xs
xsm
sm
md
lg

การย้าย การดูด และงูเห่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ปรากฏการณ์ทางสังคมใดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีรูปแบบหลากหลายตามช่วงจังหวะที่เกิดขึ้นมา สังคมมักตั้งชื่อเรียกให้เป็นการเฉพาะ ภาษา คำ หรือวลีที่ใช้มีหลากหลายรูปแบบ บางแบบก็ดูเหมือนมีความเป็นกลางไม่เจือปนด้วยค่านิยมใดๆ แต่บางรูปแบบมีการบรรจุค่านิยมอย่างใดย่างหนึ่งเอาไว้ในคำเรียกปรากฏการณ์นั้น ซึ่งทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้นรู้สึกอึดอัดหรืออับอายกับคำหรือวลีที่ตนเองได้ยิน

การเปลี่ยนแปลงพรรคที่สังกัดของนักการเมืองเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในการเมืองไทย เท่าที่สังเกตได้มีสามช่วงเวลาหลัก คือ ช่วงเวลาปกติของชีวิตทางการเมือง ช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง และช่วงเวลาการจัดตั้งรัฐบาล

การเปลี่ยนแปลงพรรคที่สังกัดของนักการเมืองในช่วงเวลาปกติ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนักการเมืองแต่ละคน ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความต้องการในขณะที่ตัดสินใจ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสถานการณ์ภาพรวมของการเมืองมากนัก ภาษาที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสังกัดในช่วงเวลาปกติคือ “การย้ายพรรค”

การย้ายพรรคเป็นวลีที่เน้นอธิบายการกระทำของตัวนักการเมือง ไม่ได้มีนัยความหมายในทางบวกหรือลบต่อผู้กระทำมากนัก เป็นวลีที่ค่อนข้างเป็นกลางๆ ดังนั้นหากมีการใช้วลีนี้ก็ไม่ส่งผลให้ผู้กระทำเกิดความรู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด

แตกต่างจากคำว่า “การดูด” หากบุคคลใดที่เป็นผู้กระทำหรือ “ผู้ดูด” กับผู้ที่ถูกกระทำหรือ “ผู้ถูกดูด” ได้ยินหรืออ่านพบเจอว่ามีใครบอกว่าตัวเองกระทำการดูดหรืออยู่ในกระบวนการที่ถูกดูด เขาก็จะรู้สึกอึดอัดและไม่ค่อยพอใจกับการถูกระบุว่าตนเองได้กระทำแบบนั้นหรือถูกกระทำแบบนั้น

การดูดเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังกัดของนักการเมืองจำนวนมากอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในช่วงเวลาที่มีการประเมินว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเป็นช่วงก่อนวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส่วนจะก่อนกี่วันก็แล้วแต่การเจรจาระหว่างนักการเมือง แต่ทั้งนี้จะต้องไม่น้อยกว่าเงื่อนไขจำนวนวันที่นักการเมืองต้องเป็นสมาชิกพรรคเพื่อให้มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้กระทำหรือผู้ดูดมักเป็นแกนนำ ผู้บริหาร หรือนายทุนของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือพรรคการเมืองที่จัดตั้งมานานแล้วก็ได้ ส่วนผู้ถูกดูดคือ อดีตนักการเมืองที่เคยเป็น ส.ส. หรือ อาจไม่เคยเป็น ส.ส. แต่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนสูงในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

ลักษณะของพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มกระทำการดูดมากคือ พรรคที่จัดตั้งใหม่ แกนนำหรือผู้บริหารพรรคการเมืองต้องการให้พรรคตนเองชนะการเลือกตั้งหรือมีจำนวนผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นส.ส.มากที่สุด ผู้นำหรือบุคคลที่พรรคเสนอมีความต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี มีเงินทุนจำนวนมหาศาล และมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ หากพรรคการเมืองใดมีเงื่อนไขเหล่านี้ครบ พรรคนั้นก็จะมีเจตจำนงและพลังในการดูดมาก แต่หากมีเพียงบางปัจจัยพลังดูดก็จะลดลงตามสภาพ

พรรคการเมืองที่ทำการดูดนั้นเป็นพรรคการเมืองแบบฉวยโอกาส เป็นพรรคเฉพาะกิจ มักตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานรองรับผู้มีอำนาจรัฐในช่วงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง เช่นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร หรือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคดูดส่วนใหญ่จะเป็นพรรคเฉพาะกิจและมักล่มสลายไปในเวลาไม่นาน แต่ก็มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เริ่มต้นด้วยอาศัยการดูดเช่นกัน แต่สามารถทำให้โครงสร้างทางความคิดและองค์ประกอบเชิงกลไกการเมืองและมวลชนของพรรคการเมืองนั้นดำรงอยู่ในสนามการเมืองไทยยาวนานพอสมควร แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อหรือถูกยุบในบางช่วงเวลาก็ตาม

สำหรับลักษณะของนักการเมืองที่ถูกดูดนั้น มักเป็นนักการเมืองประเภทฉวยโอกาส ปราศจากอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ เล่นการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์และอำนาจเฉพาะตนเอง มีการรวบรวมเป็นกลุ่มก้อนเพื่อต่อรองเงินทุน ค่าตอบแทนและตำแหน่งทางการเมืองเป็นหลัก

อีกคำหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของนักการเมืองไทยคือ “งูเห่า” คำนี้นับว่าเป็นคำที่มีสีสันและแฝงด้วยความหมายที่น่าสนใจ เป็นคำที่มีรากฐานจากนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า ที่แพร่หลายและรับรู้กันโดยทั่วไปในสังคม ความหมายที่แฝงอยู่ในคำนี้คือ “การเนรคุณ” ซึ่งตรงข้ามกับ “ความกตัญญู” การเนรคุณเป็นคำที่แสดงถึงค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีการตอกย้ำและให้คุณค่ากับความกตัญญูรู้คุณเป็นอย่างสูง คนเนรคุณถูกสังคมมองว่าเป็นคนไม่ดีเป็นคนที่ไม่น่าคบหา ดังนั้นใครถูกเรียกว่าเป็นคนเนรคุณย่อมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจ

ในแวดวงการเมืองไทย มีการใช้คำว่า “งูเห่า” เรียกนักการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงสังกัดพรรคหรือเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองในช่วงเวลาที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินการเจรจากับนักการเมืองที่สังกัดพรรคอื่นๆ เพื่อดึงเข้ามาอยู่ในพรรคตนเอง หรือหากไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงการสังกัดพรรคได้ด้วยเงื่อนไขบางประการ ก็จะให้นักการเมืองงูเห่าดำเนินการสนับสนุนเป็นเรื่องเป็นประเด็นไป เช่น การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ลงมติไว้วางใจหากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือลงมติสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นต้น

เหตุที่เรียกนักการเมืองกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงสังกัดพรรคหรือจุดยืนว่างูเห่า ก็เพราะว่านักการเมืองเหล่านั้นได้รับการเลือกตั้งมาภายใต้การสังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งแกนนำของพรรคนั้นอาจเป็นผู้สนับสนุนเรื่องทรัพยากรในการเลือกตั้ง หรืออาศัยกระแสความนิยมของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดทำให้ได้เป็น ส.ส. นั่นเอง ดังนั้นก็เท่ากับว่าพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดมีบุญคุณที่ทำให้นักการเมืองเหล่านั้นได้รับการเลือกตั้ง และเป็นที่คาดหวังว่านักการเมืองเหล่านั้นจะจงรักภักดีต่อพรรคและผู้นำพรรค แต่เมื่อนักการเมืองเหล่านั้นกระทำในทางที่ทรยศต่อพรรคหรือผู้นำพรรค พวกเขาก็มีพฤติกรรมเหมือนงูเห่าที่กัดชาวนาที่เคยช่วยชีวิตมันเอาไว้นั่นเอง

งูเห่าทางการเมืองมีหลายประเภท มีทั้งแบบกลุ่มกับแบบบุคคล แบบกลุ่มนั้นมีหัวหน้ากลุ่มเป็นแกนในการรวบรวมสมาชิกให้ได้จำนวนหนึ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพรรคที่สังกัดก็เปลี่ยนทั้งกลุ่ม โดยหัวหน้ากลุ่มอาจได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการตอบแทนการแปลงสภาพเป็นงูเห่า ส่วนแบบบุคคลนั้นอาจจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งราคาเท่าไรก็แล้วแต่การต่อรองระหว่างผู้ซื้อกับตัวงูเห่า อันเป็นผู้ขายจิตวิญญาณของตัวเอง หรือ แปลงสภาพจากความเป็น “มนุษย์” ไปสู่สภาพความเป็น “งู” ในความหมายของภาษาทางการเมืองไทย

นักการเมืองลักษณะใดบ้างที่มีความโน้มเอียงเป็นงูเห่า กลุ่มแรกคือ เป็นนักการเมืองแบบนักเลือกตั้งอาชีพ ที่ไม่มีจุดยืนทางอุดมการณ์การเมือง เป็นนักแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจการเมือง นักการเมืองกลุ่มนี้มีทักษะสูงในการแสวงหาและรักษาความนิยมในพื้นที่ และมีกลไกทางการเมืองที่ค่อนข้างมีประสิทธิผลในการรักษาฐานมวลชนให้มีความมั่นคง บางคนอาจเป็นส.ส.หลายสมัย และมีอิทธิพลกว้างขวางในจังหวัดหรือหลายจังหวัดก็ได้ การเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่สังกัดมีผลกระทบน้อยกับสถานภาพทางการเมืองในพื้นที่ของพวกเขา

กลุ่มที่สองเป็นนักการเมืองแบบบังเอิญ หรือบางคนเป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง คนเหล่านั้นไม่มีฐานมวลชนในพื้นที่ บางคนก็แทบไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณะ งูเห่ากลุ่มนี้เกิดจากการที่การเมืองไทยมีระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พวกเขาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ การที่คนเหล่านี้ได้เป็น ส.ส. ก็เพราะว่า พรรคที่พวกเขาสังกัดได้รับคะแนนในการเลือกตั้งจำนวนมากพอสมควรนั่นเอง

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ระบบการเลือกตั้งเอื้ออำนวยให้บุคคลที่พอมีชื่อเสียงและเงินทุนจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับคะแนนมากบ้างน้อยบ้างตามแต่เงื่อนไขของแต่ละพรรค บางพรรคได้จำนวนส.ส.ประมาณสิบคน บางพรรคก็ได้สี่ห้าคน คะแนนของแต่ละพรรคที่ได้มักมาจากชื่อเสียงและความนิยมที่ประชาชนมีต่อหัวหน้าพรรคเป็นหลัก และทำให้ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคส่วนหนึ่งได้เป็นส.ส.ไปด้วย

แต่พรรคขนาดเล็กเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูงในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีโอกาสและบทบาททางการเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ และหายไปในที่สุด สมาชิกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยของพรรคเหล่านั้น ไม่มีความรู้สึกผูกพันมากนักกับพรรคหรือหัวหน้าพรรค ดังนั้นหากบุคคลใดที่บังเอิญได้เป็น ส.ส. จากการสังกัดพรรคเหล่านี้ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะตีจากหรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางการเมืองได้โดยง่าย ถ้าหากถูกเสนอหรือหยิบยื่นด้วยผลประโยชน์เป็นจำนวนที่มากเพียงพอจำนวนหนึ่ง เพราะคนเหล่านี้มีวิธีคิดแบบ “กำขี้ดีกว่ากำตด” นั่นเอง

ในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้น กลุ่มนักการเมืองที่คาดการณ์ว่าจะเป็นงูเห่า น่าจะมาจากพรรคการเมืองใหม่ๆ ขนาดเล็กหลายพรรค หรือแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ขนาดใหญ่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นเช่นเดียว หรือแม้แต่พรรคเก่าบางพรรคที่ตกอยู่ในสถานการณ์ตะวันใกล้สนธยาก็มีโอกาสเกิดงูเห่าเช่นเดียวกัน

หากงูเห่ามีนัยถึงการเนรคุณ และเป็นภาพแสดงถึงความเป็นคนไม่ดีแล้ว กลุ่มบุคคลที่ซื้องูเห่าหรือมีการกระทำที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมงูเห่า ก็เป็นผู้ส่งเสริมและขยายพฤติกรรมเนรคุณ หากสังคมรังเกียจงูเห่า แต่ไม่รังเกียจผู้สร้างหรือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมงูเห่า ก็เท่ากับว่าเป็นสังคมที่หน้าไหว้หลังหลอกนั่นเอง และการเมืองไทยก็เป็นการเมืองแบบหน้าไหว้หลังหลอกต่อไปเรื่อยๆ ดังที่เคยเป็นมาในอดีต และยังเป็นต่อไปในปัจจุบัน และอนาคต

การเมืองแบบงูเห่าเป็นการเมืองที่ไม่น่าพึงปรารถนา เพราะนอกจากไม่ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว ยังบั่นทอนคุณค่าและความหมายของประชาธิปไตยให้ด้อยลงด้วย ดังนั้นหากนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองใดมีส่วนร่วมในการสร้างและกระทำพฤติกรรมงูเห่า ควรจะได้รับการลงโทษทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น