xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พะยูน – วาฬ – เลียงผา ตาย(ผิด)ธรรมชาติ สังเวยกิเลสมนุษย์?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่ต้นปี 2562 มีรายงานสัตว์ทะเลหายากในแถบทะเลอันดามันตายต่อเนื่อง เริ่มจาก พะยูน ตายแล้ว 15 ตัว โดยในจำนวนนี้พบความผิดปกติคือถูกถอดเขี้ยวออกไป ซึ่ง เป็นไปได้สูงว่าเป็นการลักลอบนำไปทำเครื่องรางของขลังมหาเสน่ห์ ด้วยเหตุที่มีการซื้อขาย “เขี้ยวพะยูน” และ “น้ำตาพะยูน” อยู่ที่หลักหมื่นหลักแสนบาท

เช่นเดียวกับ กรณีสัตว์คุ้มครองอย่าง “วาฬหัวทุย” ที่พบเกยตื้นตายฟันกรามหายเกลี้ยง ซึ่งฟันกรามของวาฬหัวทุยมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ไม่ต่างจากเขี้ยวพะยูน รวมทั้ง กรณีเรือประมงโอนสัญชาติจากไทยไปเป็นมาเลเซีย จับ “ฝูงโลมา” นับ 10 ตัวที่ติดอวนขึ้นเรือ และกรณีการล่า “เลียงผา” พบซากถูกยิงบริเวณเชิงเขาถ้ำเขาพลูสถานที่ตั้งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดชุมพร

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ต้องบอกว่าเป็นวาระเร่งด่วนท้าทายฝีมือรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม อย่าง “นายวราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งได้เผยความรู้สึกเอาไว้ว่า “...ผมเห็นแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก”

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2562 มีพะยูนตายถึง 15 ตัว ซึ่งอัตราการตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 12 ตัวต่อปี ที่สำคัญคือมีรายงานว่า พบซากพะยูน 5 ตัวในเวลาที่ไม่ห่างกันเท่าใดนัก

27 มิ.ย. 2562 ลูกพะยูน อายุไม่ถึง 3 เดือน ตาย บริเวณเกาะเม็ง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง
5 ก.ค. 2562 พะยูน อายุประมาณ70 ปี ตาย บริเวณอ่าวสิเกา พบความผิดปกติถูกถอดเขี้ยว
12 ก.ค. 2562 พะยูนตัวผู้ ตาย บริเวณบ้านคลองนิน เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ พบความผิดปกติถูกถอดเขี้ยว
14 ก.ค. 2562 พะยูน น้ำหนักกว่า 400 กก. ตาย บริเวณเกาะปู อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่
14 ก.ค. 2562 ลูกพะยูน อายุ 6 เดือน ตาย บริเวณแหลมจูโหยกับเกาะนก จ.ตรัง

มีการพิสูจน์ซากพะยูนพบว่า พะยูน 4 ตัวมีการตายแบบเฉียบพลัน เนื่องจากมีการดำรงชีวิตและกินอาหารตามปกติ แต่มีร่องรอยของเชือกที่ผิวภายนอก และพะยูนอีก 1 ตัว มีการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อก่อนตาย แต่ไม่พบค่าโลหะหนักที่แตกต่างไปจากปกติ

สำหรับซากพะยูนตัวที่ถูกถอดเขี้ยวออกไปนั้น ผลการผ่าจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลภูเก็ต - กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก พบว่าร่างกายสมบูรณ์ ผ่าท้องดูกระเพาะและลำไส้ พบสารอาหารสมบูรณ์ ไม่พบรอยช้ำหรือการถูกทำร้าย สภาพซาก สะดือแตก และลำไส้ทะลัก แต่ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ได้ เพราะซากพะยูนเริ่มเน่าเปื่อย

ส่วนเขี้ยวที่ถูกตัดไป สันนิษฐานว่าเป็นการตัดไปภายหลังการตาย เพราะหากโดนทำร้ายหรือล่า และหรือตัดเขี้ยวก่อนตายจะต้องมีร่องรอยบอบช้ำ หรือร่องรอยอุปกรณ์จับปลาปรากฏอยู่ จึงลงความเห็นว่าเป็นการตายอย่างเฉียบพลันโดยผิดธรรมชาติ

ทั้งนี้ สถานการณ์พะยูนในปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยมีประชากรจากการสำรวจประมาณ 250 ตัว อาศัยอยู่บริเวณทะเลตรังและทะเลกระบี่ สำหรับสาเหตุการตายของพะยูนพุ่งเป้าไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การทำประมงผิดกฎหมาย ที่อาจจะไปกระทบการเป็นอยู่ของพะยูน เช่นการลักลอบระเบิดปลาในทะเล 2. อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพะยูน เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหากินในบริเวณน้ำตื้น 3. การล่าเพื่อต้องการอวัยวะบางส่วนไปครอบครองตามความเชื่อทางไสยศาสตร์

อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อผิดเพี้ยนในทางไสยศาสตร์ว่า เขี้ยว - น้ำตาพะยูน มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม รวมทั้ง มีกลุ่มคนเชื่อว่านำไปทำยาโป๊ว แม้กระทั่ง รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์ยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง
ส่วนจะมีขบวนการไล่ล่าพะยูนเพื่อเอาอวัยวะทำตามใบสั่งลูกค้าหรือไม่นั้น อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ เปิดเผยว่าคงไม่มีขบวนการไล่ล่าพะยูน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะไม่เห็นซากเห็นตัว ที่เห็นเป็นซากพะยูนตายจากถูกอวนเรือประมง หรือพะยูนไล่กันเองจนมีบาดแผลถูกคลื่นซัดเกยหาดจนเสียชีวิต เมื่อตายแล้วคนเข้าไปพบเห็นแต่ช่วยไม่ทันก็จะลอบตัดเขี้ยวออกไป

“ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของพวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัดเอาไปให้เจ้านาย ก็ให้คิดกันเอาเองว่าเป็นพวกไหน เพราะคนพวกนี้ชอบมากเขี้ยวพะยูน เอาไปทำหัวแหวนสีเหลืองอร่ามเป็นเงามัน ที่ผ่านมาในท้องตลาดมีการรับซื้อ ยิ่งเขี้ยวพะยูนอายุมากยิ่งแพง เพราะเขี้ยวใหญ่” นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ เปิดเผย

ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ความเชื่อในคนบางกลุ่มห้ามไม่ได้ แต่อย่าเอาความเชื่อมาทำลายทรัพย์สมบัติของประเทศ และของโลก สัตว์ทะเลหายาก พะยูน วาฬ มีความสำคัญมากกว่าการนำไปครอบครอง เหมือนคนบางกลุ่มที่อยากมีเขี้ยวเสือ ก็ไม่เห็นมีใครอยู่รอด”

ส่วนถามว่ามีขบวนการล่าพะยูนลับลอบตัดเขี้ยวพะยูน - น้ำตาพะยูนตามใบสั่งหรือไม่ ต้องบอกว่ามีหลายประเด็นต้องตรวจสอบ เพราะนอกจากประเด็นปัญหาลักลอบล่าเขี้ยวพะยูน การตายของพะยูนอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสารพิษในน้ำ แม้กระทั่งการป่วยล้มตายตามธรรมชาติ การตายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของพะยูนยังคงอยู่ระหว่างการหาสาเหตุที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือในมาตรการดูแลสัตว์ทะเลหายาก “พะยูน” เบื้องต้นดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น มีการดูแลพื้นที่แหล่งอาหาร การลาดตระเวน ประชาสัมพันธ์ผ่านทางประมง และผู้นำท้องถิ่นให้ประชาชนได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแล ระยะกลาง จะมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระยะยาว จะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งจะดำเนินการประกาศเขตคุ้มครองที่ชัดเจนในระยะไม่เกิน 5 ปี

กล่าวสำหรับการล่าสัตว์ป่า กรณี “เลียงผา” สัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์ถูกยิงตาย บริเวณเชิงเขาหลังวัดถ้ำเขาพลู หมู่ 3 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามี “เบื้องหน้า-เบื้องหลัง” อะไรหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ตัดแยกเอาหัวออกไป ขณะที่ส่วนลำตัวขุดหลุมฝังกลบไว้ รวมทั้งห้ามไม่ให้ชาวบ้านห้ามเข้าไปดูและห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด เป็นเหตุให้ชาวบ้านเกิดข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล กระทั่ง มีการประสานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

นายพรชัย สิทธิเกษตร หัวหน้าสายตรวจคุ้มครองสัตว์ป่าประจำ จ.ชุมพร อธิบายถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับเลียงผา สัตว์สงวนคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครองไม่ได้โดยเด็ดขาด ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเพื่อลงมาตรวจสอบและร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าทำผิดระเบียบตามขั้นตอนของกฎหมาย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวพยายามชี้แจงอ้างว่าไม่ทราบขั้นตอนดังกล่าว ทำไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ ส่วนการตัดหัวเลียงผาไปเก็บไว้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ก็จะรอส่งไปชันสูตรกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุการตายเป็นหลักฐานในการสืบสวนของตำรวจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่อาจมีความไม่ชอบมาพากลอย่างเผ็ดร้อน ส่วนพรานใจโหดมือสังหารเลียผายังคงอยู่ระหว่างติดตัวตามมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรง ตามมาตรา 12 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีโทษจำคุก 3 - 15 ปี ปรับ 300,000-1,500,000 บาทสำหรับสัตว์คุ้มครอง และโทษสำหรับการล่าสัตว์คุ้มครองคือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท ส่วนในกรณีครอบครองโทษครอบครองคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ปัจจุบันสัตว์ทะเลที่เป็นสัตว์สงวน ได้แก่ พะยูน, วาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ, ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง

สัตว์ทะเลที่เป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ เต่าทะเลที่เหลือทุกชนิด โลมา-วาฬที่เหลือทุกชนิด กระเบน, แมนต้าปีศาจ, โรนิน, ฉนาก, กระเบนเจ้าพระยา, ปะการัง, กัลปังหา, หอยมือเสือ ฯลฯ

สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์สงวน ได้แก่ แรด, กระซู่, กูปรี, ควายป่า, ละองหรือละมั่ง, สมัน, เนื้อทราย, เลียงผา, กวางผา ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น