xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เศรษฐกิจ กำกับ สานต่อ นโยบาย คสช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ครม. เศรษฐกิจ เกิดขึ้น ครั้งแรก ปลายปี 2523 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการกำกับนโยบายเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็น กรรมการ และ เลขานุการ มีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ร่วมเป็นกรรมการ

รัฐบาลพลเอกเปรม เป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค มีพรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย แบ่งกันคุมกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เป็นของพรรคคกิจสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตร พรรคชาติไทยเอาไป โดยมีนายบุญชู โรจนเสถียร หัวหน้าพรรคกิจสังคม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ

ในทางปฏิบัติ แม้นายบุญชู จะอยู่ในสถานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีอำนาจคุมกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดได้ เพราะเป็นโควตาของพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาล ไปล้วงลูกสั่งการไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว พลเอกเปรม ยังตั้งทีมที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ คอยกลั่นกรอง โครงการของแต่ละกระทรวง และเสนอแนะในเชิงนโยบาย

การบริหารงานเศรษฐกิจจึงไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างทำ สนองนโยบายของพรรคเป็นหลัก จึงเป็นที่มาของ การตั้ง ครม. เศรษฐกิจ เพื่อกำกับให้แต่ละกระทรวงเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนจะเสนอเรื่องเข้าสุ่ ครม. ก็ใช้ ครม เศรษฐกิจ เป็นกลไกกลั่นกรอง ชั้นหนึ่ง โดยที่ประชุมนอกจากรัฐมนตรีแล้ว ยังยอมให้ คนนอก คือ ที่ปรึกษานายกฯ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องนั้นๆ เข้ามารับฟัง ให้ข้อคิดเห็น ตามความจำเป็นได้ด้วย

ครม. เศรษฐกิจ ที่ การประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลปัจจุบัน วันอังคารที่ผ่านมา เห็นชอบให้ตั้งขึ้น ก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือ เพื่อให้ นโยบายทางเศรษฐกิจ ของแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นเนื้อเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ เป็นเวทีกลั่นกรอง หารือ เรื่องสำคัญๆ ด้านเศรษฐกิจ ก่อนเสนอเข้าสุ๋ ครม.ใหญ่

รัฐบาลนี้ ก็ไม่ต่างกับรัฐบาลพลเอกเปรม เมื่อสี่ทศวรรษก่อน คือ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก ไมได้มาจากพรรคการเมือง เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค กระทรวงเศรษฐกิจ เป็นโควตา ถูกแบ่งไปอยู่กับพรรคต่างๆ พรรคพลังประชารัฐดู กระทรวงการคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม พรรคภูมิใจไทย เอา กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไป พรรคประชาธิปัตย์ ได้โควตา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตร ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา คุมกระทรวงทรัพยากร

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้จะเป็นรองนายก หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเหมือนเดิม แต่อำนาจไม่เหมือน หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในรัฐบาล คสช. เพราะไม่สามารถลงไปล้วงลูก สั่งการ กระทรวงที่อยู่ในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆได้โดยตรง ทำได้อย่างมากก็แค่ “ กำกับดูแล”

นอกจากนี้ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะ โครงการอีอีซี และ โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกทม. มอเตอร์เวย์ ท่าเรือฯลฯ ให้เกิดขึ้น เรียกว่า แทบจะไม่เหลือโครงการใหญ่ๆ ให้นักการเมือง ที่ได้โควตา กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ ไป

อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ ยังไม่จบ บางโครงการยังอยู่ในขั้นตอน ประมูล บางโครงการประมูลแล้ว ได้ตัวผุ้รับสัมปทานแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา นโยบายบางอย่าง ที่ รัฐบาลที่แล้ว มีมติให้ทำ ยังไมได้ถูกนำไปปฏิบัติ ก็บังเอิญ เป็นจังหวะของ ช่วง เปลี่ยนผ่าน ทางการเมือง ที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนเดิม ต้องแบ่งอำนาจไปให้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

นโยบาย โครงการที่เกิดขึ้น ในยุค คสช. ต้องได้รับการสานต่อ จนบรรลุเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆโครงการก็อยุ่ในสังกัด ของ กระทรวงที่ไม่ได้อยุ่ในความดูแลของพรรคพลังประชารัฐ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจสั่งไม่ได้แล้ว

ครม. เศรษฐกิจ จึงเป็นกลไก ที่จำเป็น ในการผลักดันนโยบาย โครงการต่างๆ ที่รัฐบาล คสช. ริเริ่มไว้ ให้เดินหน้าต่อไป ไม่ถูกพรรคการเมือง ร่วมรัฐบาล อ้างความเป็นเจ้ากระทรวงที่มีหน้าที่ อำนาจ รับผิดชอบนโยบาย โครงการเหล่านี้ แทรกแซง รื้อ ทบทวน ดังเช่น ที่กำลังเกิดกับ นโยบายแก้ไขข้อพิพาทค่าโง่ทางด่วน ที่ตกค้างมาจากรัฐบาลก่อน ในขณะนี้

ครม. เศรษฐกิจ มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด และรองนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิ เป็นกรรมการ และมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งเป็นเลขาฯ รองนายกสมคิด เป็นกรรมการ และเลขานุการ ช่วยกันกำกับ สานต่อ นโยบาย โครงการเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุค คสช. ให้เดินหน้าต่อไปได้ ในรัฐบาลนี้ที่มีพรรคการเมืองร่วมใช้อำนาจ


กำลังโหลดความคิดเห็น