xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเออร์’ โดนพิษเคมีเกษตร...

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


สารพิษเคมีเกษตร 3 ตัวร้าย ซึ่งผู้กุมอำนาจรัฐไทยยังยอมให้ผู้จำหน่ายขายได้ ทำให้คนไทยต้องเสี่ยงต่อการตายผ่อนส่งจากโรคมะเร็งและสารพัดโรคอื่นๆ กำลังสร้างปัญหาให้บริษัทเคมียักษ์ใหญ่ของเยอรมนี หลังจากไปซื้อบริษัทมอนซานโต้ของสหรัฐฯ ในปี 2018

มอนซานโต้ เป็นบริษัทมหาชนด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นต้นแบบของการผลิตพืช จีเอ็มโอ ตัดแต่งพันธุกรรม มีเงื่อนไขต่างๆ เครือข่ายอิทธิพลมากสร้างปัญหาด้านสังคมเกษตรในกลุ่มประเทศโลกที่ 3

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของไบเออร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ลงมติคัดค้านแผนการซื้อบริษัทมอนซานโต้ เสียงคัดค้านมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ถือหุ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า “ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ” สำหรับนักลงทุน ผู้ถือหุ้นของบริษัทเยอรมนี

นั่นเป็นเพราะเห็นความเสี่ยงที่จะต้องเสียเงินมหาศาล เสียชื่อเสียง รายได้ตก!

การซื้อมอนซานโต้ ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีเพื่อให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต่างๆ เดินเรื่องอนุมัติ เพราะเป็นธุรกรรมซื้อ กิจการขนาดยักษ์ ทำให้ไบเออร์ได้เป็นกลุ่มเคมีเกษตรต่างๆ เวชภันฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลก และผู้บริหารกำลังปวดหัวกับการตัดสินใจครั้งนี้

ตั้งแต่ซื้อมอนซานโต้มา ราคาหุ้นมอนซานโต้ดิ่งเหว ตกไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าหุ้นรวมของไบเออร์ช่วงนี้มีเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องไปจ่ายเพื่อซื้อมอนซานโต้ นับเป็นชะตากรรมที่ไบเออร์เลือกเอง และยังต้องเสี่ยงกับการจ่ายเงินชดเชยมหาศาล

มอนซานโต้จะรอดตัวไปพร้อมกับเงินค่าหุ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคดีค้างคาอยู่!

มอนซานโต้ เป็นตัวแม่ของผู้ผลิตยาฆ่าหญ้ายอดนิยม และเป็นบริษัทหลักในการค้นคิดผลิตพันธุ์พืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือเรียกกันว่าพืชผีดิบ ซึ่งโดนต่อต้านในยุโรป และหน่วยงานรัฐไทยได้ยอมให้ทดลองปลูกในไทย จนแพร่กระจายไม่รู้ว่าลามไปถึงไหนแล้ว

ในบ้านเราคือพาราควอต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เคมีเกษตรที่เป็นปัญหาหลัก

ความร้อนวิชา หรือแผนแฝงเร้นรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้จำหน่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการไทยกลุ่มหนึ่งยอมให้ทดลองพืชผีดิบ และให้ใช้สารพิษเคมีเกษตร ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอยากรู้ด้วยตัวเอง เพราะหลายประเทศทั่วโลกไม่ยอมให้ใช้

มองย้อนไป กลุ่มไบเออร์ เอจี ของเยอรมนี ไม่รู้ว่าคิดอย่างไร ถึงได้ซื้อกลุ่มมอนซานโต้ใช้เงินมากถึง 63 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายนปีก่อน ทั้งๆ ที่ยุโรปไม่ยอมให้ใช้ แต่คงจะนำไปขายในประเทศอื่นๆ หลังจากมอนซานโต้ล้มเหลวในการทำตลาด

ตั้งแต่นั้น กลุ่มไบเออร์เจอดี ราคาคุ้นตกรูดมหาราชหลังจากไปซื้อมอนซานโต้มา และยังเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เงินชดเชยจากเหยื่อโรคมะเร็ง จากการใช้ยาฆ่าหญ้าราว์ดอัพ มีคดีฟ้องร้องในศาลในสหรัฐและแคนาดา และมีคดีค้างคาอยู่เพียบ

เมื่อ 11 สิงหาคมปีก่อน คณะลูกขุนประจำศาลในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งให้บริษัท มอนซานโต้ บริษัทมหาชนด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ จ่ายเงินชดเชยจำนวนถึง 289 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,500 ล้านบาท)

เหยื่อมะเร็งคือนายดีเวย์น จอห์นสัน ชายชาวอเมริกัน อดีตคนดูแลสวนของโรงเรียน ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาผลิตภัณฑ์ปราบวัชพืชยอดนิยมของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งมีสารไกลโฟเสต (glyphosate) เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้มีปัญหาสุขภาพ

มอนซานโต้ได้ยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าไกลโฟเสต ไม่มีพิษต่อสุขภาพ เว้นแต่จะไปใช้ผสมกับสารอื่นแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดพิษ จนเป็นเหตุร้ายต่อสุขภาพ

ยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืชแรนเจอร์โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 13,400 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโต้มีส่วนก่อมะเร็ง ทำลายสุขภาพ แต่มอนซานโต้แย้งตลอด

การที่ไบเออร์ ไปซื้อมา ถือว่าไปรับเคราะห์กรรมมาแทนมอนซานโต้ นอกจากจะเสี่ยงกับการต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล คดีความหลายพันคดียืดเยื้อ เสียค่าใช้จ่าย ค่าทนายความแล้ว การทำตลาดสำหรับสินค้ามอนซานโต้จะไม่ง่าย เพราะโดนต่อต้าน

ผู้ถือหุ้นยังไม่เอา แล้วจะให้คนอื่นๆ คิดอย่างไร แม้มติของผู้ถือหุ้นจะไม่มีผลต่อแผนของบริษัท แต่ได้บีบให้คณะกรรมการบริหารต้องรับรองประสิทธิภาพและความเป็นผู้นำของซีอีโอ เวอร์เนอร์ บอร์มานน์ ว่ายังได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการ

กลุ่มไบเออร์ เอจีเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและยา บริษัทก่อตั้งในปี ค.ศ. 1863 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเลเวอร์คูเซิน ประเทศเยอรมนี บริษัทเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นเจ้าของชื่อทางค้าว่า แอสไพริน และเคมีเวชภัณฑ์ตัวอื่นๆ อีกมาก

มียอดรายได้รวม 39.586 พันล้านยูโร ในปี 2018 มีพนักงานรวม 110,838 คน มีสำนักงานสาขา ตัวแทนและบริษัทร่วมทุนทั่วโลก รวมทั้งมีการลงทุนมากมายในไทย

นักวิเคราะห์ เดเมียน โคโนเวอร์ ของมอร์นิ่งสตาร์ ประเมินว่าไบเออร์จะต้องจ่ายค่าชดเชยมากถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ในคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับสารไกลโฟเสต ในกรณีที่ร้ายที่สุด ความเสียหายอาจต้องจ่ายสูงถึง 14.6 พันล้านดอลลาร์ แล้วแต่คดีหนักหรือเบา

กลุ่มมูดี้ส์ ประเมินว่าถ้าไบเออร์จ่ายเงินชดเชยประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์ ก็ยังอยู่ในข่ายที่พอรับได้ แต่ถ้าต้องจ่ายมากถึง 22.4 พันล้านดอลลาร์ ต้องมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการเงินของบริษัทแน่นอน แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ แข็งแกร่งด้านการเงิน

นักวิเคราะห์ยังไม่สิ้นสงสัยว่าไบเออร์ทำการบ้านดีหรือไม่ ก่อนไปซื้อบริษัทมอนซานโต้มาเป็นภาระติดพันมหาศาล ทางเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาก็คือการแยกกลุ่มธุรกิจเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อไบเออร์ และแยกตัวปัญหาออกไปเพื่อจัดการให้เสร็จสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น