xs
xsm
sm
md
lg

"เดชา"ซัดจับกุมกัญชามีเงื่อนงำ-ปูดเอื้อประโยชน์3บ.ยักษ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - “เดชา” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เชื่อจับกุมปม "กัญชา" มีเงื่อนงำ ยันกัญชาเป็นของตัวเองทั้งหมด ไม่เกี่ยว "อ.ซ้ง" และมูลนิธิข้าวขวัญ ชี้มีความผิดปกติ เหตุจับกุมช่วงนิรโทษ แถมไม่รับแจ้งครอบครอง อ้างไม่มีกัญชา และไม่ใช่หมอพื้นบ้าน ทั้งที่ทำงานหมอพื้นบ้านมานานกว่า 20 ปี เผยหลังแจ้งครอบครองตั้งใจร่วม "อภัยภูเบศร" พัฒนาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ลุยฟ้องศาลคดีทุจริต จนท.ประพฤติมิชอบ พร้อมเข้าพบ ป.ป.ส. แสดงความบริสุทธิ์ใจวันนี้ (11 เม.ย.) ผอ.มูลนิธิชีววิถีมั่นใจ 3 บริษัทยักษ์อยู่เบื้องหลังได้รับผลประโยชน์ครั้งนี้ ขณะที่อย.แจงไม่เกี่ยวจับกุมมูลนิธิข้าวขวัญ ส่วนช่วงนิรโทษทำถูกหรือไม่ ขึ้นกับการตีความของผู้เชี่วชาญกฎหมาย อย.ไม่ขอก้าวล่วงคดี ยันไม่มีเอื้อนายทุน

วานนี้ (10 เม.ย.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี แถลงข่าวภายหลังเดินทางกลับมาจาก สปป.ลาว ถึงกรณีตำรวจ ป.ป.ส.บุกตรวจค้นและจับเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญและยึดของกลางกัญชาทางการแพทย์ ท่ามกลางการมาให้กำลังใจของเหล่าเครือข่ายภาคประชาชน เช่น มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เป็นต้น ซึ่งมีการชูป้ายว่า #SaveDecha รวมถึงตะโกนให้กำลังใจ "เซฟเดชา"

นายเดชา กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้เดินทางไปประกันนายพรชัย ชูเลิศ หรืออาจารย์ซ้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญด้วยตนเอง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของตน ซึ่งนายพรชัยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย กัญชาทั้งหมดเป็นของตนคนเดียว ไม่เกี่ยวกับใครเลย ดังนัน จึงต้องปล่อยนายพรชัยโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเขาไม่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่า มูลนิธิข้าวขวัญก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

"ตนคิดว่าการจับกุมในช่วงนิรโทษกรรมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากการแจกจ่ายน้ำมันกัญชาของตนนั้นก็เพื่อรักษาคน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ป่วยที่ควรจะได้รับยา จึงควรมองเรื่องศีลธรรมมาก่อนกฎหมายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ แม้กฎหมายจะถูกต้องก็ยังอยู่ระหว่างช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 19 พ.ค. 2562"

ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองนั้น เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกเป็นเดือน และยังอยู่ในช่วงของการเตรียมเอกสารให้พร้อมในการไปแจ้งครอบครอง แต่เจ้าหน้าที่กลับมาตรวจต้นในช่วงที่ตนไม่อยู่มูลนิธิฯ และการนิรโทษกรรมยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการพิสูจน์ว่า นิรโทษจับได้หรือไม่ และใครเข้าใจผิดกันแน่

ส่วนประเด็นที่ตังข้อสังเกตการจับกุมครั้งนี้มีนายทุนใหญ่หนุนหลังอยู่หรือไม่ นายเดชา กล่าวว่า ตนก็เข้าใจแบบนั้น ต้องมีเบื้องหลังแน่ เพราะมีความผิดปกติหลายอย่าง ทั้งใส่ร้ายป้ายสีมูลนิธิ กล่าวหาปลูกข้าวบังหน้า ทำกัญชาลับหลัง ซึ่งถามว่ากัญชาอยู่ในถุง ยังไม่ได้ลงดิน จะมาบอกว่าปลูกไม่ได้ และที่แจกกัญชาช่วงนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่ได้รับแจกไปแจ้งการครอบครองให้ถูกกฎหมาย สื่อที่กล่าวหาว่ามูลนิธิฯ ปลูกข้าวบังหน้า ทำกัญชาลับหลัง หากไม่ออกมาขอโทษก็จะดำเนินการฟ้องร้องด้วย

"ผมมองว่าเรื่องนี้มีความผิดปกติ เพราะมุ่งมาค้นเราตอนที่เราไม่อยู่ ไม่รู้ว่าหมายค้นมีหรือไม่ และเมื่อค้นรอบแรกเสร็จ 4-5 ทุ่ม ปรากฏว่า ป.ป.ส.ส่วนกลางมาอีกครั้ง ค้นจนถึงบ้านบนยอดไม้ของผมด้วย พังประตูเข้าไป ทั้งที่ช่วงนี้เป็นช่วงนิรโทษกรรม ขณะที่วันก่อนผมให้ตัวแทนไปยื่นแจ้งครอบครองกัญชา ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีของหรือกัญชาที่จะแจ้งครอบครอง ซึ่งจะมีได้อย่างไร ในเมื่อของถูกยึดไปหมดแล้ว และบอกว่าผมไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้าน ทั้งที่ผมเป็นหมอพื้นบ้านมานานกว่า 20 ปีแล้ว ไปหาอ่านบทความในหมอชาวบ้าน หรือมูลนิธิสุขภาพไทยได้เลย" นายเดชา กล่าว

นายเดชา กล่าวว่า ตามกฎหมาย อาจารย์วิชา มหาคุณ ในฐานะผู้เขียน พ.ร.บ.ยาเสพติด (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ยังบอกเลยว่าช่วงนิรโทษกรรมแต่ทำแบบนี้ถือเป็นการกลั่นแกล้งให้เสียสิทธิ กักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งตนจะใช้สิทธิผ่านศาลคดีทุจริต ซึ่งเป็นศาลเฉพาะ โดยให้ผู้เสียหายคือนายพรชัยเป็นผู้ร้อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่วนเรื่องของทนายนั้นก็มีคนเสนอเข้ามาช่วย แต่คงจะใช้ทนายจาก 3 มูลนิธิ

นายเดชา กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าการค้นคว้าเรื่องกัญชามีความปอดภัย เพราะผมใช้จริงกับตัวเองมาก่อน รวมถึงญาติ คนสนิท ลูกศิษย์ ทั้งที่ใช้มากกว่าปกติเป็น 100 เท่า ก็พบว่าไม่มีอันตราย ถึงได้กล้าแจก ซึ่งก็แจกเป็นระบบ มีข้อมูลคนไข้ที่แจกกว่า 5,000 ราย แต่ละคนผลเป็นอย่างไรบ้าง ก็ไม่มีใครเป็นอันตราย และตนตั้งใจว่า หลังจากยื่นของนิรโทษครอบครองกัญชาแล้ว จะเดินหน้าทำเรื่องกัญชาทางการแพทย์ต่อ ซึ่งมีการหารือกับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ที่จะดำเนินการร่วมกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อที่จะได้ทำถูกกฎหมาย 100%

นายเดชา กล่าวว่า ในวันที่ 11 เม.ย. ตนจะเดินทางไปแสดงตัวต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เวลาประมาณ 10.00 น. และจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเพื่อดูว่าออกหมายเรียก หรือหมายจับ หรือหมายอะไรกันแน่

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ภารกิจต่อจากนี้ คือ ต่อสู้คดีอาจารย์เดชา ซึ่งยังไม่มีไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจต้องมีการประกันตัวในการสู้คดีอีก และที่จะทำร่วมกันคือ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายโดยมิชอบ เช่น การจับกุมในช่วงนิรโทษ 90 วัน การปฏิเสธว่าไม่ใช่หมอพื้นบ้าน ส่วนที่บอกว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตรงนี้กฎหมายก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่อาจารย์เดชาทำงานหมอพื้นบ้านมาตลอด ทั้งนี้ เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวมีบริษัทใหญ่ 3 บริษัท ที่จะร่วมกับรัฐและต่างประเทศในการพัฒนาวิจัยกัญชา เพราะได้ประโยชน์

*** อย.ออกตัวไม่เกี่ยวจับ "กัญชา" มูลนิธิข้าวขวัญ

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมแถลงข่าวเรื่อง "กัญชา" กรณีตำรวจจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ ว่า อยู.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าตรวจสอบและการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ แต่เป็นตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ส่วนประเด็นเรื่องการเข้าตรวจสอบและจับกุมในช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน มาแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ นั้น ขณะนี้มีผู้รู้กฎหมายตีความออกมาหลากหลายและไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ทางด้านเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญกฎหมายตีความ อย.คงไม่ก้าวล่วง เพราะอยู่ในช่วงของการดำเนินคดี

ส่วนประเด็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เพื่อเอื้อนายทุนหรือภาคเอกชนรายใหญ่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ไม่มีการเอื้อนายทุนใหญ่เลย อย่างคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถขอรับอนุญาตปลูก ผลิต สกัด กัญชา ตามกฎหมายช่วง 5 ปีแรก เปิดไว้ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่สอนแพทย์ รพ.รัฐ และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ต้องมาดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร มาร่วมกับหน่วยงานรัฐปลูกผลิตสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ จะเห็นว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเกษตรกรไทยเลย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการปลูกผลิตสกัดกัญชา และที่ทำได้อีก คือ การศึกษาวิจัยที่เปิดกว้างมาก ทั้งรัฐและเอกชนที่มาขอวิจัยได้ ซึ่งขณะนี้มีมายื่นศึกษาวิจัยกับ อย.จำนวนมาก เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร


กำลังโหลดความคิดเห็น