xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปัตย์วันนี้ร้าวลึก รอวันแตกเละหมดทางฟื้น !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า "ความแตกต่าง" ทางความคิดที่พยายามอ้างกันมาตลอดนั้น ในความเป็นจริงแล้วน่าจะตรงกันข้าม เพราะเริ่มมองเห็นแล้วว่ามันน่าจะกลายเป็น "ความขัดแย้ง" ที่ร้าวลึก ในแบบที่น่าจะประสานกันยาก เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างยืนยันในหลักการของตัวเองแบบไม่ลดราวาศอก
แม้ว่าหากเทียบปริมาณหรือจำนวนของสมาชิกของแต่ละฝ่ายจะยังไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน แต่ก็ต้องบอกว่ามีเป็นกอบเป็นกำ ไม่น้อยกว่ากันทั้งคู่ อย่างไรก็ดี เพื่อให้พิจารณาเห็นภาพชัดก็ต้องแบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก นั่นคือ กลุ่มในแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือกลุ่มที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อ้างว่าเป็นการ "สืบทอดอำนาจ" อะไรประมาณนั้น
แต่เมื่อมาพิจารณาในรายละเอียด นาทีนี้บรรยากกาศทำท่าจะบานปลาย "ร้าวลึกแบบกินใจ" จนยากที่จะประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วแม้ว่าผลการประชุมร่วมพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค กับ ส.ส.พรรคในวันที่ 28 พฤษภาคม ไม่ว่าจะร่วมรัฐบาล หรือไม่ก็ตาม แต่ผลที่จะตามมาเชื่อว่าความ"ขัดแย้ง" ก็ยังคงอยู่ต่อไปแน่นอน
หากพิจารณาจากสองกลุ่มความคิดหลักๆ ในตอนนี้นั่นคือกลุ่มที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ที่เป็นอดีต กปปส. ที่มี ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นแกนนำ และมีความเชื่อมโยงกับอดีตเลขาธิการพรรค และอดีตเลขาธิการ กปปส. อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ
ล่าสุด มีการมองว่ากลุ่มข้างต้น ยังมีการสมทบจากกลุ่มของ กรณ์ จาติกวณิช ที่หลายคนจับอารมณ์ได้ว่าซ่อนความไม่พอใจลึกๆ จากการพ่ายแพ้การเลือกหัวหน้าพรรค ที่มองว่า"ถูกหักหลัง" หรือไม่
**คนพวกนี้มองว่าการร่วมรัฐบาลจะทำให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ยังสามารถนำนโยบายของพรรคไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน และอ้างว่า สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูป ส่วนสำคัญก็มาจากการประกาศไม่สนับสนุน "บิ๊กตู่" นั่นแหละ
ขณะที่อีกฝ่ายก็มี กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ประกาศ"ทิ้งไพ่" สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งแบบ "ชัดๆว่าไม่เอาลุงตู่" ยกเอาหลักการประชาธิปไตย อ้างต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ออกมาแบบ "ชัดๆ" เช่นเดียวกันนั่นคือ "แพ้ยับ" พื้นที่กรุงเทพฯ สูญพันธุ์ ขณะที่ภาคใต้ ก็เสียที่นั่งเกินครึ่ง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งในกลุ่มนี้ยังแยกย่อยมาในแบบอยากให้เป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" เช่น กลุ่มที่เรียกว่า "นิวเดม" ที่ระบุว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ร่วมทั้งฝ่ายรัฐบาลและไม่ร่วมงานกับพรรคฝ่ายค้านอื่น โดยพวกเขาย้ำว่าในหลายประเทศก็มีแบบนี้
อีกด้านหนึ่งยังมีสังคมภายนอกสร้างกระแสกดดันผ่านทางโลกโซเชียลฯ ที่ร้อนแรง โดยในความเป็นจริงก็มาจากสองกลุ่มหลักดังกล่าวนั่นแหละ
แน่นอนว่าบรรยากาศความเห็นที่แตกต่าง จนพัฒนากลายเป็นความแตกแยกที่ฝังลึกลงไปทุกที แม้จะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค ทุกคนสามารถออกความเห็นได้ และหัวหน้าพรรคคนใหม่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่พยายามประสานรอยร้าวอย่างเต็มที่ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมองได้ว่า มันเลยเถิดจากการแสดงความเห็นและเสี่ยงต่อการไม่ยอมรับในมติพรรคในภายหลัง อีกทั้งเป็นความขัดแย้งที่ขยายออกไปข้างนอกจนยากที่จะยอมรับความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
**หากนำไปเปรียบเทียบกับยุคความขัดแย้งในอดีตเมื่อหลายปีก่อนที่เกิด "กลุ่ม 10 มกรา" ที่แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ คราวนี้ความขัดแย้งในแบบที่ว่าก็ไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ว่ามันมีมวลชนสนับสนุนของแต่ละฝ่ายเข้ามาแจมด้วย ทั้งการแสดงออกโดยตรง รวมทั้งการแสดงความเคลื่อนไหวผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และด้วยบรรยากาศแบบที่เห็นในเวลานี้ มันเสี่ยงที่จะบานปลายไปไกล และกลายเป็นคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นฟูให้กลับมาได้หรือไม่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น