xs
xsm
sm
md
lg

แถลงนโยบายต่อรัฐสภา : ทำสัญญากับประชาชน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


ก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ รัฐบาลไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตยหรือในระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย จะต้องแถลงนโยบายเพื่อให้ประชาชนทราบว่า จะดำเนินการบริหารประเทศในแนวทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านที่สำคัญที่ทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ส่วนในด้านอื่นๆ อาจมีความแตกต่างกันบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ก่อนที่จะได้รับเลือกเข้ามาได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในเรื่องใด ก็จะนำเรื่องนั้นมาเป็นนโยบายเพื่อได้เป็นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 25-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลผสม 20 พรรคภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐได้ทำการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยนโยบายหลากหลายประการ แต่ที่น่าจะมีอุปสรรคในการดำเนินงาน และยากที่ทำให้บรรลุเป้าหมายตามพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชน และนโยบายที่ว่านี้ ถ้าอนุมานโดยอาศัยตรรกศาสตร์แล้วมีอยู่ 4 ประการคือ

1. การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400-425 บาท ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้ปราศรัยหาเสียงไว้ แต่เมื่อนำมาเป็นนโยบายรัฐบาล และจะต้องดำเนินการให้เกิดผลอย่างจริงจัง คงจะทำได้ยากในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากกำลังซื้อทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่ค้าของไทยลดลง ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จึงเท่ากับเพิ่มภาระทางด้านทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการต้องแบกรับ และไม่อาจเพิ่มราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งค่าแรงต่ำกว่าได้ จึงอนุมานได้ว่าในทันทีที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะมีเสียงค้านจากผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมแน่นอน

ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะมีแรงกดดันจากผู้ใช้แรงงาน และที่ยิ่งกว่านี้ ถ้ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นเหตุให้พนักงานรัฐวิสาหกิจนำไปเป็นเหตุอ้างในการขอเพิ่มเงินและค่าจ้าง ถ้ารัฐยอมปรับทั้งค่าแรงขั้นต่ำ และเงินรวมถึงค่าจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจจะนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และนี่เองอาจเป็นที่มาของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โดยมีฝ่ายค้านเป็นแกนนำ

2. กัญชาเสรี ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยได้ปราศรัยหาเสียงไว้ โดยลงรายละเอียดถึงขั้นให้ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น ด้วยหวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร แต่เมื่อมาเป็นนโยบายรัฐบาล และมีเสียงคัดค้านจากประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าจะทำให้คนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นเสพติดกัญชา และกลายเป็นปัญหาสังคม เฉกเช่นกระท่อมซึ่งเป็นปัญหาในหมู่วัยรุ่นในทางภาคใต้อยู่ในขณะนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะมีแนวทางดำเนินการกับการอนุญาตให้ปลูกกัญชาเสรี โดยมุ่งเน้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ แต่ห้ามมิให้นำไปเสพเพื่อสันทนาการในทำนองเดียวกันกับยาอี เป็นต้น เพราะจะต้องไม่ลืมว่า กัญชาเป็นพืชล้มลุกปลูกง่าย โตเร็ว และใช้พื้นที่ไม่มากก็ปลูกได้ จึงยากแก่การควบคุมในการนำไปใช้ให้จำกัดอยู่วงการแพทย์เพียงอย่างเดียว ตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้

ส่วนประเด็นที่จะส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรายได้เสริมนั้น บอกได้เลยว่าเป็นไปได้ยาก เมื่อทุกคนปลูกได้ปริมาณที่ผลิตได้ ก็จะล้นตลาดในทำนองเดียวกันกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ดังนั้นราคาขายจะแพงเท่ากับที่ขายในตลาดมืด ในขณะที่มีกฎหมายห้ามคงเป็นไปได้ยาก

3. การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายขั้นพื้นฐานของรัฐบาลทุกสมัย ทั้งในระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่ถึงกระนั้น ไม่เคยปรากฏว่ามีรัฐบาลชุดไหนป้องกันมิให้เกิดการทุจริตได้เท่าที่ควรจะเป็น กระทำได้ยากมากก็แค่ทำให้การทุจริตลดลง โดยการดำเนินการอย่างจริงจังกับการทุจริตเท่านั้น แต่มิได้ป้องกันมิให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลชุดนั้นๆ บริหารประเทศอยู่

ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ก็ทำได้ไม่ต่างไปจากชุดก่อนๆ ในอดีตที่ผ่านมา หรืออาจแย่กว่าถ้าเปรียบเทียบกับศักยภาพของ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือก็ยังป้องกันการทุจริตไม่ได้ เมื่อมาเป็นรัฐบาลผสมและไม่มีมาตรา 44 จะป้องกันได้ดีกว่าได้อย่างไร

4. การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายของพรรคฝ่ายค้าน และเป็นเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอในการเข้าร่วมรัฐบาล

แต่เมื่อพิจารณาจากภาวะแวดล้อมทางการเมืองแล้ว นโยบายนี้ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากทั้งพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.ได้รับประโยชน์ทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้มีหรือที่พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.จะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ตนเองเสียประโยชน์ และถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น