xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

** มองการเมืองแบบ "วิน-วิน" เมื่อ"ลุงตู่"อยู่ต่อ ก็จะมีนักการเมือง มืออาชีพ เข้ามาเสริมทีมบริหาร ในภาพรวมน่าจะไปได้ดีกว่า 5 ปีแล้ว ที่มีแต่ทหาร ครึ่งค่อน ครม. แถมยังเอื้อ"ชั้นบน" อัดฉีด "ชั้นล่าง" แต่ลืม "ชั้นกลาง" กลับมารอบนี้อย่าลืมเติมเต็ม ... ส่วน"ธนาธร" ที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ก็มีโอกาสสร้างผลงาน ในฐานะฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล เสนอ กม.ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม ปูพื้นฐานทางการเมืองในระยะยาว แต่ถ้าใจร้อน คิดเล่นการเมืองบนถนน เอาประชาชนเป็นตัวประกัน ระวังจะ "อนาคตหมด"

เป็นเรื่องปกติสำหรับการเมืองไทย ที่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อแบ่งโควต้ารัฐมนตรี ว่าพรรคไหน จะได้คุมกระทรวงใด โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อการ "จัดตั้งรัฐบาลผสม" เอื้อให้พรรคเล็กได้แจ้งเกิด... เมื่อมีหลายพรรคเข้าร่วม การเจรจาหาจุดลงตัวจึงเข้มข้นเป็นพิเศษ ... แต่เชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว ขั้วทางฝั่ง พรรค"พลังประชารัฐ" ที่มี พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วมีคะแนนเหลื่อมกว่าเล็กน้อย น่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่ง"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย ... ผลักให้ขั้ว "พรรคเพื่อไทย" ที่มีพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเล็กในเครือข่าย "ระบอบทักษิณ" เป็นแนวร่วม ต้องเป็นฝ่ายค้านไป...
**หากบทสุปออกมาตามรูปการณ์นี้ ต้องถือว่า "วิน-วิน" ทั้งสองฝ่าย
ในมุมของ "รัฐบาลลุงตู่" การเป็นรัฐบาลผสม ย่อมมีนักการเมือง นักบริหารมืออาชีพ จากพรรคต่างๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกในการจัดวางคนให้เหมาะสมกับงาน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ การบริหารประเทศในภาพรวมจึงน่าจะดีขึ้นกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีแต่ทหาร ครึ่งค่อนครม. เน้นในเรื่อง "ความสงบของบ้านเมือง" เป็นหลัก... หากรอบนี้ "รัฐบาลลุงตู่" จัดวางคน และควบคุมการบริหารจัดการได้ดี นำพาประเทศเจริญก้าวหน้า เป็นที่พอใจของคนในประเทศ ก็มีโอกาสที่จะได้อยู่ยาวตามแผน "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ได้วางโรดแมปเอาไว้
แต่ก็ต้อง "กำจัดจุดอ่อน" หลายๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เรื่อง "พวกพ้องน้องพี่" ที่สังคมเห็นว่า ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในลักษณะต่างตอบแทน หรือ เพราะเป็นคนใกล้ชิด เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่มีผลงาน รังแต่จะสร้าง "ภาพลบ" ให้กับรัฐบาล ... ต้องไม่ลืมว่าต่อไปนี้ "รัฐบาลลุงตู่" เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการ "รัฐประหาร" ยิ่งมีกระแสข่าวว่า พรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล ตั้งแง่ไม่เอา "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมอยู่ในครม.ด้วย ... ดังนั้น การจะตั้งใครให้เข้ามามีอำนาจ ต้องระวัง "เสียงยี้" ด้วย เพราะถ้ามีเสียงยี้ตามมา จะต้องเจอโซเชียลฯ ถล่มหนักแน่ ...ขอให้ดูเรื่อง "ผมเพื่อนโชค" เป็นตัวอย่าง
นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพของรัฐบาลลุงตู่ ถูกมองว่า "เอื้อทุนใหญ่" ซึ่งเป็นกลุ่มคน" ชั้นบน" ของสังคม มีการเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์ ระดับหมื่นล้าน แสนล้าน หลายโครงการ ทั้งรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเมืองกรุง รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มอเตอร์เวย์ โครงการอีอีซี การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา ... ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะดูแลคนยาก คนจน ที่เป็นคน "ชั้นล่าง" ด้วยการออก "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ "บัตรคนจน" ที่ใช้สำหรับซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ช่วยเรื่องก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินฝึกอาชีพ เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ผู้พิการ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และจัดการนายทุนเงินกู้นอกระบบ
แต่ดูเหมือน"ลุงตู่" จะลืม "คนชั้นกลาง" ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปัญหาการเลิกจ้างงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังรอรัฐบาลใหม่ ว่าจะมีนโยบายอะไรให้พวกเขาพ้นวิกฤติ พอที่จะ "ลืมตาอ้าปาก" ได้ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลต้องเตรียมหาทางมาซ่อมเสริม เติมเต็ม
หากรัฐบาลลุงตู่กำจัดจุดอ่อนหลักๆ เหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะ "ได้ใจประชาชน" และมีโอกาสอยู่ยาว แต่ถ้ายังคงยึดหลัก "พวกพ้องน้องพี่" มาก่อนแล้วละก็ ต้องบอกว่า น่าสงสารประเทศไทย...
คราวนี้มามองในมุมของฝ่ายค้าน โฟกัสไปที่ "พรรคอนาคตใหม่" ที่มี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นหัวหน้าพรรค และ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรค เป็น"ศูนย์กลาง" ในการขับเคลื่อนพรรค ... การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่า"อนาคตใหม่" ได้รับความไว้วางใจจาก "คนรุ่นใหม่" และบรรดา"น้องฟ้า" อย่างเหนือความคาดหมาย ได้ ส.ส.มากถึง 80 ที่นั่ง ทั้งที่เป็นการลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรก...นี่ถือเป็น "วิน" ครั้งที่ 1
เมื่อ"พรรคอนาคตใหม่" ต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสแสดงฝีมือ เพราะระบบการเมืองไทย ต้องมีฝ่ายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การเป็นฝ่ายค้านอย่างมีเหตุ มีผล สอดส่องป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ย่อมมีแต่คนชื่นชม และมอบความหวังกำลังใจให้ ... ส่วนในแง่การเสนอกฎหมายต่างๆ ตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ พรรคอนาคตใหม่ มีจำนวน ส.ส.เหลือเฟือ ที่จะลงชื่อรับรองร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ หากร่างกฎหมายนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าร่างกฎหมายนั้นจะผ่านสภาหรือไม่ ก็จะเป็นผลงานที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนโดยเฉพาะ "แฟนคลับ" ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินการทางการเมืองในระยะยาวของพรรค...นี่เป็น "วิน" ครั้งที่ 2 ...
แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านแบบ ค้านทุกเรื่อง ค้านแบบไม่มีเหตุ มีผล การเสนอร่างกฎหมายก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง และพวกพ้อง เมื่อแพ้เกมในสภา ก็ "ถอดสูท" มาเล่นการเมืองบนท้องถนน ใช้เครือข่ายที่มีอยู่ปลุกระดมประชาชน คนรุ่นใหม่มาเป็น "ตัวประกัน" ในการต่อรองเพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมาย ...
**ถ้าเป็นเช่นนี้ "อนาคตใหม่" ก็จะเป็น"อนาคตหมด" ในไม่ช้า...

**ไทยแลนด์โอนลี่! "ปล้นกลางแดด" กสทช.ทั้งคืน ทั้งชดเชย 31,000 กว่าล้าน อุ้มนายทุนทีวีดิจิทัล ระวังถูกตรวจสอบย้อนหลังแล้วจะยาว ปูดแผนสืบทอดอำนาจ "ฐากูร" อยู่ต่อ ล็อบบี้ "วิษณุ" แก้ปมข้อกม.กสทช. รัวๆ

ปฎิบัติการ"อุ้มทีวีดิจิทัล" ที่ใครๆก็ต้องบอกว่า ช่างกล้า! เหมือนปล้นกันกลางแดด ตอนประมูลเมื่อ5ปีก่อน ก็วาดฝันสวยหรู กระโจนกันเข้ามา พอทำไปทำมาขาดทุน ธุรกิจโดนการทำลายล้างของเทคโนโลยี และพฤติกรรมคนดู ไม่ตัองรับค่าความเสียหายใด กสทช.จัดให้ ได้เงินคืนไปอีก ...
เมื่อสิ้นสุดเดตไลน์ที่ กสทช.กำหนดวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ประกอบด้วยช่อง 20 ของไบรท์ ทีวี ช่อง 20 ,วอยซ์ ทีวี, ช่อง 13 และช่อง 28 ของ บีอีซี หรือช่อง 3 อสมท แฟมมิลีช่อง14 , สปริงนิวส์ ช่อง 19 และ ช่อง 26 now ของเนชั่น
ทั้งหมดที่ขอคืน ส่วนใหญ่จะทำไปแล้วขาดทุนซึ่ง กสทช. จะจัดเงินชดเชยเป็นการเยียวยา มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เช่น สปริงนิวส์จะได้ 730 ล้านบาท วอยซ์ทีวีที่พอคืนแล้วจะมีทุนไปทำทีวึดาวเทียมต่อ 400 กว่าล้าน
คำนวณโดยรวมๆ รัฐต้องจ่ายตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท
ตะลึงงันกันไป ดีลดีๆ แบบนี้ ไทยแลนด์โอนลี่ พูดกันตรงๆ ว่า นายทุนทั้ง 7 ช่อง สมควรจะได้รับหรือไม่ การลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นบาทเดียวแบบแฟร์ๆ ก็ไม่ควรได้ด้วยซ้ำ
จาก 24 หายไป7ช่อง รวมช่อง 2 ช่อง ที่ขอจอดำไปก่อนหน้านี้ คงเหลือช่องดิจิทัลที่จะไปต่อ 15 ช่อง พวกนี้ไม่ได้เงินชดเชย แต่..จะได้รับยกเว้นค่าใบอนุญาตที่ต้องจ่ายอีก 2 งวด รวมเป็นเงินประมาณ 9,700 ล้านบาท และ กสทช. ยังจะออกค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณ หรือ “MUX”ตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ คือ อีก 10 ปี คิดเป็นเงินราวๆ 18,770 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 28,444 ล้านบาท
เมื่อรวมกับค่าชดเชยที่จ่ายให้กับทีวีดิจิทัล ที่ขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ประมาณ 4 พันล้านบาท รวมเป็นเงินแผ่นดินที่จะใช้สำหรับอุ้มนายทุนทีวี 31,000 ล้านบาท ... จะปฎิเสธมั้ยล่ะว่า 31,000 ล้านบาท เป็นผลงานโบดำของกสทช. ที่จะต้องพูดถึงไปอีกนาน และ พอหมดบุญของ ม.44 อำนาจบารมีหาย เขียนแปะข้างฝาบ้านทำนายเอาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า จะต้องมีคนรื่อฟื้นเรื่องนี้แน่
กรรมการกสทช. ถูกตรวจสอบย้อนหลังไม่ใช่เรื่องสนุก อุทธาหรณ์สอนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ของแผ่นดินมีตัวอย่างคดีให้เห็นบ่อยช่วงนี้ ... ทางเดียวคือ พยายามอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งก็บังเอิญผู้หลักผู้ใหญ่ กสทช. ช่วงนี้นั่งไม่ติด ชีพจรลงเท้าไปแถวๆ ทำเนียบฯบ่อย
แว่วว่า "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. ได้ไปเข้าพบ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคสช. ซึ่งรับผิดชอบการทบทวนยกเลิกคำสั่งต่างๆของ คสช.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประสานว่า ในกรณีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 7/2561 จำเป็นต้องระบุไปด้วยว่า กระบวนการสรรหา กสทช. จะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ในส่วนของกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง กสทช. แล้วเสร็จก่อน พร้อมทั้งยังอ้างว่า มีร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับแก้ไขอยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา
หากมีการกำหนดให้ต้องแก้ไข พ.ร.บ. กสทช.ในส่วนของกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง กสทช. ก่อนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ จะส่งผลให้ กสทช.ชุดรักษาการ ที่ปัจจุบันมี "พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร" เป็นประธาน จะต้องรักษาการในตำแหน่งต่อไป จนกว่ากระบวนการในฝ่ายนิติบัญญัติแล้วเสร็จ ... เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ที่จะส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายในชั้นสภาผู้แทนราษฎรทำได้ยาก หรือต้องรอจังหวะเหมาะ
นั่นจะทำให้ "กสทช.รักษาการ"ได้อยู่ในตำแหน่งไปไม่น้อยกว่า 2 ปี ขณะที่ "ฐากร" บิ๊กกสทช. จะหมดวาระในตำแหน่งเลขาธิการ ช่วงเดือนต.ค.63 เพราะ อายุครบ 60 ปี ก็จะสามารถเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.ได้
เรียกว่า แผนสืบทอดอำนาจ "อยู่ต่อ" วางไว้แล้ว.

-----------------
รูป- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
-วิษณุ เครืองาม , พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร, ฐากร ตัณฑสิทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น