xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุด เชื่อ"บิ๊กตู่"คัมแบ็ก ศก.พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.วูบต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เหตุคนกังวลเรื่องการเมือง เชื่อ“บิ๊กตู่”จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย แต่รัฐบาลใหม่ต้องมีเสถียรภาพ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ความเชื่อมั่นจะเป็นขาขึ้น ดันเศรษฐกิจโต 3.8-4%

วานนี้ (2 พ.ค.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย.62 อยู่ที่ระดับ 79.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่ม.ค.61 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 74.6 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 96.7 โดยได้ปรับตัวลงทุกรายการเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน มี.ค.62 ที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะศก.ไทย ที่ยังฟื้นตัวช้า การส่งออกที่ลดลง เงินบาทแข็งค่า แม้จะอ่อนตัวลงมา แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งก็ยังแข็งกว่า ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ส่วนปัจจัยบวกมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทย แต่ก็ยังไม่มากนัก หลังไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า

“ประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลและฉุดความเชื่อมั่นลงมาก ก็คือ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดจากดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับจากเดือน ก.ค.57 โดยยังกังวลในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล หรือตั้งรัฐบาลได้แล้ว จะมีการประท้วงหรือไม่ เสียงของรัฐบาลจะเกินครึ่งหรือไม่ อายุรัฐบาลจะยืนยาวแค่ไหน” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมั่นคงหรือไม่ ทั้งเสียงในสภาผู้แทนราษฎร อายุของรัฐบาล หรือ จะมีการชุมนุมเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดัน ต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพ สามารถดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ก็จะช่วยให้คนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ศก. ก็จะขับเคลื่อน และหากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าคลี่คลาย ศก.ไทยก็จะเติบโตได้ดีขึ้น โดยประเมินว่า น่าจะเติบโตในระดับ 3.8-4% ได้ แต่ถ้าการเมืองวุ่นวาย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเป็นขาลง และกระทบต่อการขยายตัวทางศก. ปีนี้เหลือ 3.5% หรือต่ำกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น