xs
xsm
sm
md
lg

การคืนสิทธิหมอพื้นบ้านเกือบ 4 พันคน คือ “ก้าวแรก” ของการวัดความจริงใจจาก อนุทิน ชาญวีรกูล/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ต้องชื่นชมและยกย่องในความกล้าหาญของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามคำร้องขอของภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทวงคืนสถานภาพของ “หมอพื้นบ้าน” ให้กลับคืนมาดังเดิม เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

ประกาศดังกล่าวถือเป็นการ “ลงนามฉบับแรก” ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีความเข้าใจว่าหมอพื้นบ้านนั้นมีความสำคัญอย่างไร และมีผลกระทบต่อกัญชาอย่างไร และเหตุในประกาศฉบับดังกล่าวนี้ถือเป็น “ก้าวแรก” ที่วัดใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดำเนินการในเรื่องนโยบายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในลักษณะใด นั้นอยู่ที่หัวใจสำคัญของคุณสมบัติประการหนึ่งของความเป็นหมอพื้นบ้านที่แตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์อื่นๆอย่างชัดเจน คือ

“ไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ หรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมา”

ดังนั้นโดยคุณสมบัติข้อนี้แล้ว “หมอพื้นบ้าน” หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้เหตุผลความเป็นหมอพื้นบ้านบังหน้าแต่แฝงด้วยผลประโยชน์ทางการค้าหรือทางพาณิชย์ก็ย่อมมีสิทธิถูกพิจารณาทบทวนเพิกถอนใบรับรองความเป็นหมอพื้นบ้านในภายหลังได้เช่นกัน

ภายใต้ข้อจำกัดด้วยงบประมาณภายใต้เงื่อนไขที่ว่าด้วยเรื่องหมอพื้นบ้านไม่สามารถดำเนินการรักษาเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือทางพาณิชย์ได้ “หมอพื้นบ้าน” จึงย่อมไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้จำนวนมากๆ และส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหลักอย่างอื่น เพราะหากมีผู้ป่วยมากเกินไปก็คงจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะไปแจกยาหรือมีกำลังมากพอที่จะรักษาคนไข้จำนวนมากๆ ได้

ยกเว้นว่ามีผู้ศรัทธาเลื่อมใสหมอพื้นบ้านคนนั้นสมัครใจบริจาคงบประมาณและปัจจัยต่างๆ รวมถึงสมุนไพรหรือกระบวนการผลิตยาได้อย่างเพียงพอ ซึ่งในกรณีเช่นนั้น หากหมอพื้นบ้านไม่มีการค้าแฝงอยู่เบื้องหลัง ก็คงจะต้องได้รับการยอมรับและศรัทธาจากประชาชนจำนวนมากจึงจะสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้

แต่กว่าจะได้เป็นหมอพื้นบ้านได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะนอกจากจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนในหมู่บ้านแล้ว ยังจะต้องได้รับการยอมรับจากหมอแพทย์แผนไทยในพื้นที่ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐให้การรับรองด้วย

ยังไม่นับว่าหมอพื้นบ้านบางคนมีความรู้การแพทย์แผนไทยอย่างลึกซึ้งในระดับครูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแต่ว่าไม่มีความประสงค์ที่จะไปเรียนหนังสือหรือเข้าสู่ระบบการสอบเพื่อให้คนอื่นมายอมรับในคุณสมบัติความเป็นแพทย์แผนไทยของตัวเอง

ถ้ามีคนมีคุณสมบัติอย่าง“หมอพื้นบ้าน” จำนวนมากๆ คนที่ได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นประชาชนและผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการรักษาที่ไม่สิ้นเปลืองและมีความไว้วางใจในการรักษาแบบพื้นบ้านได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองเมื่อปี พ.ศ. 2554 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 เพื่อออกระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2554 และรวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555

ด้วยระเบียบของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้รับรองหมอพื้นบ้านไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 3,986 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี อาจารย์เดชา ศิริภัทร ซึ่งได้ถูกรับรองเป็นหมอพื้นบ้านตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562

ในเวลาต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 3 ว่า

“วิชาชีพการแพทย์แผนไทย” หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์

นั่นหมายถึงว่าการประกอบวิชาชีพที่สภาแพทย์แผนไทยจะออกใบรับรองได้นั้นมีใบประกอบวิชาชีพ 2 ประเภทเท่านั้นคือ 1. วิชาชีพการแพทย์แผนไทย และ 2. วิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ซึ่งจะเห็นได้ว่าสภาแพทย์แผนไทยไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบประกอบวิชาชีพหรือใบรับรอง “หมอพื้นบ้าน”ได้เลย

อย่างไรก็ตามมีคำศัพท์ใน พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 อาจสร้างความสับสนให้กับผู้ที่อ่านกฎหมายฉบับนี้เพราะมีความหมายใกล้เคียงกันก็คือ การแยกแยะคำว่า “การแพทย์พื้นบ้านไทย” กับ “หมอพื้นบ้าน” ให้เป็นคนละคำกันและให้ความหมายของการได้มาในทางกฎหมายไม่เหมือนกัน ดังนี้

“การแพทย์พื้นบ้านไทย” เป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่คณะกรรมการสภาแพทย์แผนไทยมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อออกประกาศกำหนด “ใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประเภท การแพทย์พื้นบ้านไทย” ปรากฏตามมาตรา 4(1) ของ พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา ๔ วิชาชีพการแพทย์แผนไทยตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วย

(๑) การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย การนวดไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย หรือการแพทย์แผนไทยประเภทอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ”

ซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีประกาศกำหนดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทยว่าด้วยเรื่อง “ใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประเภท การแพทย์พื้นบ้านไทย” แต่ประการใด

ส่วน “หมอพื้นบ้าน” ได้ถูกกำหนดเอาไว้ว่าเป็นกลุ่มที่มี “ข้อยกเว้น” ว่าจะ “ไม่มีความผิด” หากประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย โดย “หมอพื้นบ้าน” นั้นจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขกำหนดขึ้นมาโดยการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งปรากฏใน มาตรา 31 (7) ของ พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยการควบคุมการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ว่า

“มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ กระทําการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือการประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทยประยุกต์ เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้...

(๗) หมอพื้นบ้าน ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น

ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่าสิบปีเป็นที่นิยม ยกย่องจากชุมชน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอให้หน่วยงานที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดเป็นผู้รับรอง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “หมอพื้นบ้าน” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 สภาแพทย์แผนไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลย ไม่เกี่ยวข้องแม้กระทั่งคำแนะนำของสภาการแพทย์แผนไทย เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องทำระเบียบโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเอาเองเท่านั้น

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ต่อมาก็คือ “หมอพื้นบ้าน” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 นั้นจะต้องเป็นการประกาศระดับระเบียบกระทรวงซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นผู้ลงนาม แต่ในขณะที่ “หมอพื้นบ้าน” ที่เคยทำมาก่อนหน้านั้นเป็นหมอพื้นบ้านที่มีการประกาศระเบียบในระดับกรมฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นผู้ลงนาม ภายใต้ระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2554 และรวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 นั้น จะมีการเปลี่ยนผ่านของกฎหมายในเรื่องนี้ อย่างไร?

ปรากฏว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ในมาตรา 62 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา ๖๒ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นํากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพการแพทย์แผนไทย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ต้องไม่เกินสองปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

กฎหมายในมาตราดังกล่าวข้างต้นมีความชัดเจนว่าในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ที่ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาที่ผ่านมา ก็ต้องให้ใช้ระเบียบเดิมมาบังคับใช้โดยอนุโลม นั่นหมายความว่าใบรับรองของหมอพื้นบ้านยังคงใช้ได้อยู่เช่นเดิม และบังคับว่าหากจะมีระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามจะต้องกระทำภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

และเนื่องจาก พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ดังนั้น หากจะมีระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษานั้น จะต้องกระทำการก่อนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้มีการประกาศระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ภายใน 2 ปี ตามพระราชบัญญัตินี้แต่ประการใด

เพราะกว่าที่จะมีการประกาศระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน ซึ่งลงนามโดยนายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และกว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดให้ต้องไม่เกินวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ถึง 4 ปี 3 เดือน 10 วัน

หรือหากจะนับจากวันที่ พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 เร่ิมใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ไม่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนใดมาก่อนที่ลงนามประกาศระเบียบใหม่ว่าด้วยเรื่องหมอพื้นบ้านเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาเลยเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน 10 วัน

มีคำถามอยู่ว่าเหตุใดและมีวาระอย่างไรที่เป็นเหตุทำให้ นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งจะลงนามและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเอาในปีนี้?

และเมื่อไม่ได้มีการประกาศระเบียบใหม่ซึ่ง “ต้อง” กระทำการภายใน 2 ปี ดังนั้น “หมอพื้นบ้าน” ซึ่งได้มาตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2554 และรวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 ก็ต้องถูกรับรองไปโดยปริยายอยู่แล้ว หากมีระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นในภายหลังแล้วมา “ลิดรอนสิทธิ” ใดๆ ผู้ที่เคยได้ใบรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่อาจถูกการฟ้องร้องเอาได้

โดยเฉพาะ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2562 ซึ่งลงนามโดยนายปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 มิถุนายน 2562 นั้น ได้มีบทเฉพาะกาลเอาไว้ในข้อที่ 47 ว่า

“ข้อ ๔๗ ให้หน่วยงานนำรายชื่อผู้ได้รับการรับรองหมอพื้นบ้าน ตามระเบียบกรมพัฒนา การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๕๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ท่ีมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนี้ เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในโอกาสแรก”

ความหมายก็คือทบทวนระเบียบข้อความนี้อาจถูกตีความได้ว่าให้ทบทวนคุณสมบัติหมอพื้นบ้านใหม่หมดหรือไม่?

หนึ่งในกลุ่มคนที่ตีความเช่นนั้นก็คือ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ประชุมพิจารณาตำรับยาแผนไทย ที่มีกัญชาปรุงผสมเฉพาะรายของหมอพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 แล้วมีมติยังไม่รับรองน้ำมันกัญชาสูตรของหมอพื้นบ้าน อ.เดชา ศิริภัทร ด้วยเหตุผลว่า อ.เดชา ศิรภัทร ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบของกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562 ยังไม่เป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบกระทรวงฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562

มันเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยออกระเบียบว่าด้วยหมอพื้นบ้านมาเป็นเวลาา 6 ปี 3 เดือน 10 วัน นับแต่วันที่มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 แล้วมาออกระเบียบหมอพื้นบ้านฉบับใหม่ในจังหวะที่มีกระแสเรื่องกัญชากับหมอพื้นบ้านที่ชื่อ อ.เดชา ศิริภัทร ซึ่งแจกกัญชาให้กับผู้ป่วย

บังเอิญ ระเบียบหมอพื้นบ้านฉบับใหม่ ออกมาในจังหวะภายหลังจากการที่ อ.เดชา ศิริภัทร ได้ใบรับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562

บังเอิญ ระเบียบหมอพื้นบ้านฉบับใหม่ออกมาในจังหวะภายหลังจากการที่ อ.เดชา ศิริภัทร ได้สอบผ่านการฝึกอบรมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในชุดแรกแล้ว

บังเอิญ ระเบียบหมอพื้นบ้านฉบับใหม่มีผลบังคับใช้วันที่ 10 มิถุนายน 2562 แต่สูตรน้ำมันกัญชาของอ.เดชา ศิริภัทร ได้ยอมปรับปรุงจากการใช้แนฟทาเป็นสารละลาย ให้มาเป็นการหุงด้วยน้ำมันมะพร้าว ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ 2 ชุด ของ กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกแล้ว กำลังจะเข้าพิจารณาโดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562

บังเอิญว่า อ.เดชา ศิริภัทร เป็นหมอพื้นบ้านซึ่งไม่สามารถจำหน่ายกัญชาเพื่อเชิงพาณิชย์ และทำได้แต่แจกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าจะทำให้มีคนเสียผลประโยชน์จากการขายหรือไม่?

เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในความเคลือบแคลงสงสัยในความบังเอิญตามข้างต้นนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจในก้าวแรกด้วยการแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคืนสิทธิให้กับหมอพื้นบ้าน 3,986 คน ลงนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 แก้ไขบทเฉพาะกาลว่า

“ข้อ ๔๗ ให้หมอพื้นบ้านตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๔๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ได้รับการรับรองไว้แล้ว เป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบนี้

โดยให้ใช้หนังสือรับรองระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๕๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ แทนหนังสือรับรองหมอพื้นบ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. ๒๕๖๑ จนกว่าจะหมดอายุ”

มีคำถามว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์หมอพื้นบ้านเหนือกว่าคนในวิชาชีพอื่นหรือไม่? ก็ขอให้พิจารณาเทียบเคียง “บทเฉพาะกาล” ระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่ของ พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ก็มีการรับรองสถานภาพการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์โดยปริยายเช่นกันว่า

“มาตรา ๕๙ ผู้ใดที่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยหรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ตามพระราชบัญญัตินี้”

การคืนสิทธิของหมอพื้นบ้านจึงเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับหมอพื้นบ้านไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น จริงหรือไม่?

และสะท้อนให้เห็นว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับฟังเสียงภาคประชาสังคมและหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการส่งสัญญาณแรกต่อข้าราชการกระทรวงสาธาณสุขให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนตามนโยบายใหม่ และแสดงความจริงใจต่อประชาชน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังจะต้องฝ่าด่านที่ยากเย็นแสนเข็ญอีกมากเพื่อทวงคืนกัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

ซึ่งตราบใดที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังคงยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน ก็เชื่อมั่นได้ว่าประชาชนก็จะเป็นกำลังใจและสนับสนุนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เดินหน้าจนสำเร็จตามที่สัญญากับประชาชนเอาไว้อย่างแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กำลังโหลดความคิดเห็น