xs
xsm
sm
md
lg

รู้และเข้าใจโลกอนาคต ผ่านหนังสือ “คนกับเอไอ”

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


ยุคนี้เป็นยุคเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือสมองกล เทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโลกหรือ Disruptive ก็คือ เอไอ นี่แหละ

เอไอ (AI – Artificial Intelligence) เป็นวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แขนงหนึ่ง ที่ทำให้คอมพิวเตอร์เลียนแบบพฤติกรรม และคิดแบบมนุษย์ได้ จึงเรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ คือ ปัญญาที่มนุษย์สร้างให้

มนุษย์สร้างปัญญาให้คอมพิวเตอร์ด้วยการเขียนอัลกอริทึม คือ ชุดคำสั่งในการแก้ปัญหาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นลำดับขั้นตอนชัดเจน อัลกอริทึมแบบแมชชีน เลิร์นนิง หรือการเรียนรู้ของเครื่องจักร ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้วิธีการทำงาน การแก้ไขปัญหาจากข้อมูลจำนวนมากที่มนุษย์ป้อนให้

เอไอแก้ปัญหาทำงานได้แทบทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ และทำได้ดีกว่าเสียด้วย จึงมีการนำเอไอมาทำงานแทนคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความหวั่นวิตกว่า อีกไม่ช้าคนจะตกงานเป็นจำนวนมาก เพราะถูกเอไอแย่งงานไปจนหมด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 สำนักข่าวซินหัวของจีน เปิดตัวผู้ประกาศข่าวหญิงเอไอที่สามารถอ่านข่าวได้เอง มีบุคลิกรูปร่างหน้าตาที่ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้เลยว่า เป็นหุ่นยนต์ไม่ใช่มนุษย์

ผู้ประกาศข่าวเอไอรายนี้เป็นรายที่สองของโลก รายแรกเป็นผู้ชาย เป็นผู้ประกาศข่าวเอไอของสำนักข่าวซินหัวเช่นกัน โดยเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ทั้งสองรายนี้จำลองบุคลิก หน้าตา น้ำเสียงมาจากผู้ประกาศข่าวที่เป็นคนจริงๆ ที่เหนือกว่า คือ สามารถอ่านข่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเหน็ดเหนื่อย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าจ้างพนักงานที่เป็นคนอ่านข่าวได้

แน่นอนว่า การปรากฏตัวของพิธีกรเอไอทั้งสองรายนี้ นำไปสู่คำถามว่า หุ่นยนต์ได้ก้าวออกจากโรงงานมายึดหน้าจอแล้วหรือ งานพิธีกร ผู้ประกาศข่าวจะเป็นอาชีพล่าสุดที่ถูกเอไอเข้ามาแทนที่ เหมือนงานในโรงงานอุตสาหกรรม งานบริการ ก่อนหน้านี้ใช่ไหม

พอล ดอร์เฮอร์ตี้ กับ เจมส์ วิลสัน ซึ่งร่วมกันเขียนหนังสือ “คนกับเอไอ โอกาสและความเสี่ยง” จะตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ความคิดที่ว่า คนจะตกงานเพราะถูกหุ่นยนต์แย่งงานไปทำหมด และในที่สุดหุ่นยนต์จะครองโลก มีอยู่แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์แฟนตาซี

ดอร์เฮอร์ตี้ กับวิลสัน บอกว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนกับหุ่นยนต์ หรือคนกับเอไอ ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่แข่งหรือศัตรูกัน แต่สามารถเป็นเพื่อนที่ทำงานร่วมกันได้ โดยการออกแบบกระบวนการธุรกิจใหม่ ที่คนทำงานที่ตัวเองทำได้ดี เช่น งานที่ละเอียดต้องใช้ความประณีต งานที่ต้องใช้การตัดสินใจ หุ่นยนต์ทำงานที่เกินกำลังของคน เช่น การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล งานที่ต้องทำซ้ำๆ งานที่เกินขีดความสามารถทางกายภาพของตน เช่น ยกของหนัก บินขึ้นไปถ่ายรูปบนท้องฟ้า หรือ ดำลงไปใต้น้ำ เป็นต้น

ที่ผ่านมา การที่คนกับหุ่นยนต์แยกกันทำงาน ทำให้เกิด Missing Middle หรือช่องว่างระหว่างคนกับหุ่นยนต์หรือสมองกล ซึ่งเป็นแนวความคิดหลักของหนังสือ “คนกับเอไอ” ผู้เขียนทั้งสองบอกว่า ในช่องว่างนี้ คือ งานที่เป็นงานในยุคเอไอที่คนกับเอไอทำงานร่วมกันเพื่อสร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ ที่จะยกระดับประสิทธิภาพของการทำงานอย่างทวีคูณ

ผู้ประกาศข่าวเอไอของซินหัว ถูกชาวเน็ตวิจารณ์ว่า ดูยังไงก็เป็นหุ่นยนต์ เพราะอ่านข่าวไม่เป็นธรรมชาติ ตรงนี้คือ งานผู้ประกาศข่าวของสำนักข่าวซินหัวที่เป็นคน ที่จะต้องเป็นผู้สอนให้ผู้ประกาศข่าวเอไออ่านข่าวให้เป็นธรรมชาติ แก้ไข ปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดูเป็นมนุษย์ เพื่อที่ว่าตัวเองจะได้ไม่ต้องมานั่งอ่านข่าวตามสคริปต์ เพราะมีเอไอมาทำหน้าที่แทน เอาเวลาไปคิดประเด็นข่าวที่จะสัมภาษณ์แหล่งข่าวในรายการสด ซึ่งเป็นงานที่เอไอทำไม่ได้

นี่คือตัวอย่างงานของคน กับงานของเอไอที่ทำร่วมกัน ในกระบวนการผลิต นำเสนอข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ในยุคคนกับเอไอ แต่การที่คนจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีทักษะแบบใหม่ ผู้นำองค์กรต้องคิดใหม่ ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า กระบวนการธุรกิจแบบใหม่ในยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีเอไอควรจะเป็นอย่างไร ถึงจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำให้การทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ เอาเอไอมาทำงานแทนคนเท่านั้น แต่เป็นการสร้างกระบวนการธุรกิจแบบใหม่ที่คนกับเอไอทำงานไปด้วยกัน

หนังสือ “คนกับเอไอ โอกาสและความเสี่ยง” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้รู้ทัน เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันที่เกิดจากเทคโนโลยีเอไอ ที่เรามักจะเรียกกันว่า Disruption เมื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะทำให้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร

ผู้เขียนหนังสือทั้งสองบอกว่า เป้าหมายในการเขียนหนังสือ คนกับเอไอ คือ เพื่อช่วยนำทางผู้คนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เอไอกำลังนำมาสู่ธุรกิจ รัฐบาล และเศรษฐกิจ ด้วยความเชื่อว่า ภายใต้แนวทางการบริหารที่ถูกต้อง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ปรับปรุงวิธีการทำงาน และใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งยังสร้างงานประเภทใหม่ๆ จำนวนมากให้เกิดขึ้น

“เราหวังว่า หนังสือของเราจะเป็นเลนส์ที่ดีกว่าเดิมในการทำความเข้าใจกับโอกาสและความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า และเป็นโรดแมปสำหรับการนำเอไอมาใช้กับงานที่เราทำอยู่ พวกเราทั้งหลายจะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีเอไออย่างรับผิดชอบ และการคิดใหม่เรื่องงานอย่างไม่หยุดยั้ง

ถึงเวลาแล้วที่จะโยนความคิดเก่าที่มองคนกับเครื่องจักรว่า อยู่คนละฝ่ายตรงข้ามกันทิ้งไป และอ้าแขนรับโลกใหม่ที่น่าตื่นเต้น คือ โลกของคนกับเครื่องจักรที่อยู่ในฝั่งเดียวกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น