xs
xsm
sm
md
lg

"กูเกิล"ห้ามอัปเดตมือถือ"หัวเว่ย" จ่อเข้า"จีเมล์-ยูทูป-โครม"ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-อัลฟาเบ็ต อิงก์ บริษัทแม่ "กูเกิล" ออกคำสั่งห้ามอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ขึ้นบัญชีดำยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากจีน เผยจะกระทบถึงแอปพลิเคชันสำคัญอย่าง จีเมล์ ยูทูป รวมถึงเบราเซอร์โครม ขณะที่บริษัทผลิตชิปในสหรัฐฯ ทั้งอินเทล , ควอลคอมม์ , บรอดคอม และ ซีลิงซ์ ประกาศตามกูเกิล หยุดทำธุรกิจกับหัวเว่ยจนกว่าจะประกาศเปลี่ยนแปลง ล่าสุดกูเกิลย้ำผู้ใช้มือถือหัวเว่ยเครื่องเก่ายังใช้กูเกิลเพลได้ปกติ รวมถึงมือในสต๊อกที่ยังไม่ขาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รอยเตอร์ได้เผยแพร่ข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวว่าอัลฟาเบ็ต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิล บริษัทไอทีชั้นนำของโลก ได้สั่งห้ามการทำธุรกิจกับหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก โดยการสั่งห้ามดังกล่าวครอบคลุมถึงการถ่ายโอนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคนิค ยกเว้นซอฟต์แวร์ที่สัญญาอนุญาตเปิดให้กับสาธารณชน โดยความเคลื่อนไหวของกูเกิลครั้งนี้ ถือเป็นการขยายวงของสงครามการค้า หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้ให้บริษัท หัวเว่ย ถูกขึ้นบัญชีดำทั่วโลก

จากกรณีดังกล่าว โฆษกของกูเกิลแจ้งเพียงว่า ทางบริษัทดำเนินการตามคำสั่ง และกำลังประเมินถึงผลกระทบ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยนอกประเทศจีน เนื่องจากสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะไม่สามารถเข้าถึงการอัพเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ขณะที่สมาร์ทโฟนในอนาคตของหัวเว่ยที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการยอดนิยมของกูเกิล อย่างเช่น กูเกิล เพลย์สโตร์ จีเมล์ และยูทูปได้ โดยหัวเว่ยจะสามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แค่เวอร์ชันที่เปิดสาธารณะ และจะไม่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชัน และบริการต่างๆ จากกูเกิลได้

รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ชื่อบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ถูกใส่ไว้ในบัญชีดำทางการค้าและมีผลทันที ซึ่งจะทำให้บริษัทประสบความยากลำบากอย่างมากในการทำธุรกิจกับคู่ค้าในสหรัฐฯ และจากนั้น วันที่ 17 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่ากำลังพิจารณาผ่อนคลายข้อจำกัดกับหัวเว่ย เพื่อป้องกันความขัดข้องของการดำเนินการของระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ และเมื่อถึงวันที่ 19 พ.ค. ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเข้าถึงซอฟท์แวร์มือถือของหัวเว่ยจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

สำหรับมูลค่าความเสียหายของหัวเว่ยต่อการขึ้นบัญชีดำของทางการสหรัฐฯ ยังไม่มีการประเมินออกมาแน่ชัด เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตของหัวเว่ยกำลังประเมินเรื่องผลกระทบอยู่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชิปคอมพิวเตอร์ ได้ตั้งข้อสงสัยว่าหัวเว่ยจะสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของบริษัทสหรัฐฯ หรือไม่

ขณะที่ภายในของกูเกิลเอง ก็กำลังถกเถียงกันถึงเรื่องบริการที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นบัญชีดำดังกล่าว ขณะที่โฆษกของหัวเว่ย ได้กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของกำลังศึกษาอย่างเร่งด่วนถึงผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าว โดยล่าสุด ยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ statcounter.com ในเดือนเม.ย.2562 ได้รับความนิยมจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกเกือบร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 4 ของสมาร์ทโฟน แต่หัวเว่ยจะยังเข้าถึงเวอร์ชันที่เปิดสาธารณะ หรือที่รู้จักกันในนาม Android Open Source Project (AOSP) โดยปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้อุปกรณ์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้งานเป็นประจำอยู่ราว 2,500 ล้านเครื่อง และนับจากนี้เป็นต้นไป กูเกิลจะต้องหยุดให้หัวเว่ยเข้าถึงบริการด้านเทคนิคและความร่วมมือใดๆ ที่เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน และบริการในเครือข่าย

คาดกันว่าแอปพลิเคชันที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เช่น จีเมล ยูทูป รวมไปถึงเบราว์เซอร์โครมที่ถูกเปิดให้ดาวน์โหลดบนกูเกิลเพลย์สโตร์ และจะหายไปบนมือถือหัวเว่ย โดยแอปฯ เหล่านี้ไม่ได้ถูกครอบคลุมอยู่ใน AOSP แต่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยอยู่แล้ว จะยังสามารถดาวน์โหลดอัปเดตจากกูเกิลได้อยู่

ขณะที่ทางด้านหัวเว่ยบอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือเหตุดังกล่าวด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีกรณีที่ถูกบล็อกไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยเทคโนโลยีบางอย่างนั้นมีการใช้งานและจำหน่ายในประเทศจีนแล้ว

สำนักข่าวต่างประเทศยังรายงานอีกว่า นอกจากกูเกิล ยังมีบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ อีกหลายบริษัท ที่จะห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ย เช่น Intel ซึ่งเป็นผู้ขายชิปสำหรับเซิร์ฟเวอร์ , Qualcomm เป็นผู้ขายชิปประมวลผลและโมเด็มสำหรับสมาร์ทโฟน , Broadcomm เป็นผู้ขายชิปสำหรับสวิตช์ และ Xilinx เป็นผู้ขายชิป FPGA แบบเขียนโปรแกรมได้ ใช้สำหรับอุปกรณ์เครือข่าย ได้แจ้งพนักงานว่าให้เตรียมตัวหยุดทำธุรกิจกับหัวเว่ยจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ล่าสุดทวิตเตอร์ @Android ซึ่งเป็นทวิตเตอร์ทางการ ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 10.3 ล้านคน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เพื่อตอบคำถามสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยถึงมาตรการของเราในการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เราขอยืนยันกับคุณว่าในการปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ บริการอย่างกูเกิล เพลย์ และการรักษาความปลอดภัยผ่านกูเกิล เพลย์ โพรเทค จะใช้งานได้ปกติบนอุปกรณ์หัวเว่ยที่มีอยู่ในปัจจุบัน"

ขณะที่รายงานล่าสุดของรอยเตอร์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หัวเว่ยยืนยันว่าเครื่องหัวเว่ยที่ขายไปแล้วและมีสต็อกอยู่ทั่วโลกจะยังสามารถอัพเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ปกติ ทั้งแบรนด์หัวเว่ย ออเนอร์ รวมถึงแท็บเลตรุ่นต่างๆ

จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนโลกล่าสุดโดยไอดีซี ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562 สมาร์ทโฟนหัวเว่ยสามารถยึดตำแหน่งสมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดในโลกเบอร์สองจากแอปเปิลได้ โดยเป็นรองเพียงซัมซุงจากเกาหลีใต้ โดยตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาสูงถึง 59.1 ล้านเครื่อง หรือเติบโตอย่างมากจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ที่มียอดขายเพียง 39.3 ล้านเครื่อง ตรงกันข้ามกับยอดขายของซัมซุง และแอปเปิลที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีที่แล้วซึ่งยอดขายต่างหดตัวลงทั้งสองค่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น