xs
xsm
sm
md
lg

"ธนาธร"รอดยาก เสี่ยงคุก หมดอนาคตการเมือง !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้บรรดาแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ผูกติดอนาคตเอาไว้กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พยายามใช้วิธีสื่อสารผ่านทางโซเชียลฯ เพื่อเร่งเร้าให้บรรดาผู้สนับสนุนไปให้กำลังใจ และยืนเคียงข้าง ธนาธร หลังจากถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งข้อกล่าวหา กรณีถือครองหุ้น บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อ เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.โดยให้เวลาชี้แจงภายใน 7 วัน
แน่นอนว่าในระหว่างนี้ทาง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คงได้รับหนังสือแจ้งข้อหา จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ยังได้แจ้งไปยังผู้ร้อง คือ ศรีสุวรรณ จรรยา เพื่อนัดไต่สวนสอบเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายในวันศุกร์ที่ 26 เมษายนนี้ เรียกว่าทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ภาวะอารมณ์ลุ้นระทึก เพราะมันเสี่ยงถึงอนาคตทางการเมืองที่กำลังเริ่มต้นไปได้สวย และที่สำคัญยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องไปถึงเรื่อง "คุก" ตะรางตามมาอีกด้วย
ปมปริศนาในเรื่องวัน เวลา ของการโอนหุ้นของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และภรรยาไปให้ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานั้น เป็นวันใดกันแน่ นั่นคือ วันที่ 8 มกราคม 62 ตามที่ ธนาธรอ้าง หรือโอนหุ้นหลังจากนั้น ตามที่ "สำนักข่าวอิศรา"ไปขุดคุ้ยพิรุธแล้วนำมาเปิดเผย
เพราะความหมายก็คือ หากโอนหุ้น บริษัทวีลัคมีเดียฯ เกิดขึ้นวันที่ 8 มกราคม จริง ก็เกิดขึ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กำหนดเอาไว้ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ถือว่าไม่ขัดกับคุณสมบัติต้องห้ามที่ "ถือหุ้นสื่อ"
แต่จากเอกสารหลักฐานที่มีการขุดคุ้ยออกมา ทำให้ยังเชื่อว่า ในวันดังกล่าวเขายังถือครองหุ้น ยังไม่มีการโอนหุ้น เพื่อความเป็นธรรมอาจ "ลืม"ไปว่า มีหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่ แต่หลังจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้เพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งของผู้สมัครรายหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ ในกรณีถือหุ้น บริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่บริษัทดังกล่าวนี้ มีการจดแจ้งครอบคลุมดำเนินกิจการในด้านสื่อทุกประเภทด้วย ทำให้มี "ลักษณะต้องห้าม" จนถูกเพิกถอนสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งพยายามมองด้วยความเป็นธรรมว่า กรณีของ ธนาธร อาจจะหลงลืมแบบนี้ได้เหมือนกัน และน่าจะใช้วิธีสู้ทางกฎหมายแบบนี้ โดยเฉพาะเป็นบริษัทที่รับจ้างพิมพ์หนังสืออย่างเดียว ไม่ได้ผลิตสื่ออย่างอื่น และกำลังจะเลิกกิจการ ก็ว่าไป
**แต่นี่ดันพยายามแก้ต่างอีกแบบ จนกลายเป็นเผยข้อพิรุธใหม่ออกมาเรื่อยๆ และเสี่ยงต่อการปลอมแปลงเอกสาร และยังเสี่ยงต่อการลากคนอื่นให้โดนคดีอาญา เช่น สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นมารดา ในลักษณะปลอมแปลงเอกสารการซื้อขายหุ้นที่มีตัวละครเช่น "หลาน" มาเพิ่มอีกสองคนในการมาซื้อขายหุ้นในภายหลัง
หรือกรณีการช่วยแก้ต่างของ "คู่หู" อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีที่ ธนาธร เดินทางออกจากบุรรีรัมย์ ในช่วงบ่ายเข้ากรุงเทพฯ ด้วยการนั่งรถตู้ และมีการโชว์หลักฐานเป็น อีซีพาสด่านทางด่วนแถวธัญญบุรี ในช่วงเวลาบ่ายสามโมงกว่า เพื่อมาโอนหุ้นในวันเดียวกัน ขณะที่ตัวปิยบุตร เองบอกว่าแยกมานั่งเครื่องบินจากบุรีรัมย์กลับกรุงเทพฯ
เพียงแค่นี้มันก็เป็นพิรุธที่รัดคอตัวเอง และนอกจากไม่เป็นประโยชน์ในทางบวกให้กับธนาธร ได้เลย ในทางตรงกันข้ามกับคำถามง่ายๆก็คือทำไมไม่นั่งเครื่องบินจากบุรีรัมย์กลับมากรุงเทพฯพร้อมกัน ก็เพราะว่าในตั๋วเครืองบินนั้นมันต้องระบุชื่อ นามสกุล และต้องแสดงบัตรประชาชนยืนยันการเดินทางนั่นเอง
อย่างไรก็ดีก็ได้แต่หวังว่าภายในเวลา 7 วันนี้ ธนาธร คงจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้สำเร็จ เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้มันก็จะส่งผลตามมามากมาย โดยมีกูรูทางกฎหมายหลายคนได้ให้ความเห็นเอาไว้ เช่น เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการด้านการเมือง สปท.ที่ระบุถึงคำว่า "การเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม"นั้นมีความหมายเพียงใดโดยเทียบเคียงกับ พรป.เลือกตั้ง สส.มาตรา 54 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "หากผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่า ตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิดหรือไม่แจ้งข้อเท็จจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม"
**ความหมายก็คือ ในเมื่อ "ธนาธร" รู้แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังปกปิดในเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่ง กกต. มีอำนาจสั่งระงับสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการดังกล่าวเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี
และที่น่าติดตามก็คือ หากผู้สมัครที่กระทำการข้างต้นเป็นหัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรคด้วยแล้ว ให้กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคนั้นได้ด้วย และให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น และยังอาจถูกดำเนินคดีอาญาอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีความเห้นทางกฎหมายของ "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่อ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยมี ในกรณีการโอนหุ้นมาเปรียบเทียบว่า "การโอนหุ้นจะมีผลจนกว่าได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อ และสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรค 3"
ความหมายก็ คือการโอนหุ้นจะสมบูรณ์่ เมื่อมีการแจ้งต่อนายทะเบียนที่มีหลักฐานในวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็แสดงว่า ในช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ที่เป็นวันรับสมัครเลือกตั้งส.ส. นั้น ธนาธรยังถือหุ้นดังกล่าวอยู่ และเข้าข่ายปกปิดคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งมีโทษอาญาหรือไม่
หากพิจารณาจากพยาน หลักฐานเอกสาร ที่ทางฝ่ายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อ้างว่าจะเห็นน่าหวาดเสียว และฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าใดนัก แต่หากยกเอาเรื่องหลงลืมและอ้างว่าบริษัทดังกล่าวเพียงรับจ้างผลิตหนังสืออย่างเดียว ไม่ได้ทำสื่อประเภทอื่นและกำลังจะเลิกกิจการแล้ว ก็อาจยังพอฟังได้บ้าง แต่เมื่อการแก้คัวปกปิดไปอีกทางก็ยิ่งทำให้ถลำลึกเข้ารกเข้าพงไปไกลจนกู่ไม่กลับ
**ดังนั้นหากพิจารณากันตามตัวบทกฎหมาย และส่อเจตนาปกปิดความผิด มันก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าผลสะท้อนที่จะกลับมาน่าจะเหนือความคาดหมาย ซึ่งเท่าที่มองเห็นมันเสี่ยงทั้งคุก และอนาคตทางการเมือง และที่สำคัญนาทีนี้ดูแล้ว รอดยาก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น