xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง : การข้ามพ้นความเป็นซ้ายและขวา  (2)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
 
สัปดาห์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ รูปแบบที่สามของแนวคิดอวสานนิยม อันได้แก่ แนวคิดที่ว่าด้วยการข้ามพ้นการแบ่งขั้วระหว่างความเป็นซ้ายและขวา (beyond left and right) แนวคิดนี้มีพื้นฐานความเชื่อว่า สังคมยุคใหม่มีสิ่งที่ดำรงอยู่ภายในสังคมที่เรียกว่า “อภิบรรยาย” (meta-narratives) ใน เชิงอุดมการณ์ ซึ่งครอบงำความเชื่อของสังคมอย่างมั่นคงและยาวนานในยุคแห่งสมัยใหม่นิยมถึงวาระเสื่อมคลายมนต์ขลังและกำลังแตกสลาย   ลัทธิและคำสอนทางการเมืองที่แพร่หลายมานานนับศตวรรษได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและนักการเมืองจำนวนมากว่ากลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญต่อไป

แนวคิดการข้ามพ้นความเป็นซ้ายและขวาเกิดขึ้นและได้รับการพัฒนาจากความคิดแบบภาวะหลังความสมัยใหม่ของสังคม   ภายใต้สภาวะหลังสมัยใหม่นั้น ไม่เพียงแต่อุดมการณ์หลักทั้ง “ซ้าย” และ “ขวา” ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ “เงื่อนไขของภาวะหลังสมัยใหม่” เท่านั้น แต่ยังเกิดปรากฎการณ์ของสิ่งที่เรียก “หลัง-นิยม” (post-isms) ของอุดมการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลาย  เช่น  หลังเสรีนิยม (postliberalism) หลังมาร์กซิสต์นิยม (post-Marxism) และ หลังสตรีนิยม (postfeminism) เป็นต้น    

นักทฤษฎีหลังสมัยใหม่นิยมได้ชี้ให้เห็นว่า “วิถีในการเข้าใจและตีความโลกของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือต้องการเปลี่ยนแปลงจากเดิมแล้ว”  สิ่งนี้สะท้อนการเปลี่ยนผ่านจาก “ภาวะสมัยใหม่นิยม” สู่ “หลังสมัยใหม่นิยม” นั่นเอง 

“ภาวะสมัยใหม่นิยม” ในตะวันตกมีรากฐานจากความคิดและทฤษฎีของยุคแห่งการรู้แจ้งทางภูมิปัญญาที่เชิดชูการอธิบายความจริงด้วยเหตุผลและข้อมูลเชิงประจักษ์และประสบการณ์นิยม ซึ่งเข้ามาแทนที่อารมณ์และความเชื่อศรัทธาในศาสนา  รากฐานของความคิดได้ถูกถ่ายทอดและแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบอุดมการณ์ ซึ่งแข่งขันกันเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับสังคมและชีวิตที่ดี  

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อุดมการณ์เสรีนิยม กับอุดมการณ์มาร์กซิสต์  กล่าวได้ว่า ความคิดทางการเมืองแห่งยุคสมัยใหม่ได้รับการหล่อหลอมโดย “ลัทธิรากฐานนิยม” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า “มีความเป็นไปได้ในการสถาปนาสัจธรรมเชิงภววิสัยด้วยวิทยาศาสตร์และการมีค่านิยมสากลของมนุษย์ และเป็นความเชื่อที่มีความสัมพันธ์กับศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ”

ตรงข้ามกับหลักคิด “สมัยใหม่นิยม” ความคิด “หลังสมัยใหม่นิยม” มีลักษณะของความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญคือ ความเชื่อแบบ “ปฏิ-รากฐานนิยม” (anti-foundationism)   ซึ่งหมายถึง “ความเชื่อที่ตั้งข้อสงสัย” หรือไม่เชื่อใน “อภิบรรยาย” (meta-narratives) หรือทฤษฎีสากลของประวัติศาสตร์ ที่มองสังคมในฐานะองค์รวมที่เป็นเอกภาพอีกต่อไป  นักวิชาการที่สรุปแก่นความคิดของหลังสมัยใหม่นิยมได้อย่างชัดเจนคือ Jean Francois Lyotard (1984) 

การเมืองของประเทศตะวันตกในปลายศตวรรษที่ยี่สิบมีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการแบ่งแยกระหว่างซ้ายและขวาเริ่มเสื่อมคลายลงไป ซึ่งแตกต่างจากช่วงศตวรรษที่19 และช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 ที่มีการแบ่งแยกขั้วอย่างชัดเจน การแบ่งแยกระหว่างอุดมการณ์ซ้ายและขวา ก่อให้เกิดโครงสร้างการวิวาทะของอุดมการณ์อย่างยาวนาน มีการแข่งขันในเรื่องของจุดยืนเกี่ยวกับสภาพสังคมที่ดี ชีวิตที่ดี ลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคล และบทบาทของรัฐ รวมทั้งมีการแข่งขันในการเสนอแนวทางแตกต่างกันสำหรับการแก้ปัญหาเดียวกันด้วย

ปัญหาหลักที่อุดมการณ์ทั้งสองมีมุมมอง จุดยืน และแนวทางแตกต่างกันมากคือ “ทิศทางการพัฒนาสังคมอุตสาหกรรม” ฝ่ายขวาเสนอแนวทาง “ทุนนิยมแบบตลาดเสรี” ดังที่เกิดขึ้นประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในยุโรปตะวันตกหลายประเทศ ขณะที่ฝ่ายซ้ายเสนอแนวทางการวางแผนจากศูนย์กลางและการรวมศูนย์ของรัฐ ดังที่เกิดในประเทศสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออก และประเทศจีน

ตั้งแต่ ทศวรรษที่ 1960 แม้ว่าการเมืองยังอบอวลด้วยกระแสของอุดมการณ์ ทว่าการพัฒนาของอุดมการณ์ทางการเมืองที่นอกเหนือจากอุดมการณ์ซ้ายและขวาแบบเดิมเกิดขึ้นอย่างมากมาย อุดมการณ์ใหม่ ๆ อุบัติขึ้นในสนามการเมือง เช่น อุดมการณ์สตรีนิยม (feminism) นิเวศน์นิยม (ecologism) รากฐานนิยมทางศาสนา (religious fundamentalism) และ พหุวัฒนธรรมนิยม (multiculturalism) เป็นต้น แต่ละอุดมการณ์มีวิธีคิดและแนวทางการแก้ปัญหาต่างกัน ซึ่งเป็นการเปิดฉากสำหรับทิศทางใหม่ของอุดมการณ์ทางการเมือง ทว่าด้วยเหตุผลที่ว่า แต่ละอุดมการณ์มีรากฐานความเชื่อในการนำเสนอวาทกรรมเชิงอุดมการณ์บนพื้นฐานของเพศสภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมและอื่น ๆ ดังนั้นแต่ละอุดมการณ์จึงมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามระหว่างอภิวาทกรรมเชิงอุดมการณ์แบบทุนนิยมและสังคมนิยมดังในอดีตอีกต่อไป

การอธิบายปรากฏการณ์การเมืองที่มีความเสื่อมสลายของการแบ่งแยกระหว่างความเป็นซ้ายและขวามีความหลากหลาย นักวิชาการผู้เรืองนามระดับโลกที่เสนอคำอธิบายเรื่องนี้และได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางก็เห็นจะมี Samuel Huntington (1996) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกา ที่เขียนหนังสือเรื่อง “การปะทะของอารยธรรม และการสร้างระเบียบโลกใหม่” และAnthony Giddens (1994) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เขียนเรื่อง “การข้ามพ้นซ้ายและขวา: อนาคตของการเมืองแบบฐานราก”

Samuel Huntington ได้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีอุดมการณ์เป็นแกนขับเคลื่อนระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม เกิดขึ้นเนื่องจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างกลุ่มประเทศที่ยึดอุดมการณ์ทุนนิยมเป็นหลักนำทางการเมือง ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับกลุ่มประเทศที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ สงครามระหว่างอุดมการณ์ทั้งสองเริ่มจางลงและเลือนหายไปในที่สุด

ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคใหม่ถูกกำหนดโดย “ประเด็นอัตลักษณ์ หรือวัฒนธรรม” ภายใต้มุมมองนี้ ปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นและเห็นรูปลักษณ์และบทบาทในเวทีการเมืองโลกชัดเจน คือ การเติบโตของการเมืองอิสลาม (political Islam) การฟื้นตัวของอารยธรรมจีน และอินเดีย สิ่งเหล่านี้ Huntington เห็นว่าเป็นสิ่งคุกคามอารยธรรมตะวันตก

ด้าน Anthony Giddens มองว่า เกิดสภาวะเหนื่อยล้าสิ้นเรี่ยวแรงในการต่อสู้ของแบบแผนหลักเชิงอุดมการณ์ของทั้งปีกซ้าย และปีกขวา ในแวดวงการพัฒนาวิชาการด้านสังคมวิทยา ซึ่งภาวะเช่นนี้มีความสัมพันธ์กับการอุบัติขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นภาวะทันสมัยระดับสูง” (high modernity) อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนมีมากขึ้นด้วย อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับสิ่งที่ Giddens เรียกว่า “ ระเบียบสังคมหลังประเพณีนิยม” และการขยายตัวของ “การสะท้อนกลับทางสังคม” ซึ่งเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่มีความรู้สึกยินดีเบิกบานกับการมีอิสรภาพมากขึ้น ปัจเจกบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน รสนิยม ความคิดและการระทำทางการเมือง และความปรารถนา ได้มากขึ้นภายในบริบทของการแลกเปลี่ยนและพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ระเบียบสังคมหลังประเพณีนิยมและการสะท้อนกลับทางสังคมได้ทำให้สังคมมีความยืดหยุ่นและซับซ้อนมากขึ้น และส่งผลให้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายเติบโตขึ้นมาและมีพื้นที่ในสนามการเมือง ดังนั้นสภาวะการเมืองจึงกลายเป็น สภาวะที่ “ข้ามพ้นความเป็นซ้ายและขวา” ในแบบเดิม

นอกจากนักวิชาการทั้งสองแล้ว ยังมีนักวิชาการอีกสองคน คือ Sil และ Katzenstein (2010) ซึ่งเขียนหนังสือร่วมกันชื่อ “ข้ามพ้นกระบวนทัศน์: การผสานนิยมในการวิเคราะห์ของการศึกษาการเมืองโลก” ได้ระบุว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาการเมืองโดยการมุ่งไปสู่ “การข้ามพ้นกระบวนทัศน์” หรือการไม่ยึดติดกระบวนทัศน์หรือวิธีในการมองและเข้าใจโลกแบบหนึ่งแบบใดเพียงแบบเดียวอีกต่อไป

นักวิชาการทั้งสองระบุว่า การข้ามพ้นกระบวนทัศน์ ควรดำเนินการทั้งในระดับสาขาทางวิชาการ เช่นการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมือง ควรผสานสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมวิทยาเป็นต้น ในขณะเดียวกัน การข้ามพ้นกระบวนทัศน์ ก็ควรทำในระบบอุดมการณ์หรือทฤษฎีด้วย เพื่อให้สามารถเข้าใจความเป็นจริงทางการเมืองอย่างรอบด้านมากขึ้น ทั้งนี้เพราะสังคมในยุคปัจจุบัน ความเป็นจริงทางการเมืองมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นทั้งในแง่มุมของรูปลักษณ์และความเป็นพหุมิติ จึงไม่มีกระบวนทัศน์ใด หรืออุดมการณ์เพียงหนึ่งเดียว ที่มีพลังในการอธิบายความเป็นจริงที่ซับซ้อนของการเมืองได้

อวสานนิยม แบบข้ามพ้นความเป็นซ้ายและขวา มีนัยแสดงให้เห็นว่า โลกทางการเมืองในยุคปลายศตวรรษที่ยิ่สิบและต้นศตวรรษที่ 21 นั้น มิใช่โลกที่มีการแข่งขันแบบเป็นขั้วความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ซ้ายและขวาดังในอดีตอีกต่อไป หากแต่เป็นโลกที่มีความหลากหลายและซับซ้อนของแนวคิด อุดมการณ์ และกระบวนทัศน์ ที่มีพื้นฐานความเชื่อจากเพศสภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสนา และวัฒนธรรม อุบัติขึ้นในสนามการเมือง อันเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ การเกิดขึ้นของระเบียบสังคมหลังประเพณีนิยม และการสะท้อนกลับทางสังคม ปากฎการณ์เหล่านี้ทำให้ปัจเจกบุคคลมีอิสระในการเปลี่ยนแปลงความคิด อัตลักษณ์ และบรรทัดฐานทางการเมืองและสังคมมากขึ้น ภายในบริบทที่มีการเพิ่มขึ้นของการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ด้วยเหตุที่ความเป็นจริงทางการเมืองมีความซับซ้อนและหลากหลายมิติ การทำความเข้าใจจึงต้องเปิดกว้างทางความคิด เปิดรับความแตกต่างทางความเชื่อและกระบวนทัศน์เข้ามาผสมผสานเพื่อเป็นแนวทางร่วมในการทำความเข้าใจ การยึดติดกับอุดมการณ์หรือความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งตายตัว หรือการพยายามบีบบังคับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองตามอัตตาของตนเองให้เหลือเพียงแค่ “ขั้วความขัดแย้ง” ประเภทที่ว่า “ถ้าไม่ขวา ก็ต้องเป็นซ้าย” ถ้าไม่ใช่ “ประชาธิปไตย ก็เป็น เผด็จการ” หรือ แม้กระทั่งการแบ่งขั้วแบบ “ปฏิ-กษัตริย์นิยม” กับ “กษัตริย์นิยม” ของนักวิชาการและนักการเมืองบางกลุ่ม ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ดูเป็นการลดทอนความจริงทางการเมืองที่ซับซ้อนและหลากหลายให้มลายหายไป

การกระทำดังกล่าวเปรียบประดุจความพยายามสร้างความจริงแบบย้อนกลับ โดยฉายภาพสภาพการเมืองไทยให้กลับไปสู่ยุคสงครามเย็น ซึ่งดูห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงทางการเมืองในยุคศตวรรษที่ 21 อยู่ไม่น้อยทีเดียว (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น