xs
xsm
sm
md
lg

ละเมิดศาลรธน.โทษจำคุก1เดือนปรับ5หมื่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ ( 10 ก.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง"การละเมิดอำนาจศาล : แนวคิดและการปรับใช้" โดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ ผอ.หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการบัญญัติให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็เพื่อคุ้มครองให้องค์กรตุลาการ สามารถทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ ในต่างประเทศก็ได้มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรธน. ไว้หลายประเทศเช่น เยอรมัน สเปน เกาหลี และสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดองค์คณะที่มีอำนาจในการพิจารณาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขั้นตอนและวิธีการพิจาณาความผิดละเมิดอำนาจศาล และบทลงโทษที่แตกต่างกัน
ด้านนายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ในส่วนของศาลปกครอง การกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้การพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ไม่ได้มุ่งคุ้มครองตุลาการศาลปกรอง โดยมูลละเมิดของศาลปกครอง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ การละเมิดที่เกิดขึ้นภายในศาล หรือบริเวณศาล และการละเมิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในบริเวณศาล ซึ่งโทษในฐานความผิดละเมิดศาลปกครอง คือ การตักเตือน โดยมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ การไล่ออกจากบริเวณศาล การลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่ผ่านมาศาลปกครอง เคยมีคำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากมีถ้อยคำในอุทธรณ์ มีลักษณะที่เป็นการเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งข้อความดังกล่าว ไม่ใช่การวิจารณ์ การพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตทางวิชาการ แต่เป็นการเสียดสี กล่าวหา ใส่ความให้ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลปกครองจึงมีคำสั่งจำคุก รอลงอาญากำหนด 3 ปี และปรับ 5 หมื่นบาท และมีบางคดี ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรธน. กล่าวว่า ในส่วนการละเมิดอำนาจศาลรธน.นั้นได้มีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งบทลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลรธน. แบ่งเป็น 3 กรณี คือ ตักเตือน โดยจะมีคำสั่งตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ การไล่ออกจากบริเวณศาล และการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งการวิจารณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยคดี สามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย เพื่อไม่ให้เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรธน. จำเป็นต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็เนื่องจากคำตัดสินของศาลรธน. มีผลกระทบในวงกว้าง ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่ความในคดีเช่นศาลอื่น แต่ผูกพันองค์กรของรัฐอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เจตนารมณ์ในการกำหนดบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรธน. ก็เพื่อให้ศาลฯ มีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามให้เกรงกลัว และสามารถอำนวยความยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของระบบกฎหมาย และการคุ้มครองหลักควาทมเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน.
กำลังโหลดความคิดเห็น