xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ถวายสัตย์16ก.ค. นโยบายเร่งด่วนแก้ศก.-ปากท้อง โพลแก้รธน.ที่มาส.ว.-นายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โปรดเกล้าฯ ครม.ใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ16 ก.ค.นี้ เปิดร่างนโยบายรัฐบาล ลุยแก้ศก.ปากท้อง-พืชผลการเกษตร- ลดเหลื่อมล้ำ ส่วนแก้รธน. ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แม้ปชป.กดดันหนัก ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลบอกระวังตกหลุมพรางฝ่ายค้านสร้างเงื่อนไขแตกแยก ปชป.ชูรัฐ "ประกันค่าแรง 400บาท" ไม่ผลักภาระนายจ้าง เอสเอ็มอี อยู่รอด ขณะที่ "นิด้าโพล" ชี้ควรเร่งแก้รธน. ประเด็นที่มา " ส.ว.-นายกฯ" เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต่างกับการรัฐประหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามโดย นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรัฐมนตรีและการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ด้วยมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งท่านเป็นรัฐมนตรี บัดนี้ ได้พระราชทานราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 ก.ค.62 เวลา 18.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทั้งนี้ ขอให้ไปถึงทำเนียบรัฐบาล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ก่อนเวลา 16.30 น. สำหรับการเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดรถยนต์โดยสารตู้ เพื่อให้รัฐมนตรีเดินทางไปเป็นคณะ โดยจะออกจากทำเนียบรัฐบาล เวลา 17.00 น. และเดินทางกลับพร้อมกันเมื่อเสร็จพิธี

โดยในหนังสือ ได้แจ้งการแต่งกายของคณะรัฐมนตรี คือ เครื่องแบบขาวปกติ และติดเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในหนังสือยังได้แนบเอกสารประกอบด้วย สำเนาเอกสารประกาศพระราชโองการแต่งตั้ง ขั้นตอนการปฏิบัติในการเข้าเฝ้าฯ รวมถึงแผนฝังการเข้าเฝ้าฯ อีกด้วย

เปิดร่างนโยบายรัฐบาล 41 หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการจัดทำร่างนโยบายรัฐบาล ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25ก.ค.นี้ ว่า มีทั้งหมด 41 หน้า เป็นการนำเสนอแบบกว้างๆ โดยนำนโยบายจากทุกพรรคมารวมไว้ แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง นโยบายสำคัญอย่างนโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทย ก็ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายด้วย โดยมีการเขียนภาพรวมไว้กว้างๆ ว่า "สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และให้นำไปใช้ช่วยเหลือในทางการแพทย์ หากจะนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีในกระทรวง"

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถูกใส่อยู่ในหมวดพัฒนาการเมือง โดยร่างนโยบายรัฐบาลส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยมีนโยบายเร่งด่วน 1 ปี กับ 4 ปี เร่งด่วนครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ แก้ปัญหาปากท้อง, แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, การสร้างอนาคตให้ประชาชน และการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า

สำหรับนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องทำทันทีใน 1 ปีแรก คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ จะต้องสานต่อในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ซึ่งต้องทำให้เหมาะสมและเป็นธรรม นโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ และค่าแรงขั้นต่ำ 2. นโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว อาทิ การแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตร การส่งออกสินค้าทางการเกษตร และการทำอุโมงค์ส่งน้ำจากภาคเหนือไปยังภาคอีสาน เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการจัดทำร่างนโยบายนั้น ได้มีความพยายามกดดันอย่างหนัก จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นเงื่อนไขในเรื่องการแก้รธน. ภายใน 1 ปีแรกของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล มองว่าเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำคือ การแก้ไขปัญหาปากท้อง และไม่ต้องการให้มีการเงื่อนไขความขัดแย้ง เพราะจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน พรรคร่วมรัฐบาล จึงเห็นพ้องกันว่า การแก้ไขรธน.ไม่ใช่วาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

"หากจะแก้ไขรธน. ควรผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน และควรรับฟังความเห็นจากประชาชน อย่าลืมว่ารธน.60 ผ่านการทำประชามติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบรธน.ฉบับนี้ และ เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่เดือน พรรคปชป. และฝ่ายค้าน ตั้งธงที่จะแก้ไขรธน. อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และพรรคปชป. อาจจะเสียคะแนนนิยม หากมัวแต่เล่นเกมการเมือง การเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะสูญพันธุ์ได้"

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า ควรบังคับใช้รธน. ฉบับนี้ไปก่อน เพราะมีจุดแข็งอยู่ที่การปราบปรามการทุจริต จนได้ชื่อว่าเป็นรธน.ฉบับปราบโกง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย มาโดยตลอด และทำให้นักการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชน เกรงกลัวการกระทำผิด และไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลไกควบคุมการทุจริตเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีของ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่โดนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุก 1 เดือน พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง ในคดีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.

"ส่วนคดีห้ามส.ส. ถือหุ้นกิจการสื่อฯ ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมไม่ให้ ส.ส.เอาเปรียบ หรือส่อในทางทุจริต ทำให้มีส.ส.จากทุกพรรคการเมืองโดนตรวจสอบ โดยเฉพาะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรธน. ทำให้ฝ่ายค้าน อยากแก้รธน. ในประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะหาก นายธนาธรโดนตัดสินว่ามีความผิด แต่หากแก้รธน.ในประเด็นดังกล่าวได้ นายธนาธร อาจจะพ้นผิด เนื่องจากอาจจะมีการระบุไว้ในกฎหมาย ให้ยกเว้นโทษย้อนหลัง ซึ่งฝ่ายค้านหวังจะใช้กรณีดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ หากพรรคร่วมรัฐบาลตกหลุมพราง อาจจะเข้าทางของฝ่ายค้านได้" แหล่งข่าว ระบุ

ปชป.ชูรัฐ"ประกันค่าแรง 400 บาท"

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์ GDPไทยปี62 ลงจาก 3.8 เหลือ 3.5 และพระเอกคือ การส่งออกสำคัญหดเหลือ ร้อยละ 4 แปลว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง แต่รัฐบาลจะเอาง่าย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นนั้นหรือ ขอให้นึกถึงนายจ้างรายเล็กรายน้อยด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดการปิดตัวลงของ SME ร้านอาหาร ร้านค้าเล็กๆ อีกมาก

อย่างไรก็ตาม พรรคปชป. เคยเสนอนโยบาย ประกันค่าแรงไม่ให้ต่ำกว่า 120,000 บาท ต่อปี หากหักวันหยุดแล้ว ก็จะเท่ากับค่าแรงวันละ 400 บาท คล้ายกับที่รัฐบาลเสนอ แต่ที่ต่างกันก็คือ นโยบายของพรรคปชป.ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ผลักภาระทั้งหมดให้นายจ้าง แต่เป็นการประกันค่าแรง หากพื้นที่ไหนได้ค่าแรงไม่ถึง 400 บาท รัฐจะชดเชยส่วนต่างให้จนครบ โดยไม่ต้องเป็นภาระนายจ้าง คล้ายกับกรณีศึกษาเทียบเคียง Workfare ของสิงคโปร์ ที่รัฐชดเชยโดยการจ่ายเงินให้ ในรายจ่ายสำคัญๆ ของลูกจ้าง

" เราสามารถจ่ายเงินส่วนต่างค่าแรงในรายการ เช่น การศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถของตนเอง หรือบุตร การรักษาพยาบาล ชำระหนี้สิน ให้เป็นเงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และอื่นๆ ที่จำเป็น วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพแรงงานไปในตัว แถมเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยประคองนายจ้าง SME รายเล็ก ให้อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจขาลง และขณะเดียวกันลูกจ้างก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยตามเป้าหมายของรัฐบาล" นายอรรถวิชช์ กล่าว

"ภราดร"เผยยังไม่มีทาบนั่งทีมโฆษกฯ

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสข่าวถูกทาบทามร่วมทีม ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ตนยังไม่ได้รับการทาบทาม ในพรรคยังไม่มีใครมาแจ้ง และปกติตามธรรมเนียม เมื่อเป็นโควตาทางพรรคก็คัดสรรตัวบุคคล ซึ่งขณะยังไม่ทราบว่าทางพรรคจะจัดสรรบุคคลใดให้เป็นตัวแทนของพรรคไปทำหน้าที่

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวสนใจตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า รอให้พรรคเป็นผู้พิจารณาตัวบุคคลจะดีกว่า เพราะในพรรค ก็มีคนที่เหมาะสมหลายคน ก็ให้พรรคเป็นคนคัดสรรไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพรรค ถ้าพรรคให้ไปทำหน้าที่ตรงนี้ตนก็ทำได้

โพลชี้ ควรแก้รธน.ที่มาส.ว.-นายกฯ

"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "รัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11–12ก.ค.62 จากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทั่วประเทศ รวม1,504 คน พบว่า ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 37.04 ระบุว่า จำเป็นต้องแก้ไข รธน.อย่างเร่งด่วน เพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรี และส.ว. ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม ไม่แตกต่างกับการรัฐประหาร ขัดกับความต้องการของประชาชน ในการใช้สิทธิ เสรีภาพ เกิดความวุ่นวายขึ้นในสภาฯ เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป อยากให้นำรธน.ฉบับปี 2540 กลับมาใช้

รองลงมา ร้อยละ 17.15 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรธน. เพราะได้มีการแก้ไขหลายครั้ง ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ควรแก้ไขที่ตัวบุคคลมากกว่าแก้ที่รธน. , ร้อยละ 13.43 ระบุว่า ควรใช้รธน.ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไข , ร้อยละ 10.90 ระบุว่า ควรใช้รธน.ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่า ควรแก้ไขหรือไม่ และ ร้อยละ 21.48 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ควรใช้รธน.ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไข พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.56 ระบุว่า ควรใช้รธน.เป็นระยะเวลา 1 ปี รองลงมา ร้อยละ 23.76 ระบุว่า ต่ำกว่า 1 ปี และ 2 ปี ในสัดส่วนที่เท่ากัน , ร้อยละ 3.47 ระบุว่า 3 ปี , ร้อยละ 2.97 ระบุว่า 5 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 2.48 ระบุว่า 4 ปี

ส่วนในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ควรใช้รธน. ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าควรแก้ไขหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.29 ระบุว่า ควรใช้รธน.เป็นระยะเวลา 1 ปี รองลงมา ร้อยละ 27.44 ระบุว่า 2 ปี , ร้อยละ 21.34 ระบุว่า ต่ำกว่า 1 ปี , ร้อยละ 4.27 ระบุว่า 3 ปี , ร้อยละ 2.44 ระบุว่า 4 ปี และร้อยละ 1.22 ระบุว่า 5 ปี ขึ้นไป

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข หากจำเป็นต้องมีการแก้ไขรธน. (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าต้องแก้ไขรธน.อย่างเร่งด่วน และควรใช้รธน.ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าควรแก้ไขหรือไม่ และ หรือค่อยแก้ไข ) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.01 ระบุว่า ประเด็นที่มา และอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รองลงมา ร้อยละ 42.90 ระบุว่า ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี , ร้อยละ 40.52 ระบุว่า ประเด็นการปฏิรูปประเทศ , ร้อยละ 39.00 ระบุว่า ประเด็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส. , ร้อยละ 25.24 ระบุว่า ประเด็นแนวนโยบายแห่งรัฐ , ร้อยละ 0.54 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่มาของ กกต. กฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระ (ซึ่งขาดความยุติธรรม) ขณะที่บางส่วนระบุว่า แก้ไขรธน.โดยเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด และ ร้อยละ 5.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น