้นก็ไม่ผิด นั่นหมายความว่าเป็นกลุ่มเดิมที่ก่อเหตุทางภาคใต้ แต่จะเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือมาราปาตานี หรือกลุ่มอื่นๆ ในภาคใต้นั้นยังไม่สามารถระบุได้ เพราะกลุ่มดังกล่าวไม่เคยประกาศว่าตัวเองเป็นคนทำ

สำหรับสาเหตุที่ต้องควบคุมตัวลงภาคใต้นั้น เพราะทั้งคู่มีประวัติคดีในฐานข้อมูลเคยเข้าตีฐานนาวิกโยธิน ส่วนคำให้การของคนร้ายนั้น ก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา โดยหนึ่งในนั้นยอมรับว่าในวันก่อเหตุวางระเบิดหน้าป้าย ตร.ก็ยังเกี่ยงกันวาง และบางจุดที่นำไปวางก็ไม่ได้หวังผลเอาชีวิต

ขณะที่ พล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ลอบวางระเบิดในเมือง และพยายามฆ่ากับผู้ต้องหา 2 คนที่ถูกออกหมายจับ และจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ป.วิอาญา โดยผู้ต้องหาซึ่งถูกออกหมายจับและผู้ต้องสงสัยที่เรียกมาสอบคำให้การอยู่ในระดับปฏิบัติการ

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามี “กระบวนการคัตเอาต์” อย่างดีเพื่อไม่ให้สาวไปถึงผู้บงการ เนื่องจากกลุ่มคนร้ายมีบทเรียนในเรื่องการก่อเหตุมาพอสมควร ดังนั้น ก่อนลงมือมีการวางแผนเป็นขั้นตอน อุปกรณ์ที่นำมาก่อเหตุมีทั้งระเบิดและทำให้เกิดเพลิงไหม้ ทุกจุดที่คนร้ายลงมือก่อเหตุมีการตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า

ส่วนการสืบสวนหาตัวผู้ต้องหารายอื่นนั้น เจ้าหน้าที่ดำเนินการในหลายระดับ โดยกลุ่มแรก คือ มาสเตอร์มายด์ที่เป็นผู้วางแผน กลุ่ม 2 คือระดับสั่งการ คอยกำหนดขั้นตอนรายละเอียดปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงหาตัวแนวร่วม กลุ่ม 3 คือ ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุและหลังก่อเหตุ และสุดท้ายคือ กลุ่มที่ลงมือปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่ามีมากกว่า 15 คน

สำหรับแรงจูงใจก่อเหตุของคนร้ายว่าหวังผลทางการเมือง หรือไม่อย่างไรนั้นยังไม่อาจบอกได้ เพราะคนร้ายในระดับปฏิบัติยังไม่ทราบแนวคิดก่อเหตุที่แท้จริง

อาจารย์ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุระเบิดทั้งหมดเหล่านี้คาดการณ์ได้ว่าอาจมีคนทำหลายคน คนวางแผนอาจไม่ใช่คนเดียว แต่มีเป้าหมายพื้นฐานชัดเจนตรงกันว่า เป็นเป้าหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งน่าจะต้องการลดความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของหน่วยงานและรัฐบาล ส่วนอีกเป้าหมายหนึ่งคือ การวางระเบิดใกล้เคียงกับระบบคมนาคมขนส่ง มุ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้ตื่นตระหนก

ทั้ง 2 เป้าหมายนี้จะเป็นแรงสะท้อนไปยังรัฐบาล ซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังไม่ได้ตั้งตัว 100% เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลทันที ยังโชคดีที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คนแรกเอาไว้ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และเชื่อได้ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อลดความน่าเชื่อถือทางการเมือง

นอกจากนั้นคนที่วางแผน สั่งการ ยังเป็นคนภายใน อาจจะเรียกว่า “คนวงใน” ก็ได้ เพราะน่าจะรู้กลไกบางอย่าง เช่น การส่งมอบพื้นที่และภารกิจของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กกล.รส. ให้กับตำรวจ ทำให้เกิดช่องว่าง เพราะการถอนกำลัง กกล.รส. และยุติการใช้ ม.44 ทำให้ต้องเลิกประกบ เลิกกดดันคนมีศักยภาพ หรือกลุ่มฮาร์ดคอร์ ขณะที่ตำรวจอาจทำงานไม่เหมือนทหาร หรืออาจจะยังทำไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และตำรวจจำนวนมากก็ถูกดึงไปทำงานดูแลความสงบเรียบร้อยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย

ทั้งหมดนี้เชื่อได้ว่า การก่อเหตุมีการเตรียมการไว้ก่อนนานพอสมควร มีการเทสติ้งไว้แล้ว เตรียมคนพร้อม เมื่อเจอช่องว่าง โดยเฉพาะน่าจะรู้เรื่องภายในของรัฐบาล ทั้งการส่งมอบภารกิจ กกล.รส. การบังคับบัญชาก็เปลี่ยนจากรองนายกฯเป็นนายกฯ เรียกว่ามีทั้งการถ่ายโอนกำลัง และสลับสายการบังคับบัญชา ที่สำคัญที่สุดยังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วย แม้นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะยังอยู่ครบ แต่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม

อาจารย์ปณิธาน สรุปทิ้งท้ายว่า หากดูรูปการณ์ภายนอก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือพื้นฐานของการก่อความไม่สงบ เรียกว่าเป็นการก่อเหตุตามตำรา มุ่งสร้างความตื่นตระหนก และหวังผลสะเทือนไปยังรัฐบาลโดยตรง ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระหนักทันที แทนที่จะได้บริหารบ้านเมือง ก็ต้องมาพะวงเรื่องนี้ ถ้าจับกุมผู้ก่อเหตุไม่ได้จะยิ่งหนัก แต่ครั้งนี้ยังโชคดีที่จับกุมได้บางส่วน แต่จุดเกิดเหตุและแผนการก่อเหตุ สะท้อนว่าคนวางแผนรู้กลไกภายในเป็นอย่างดี รู้จุดอ่อน จุดแข็ง ของงานความมั่นคง ก่อนกำหนดจังหวะเวลาก่อเหตุอย่างแม่นยำ


กำลังโหลดความคิดเห็น