xs
xsm
sm
md
lg

ระทึกรัฐบาลใหม่ เกมพลิก กกต.เป็น"ตัวแปร"ชี้อนาคต !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แม้ว่าในช่วงสายวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรรวม 7 พรรคจะชิงประกาศรวบรวมเสียงให้สัตยาบันจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน โดยมีเสียง ส.ส.ราว 255 เสียง ซึ่งเกินจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดไว้ 251 เสียงจากจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน
โดย ทั้ง 7 พรรคดังกล่าวประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ เศรษฐกิจใหม่ และพลังปวงชนไทย แต่อย่างไรก็ดีต้องหมายเหตุไว้นิดหนึ่งว่า ในการแถลงข่าวดังกล่าว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้มาร่วมด้วย โดยล่าสุดพวกเขาก็ได้ไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอยืนยันตัวเลข ส.ส.แต่ได้รับคำตอบว่าต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการก่อน แต่ที่ผ่านมา มิ่งขวัญก็ได้ประกาศท่าทีชัดว่าจะร่วมยืนอยู่ฝั่งนี้ไปแล้วก็ตาม
แต่ถึงอย่างไรก็ดีเรื่องก็"ยังไม่จบ"เพราะอย่างที่รับรู้กันว่าเวลานี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยังไม่ได้ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ ต้องรอไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม และเวลานี้ก็มีการนับคะแนนไปร้อยละ 95 คะแนนที่เหลืออีกร้อยละ 5 หรืออีกกว่าล้านคะแนนที่ยังรวบรวมไม่เรียบร้อย ถึงเวลานั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น เหมือนกับที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯที่เคยสัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้มานานหลายยุคจะชี้เปรี้ยงทันทีว่าเป็นเพียงหวังผลทางจิตวิทยาเท่านั้น เพราะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติหรือทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลหลักๆคือนอกเหนือจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยังไม่ประกาศการรับรองผลการเลือกตั้ง ยังนับคะแนนครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีเรื่องร้องเรียน ต้องวินิจฉัยอีกมากมาย หรืออาจมีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต หรือมีการแขวน ให้ใบเหลือ ใบส้ม ใบแดง ก็ได้ และอาจทำให้จำนวน ส.ส.เปลี่ยนแปลงไปก็ได้ เพราะหากจำนวนเสียง ส.ส.ทั่ง 7 พรรคที่ว่านั้นรวมได้ 255 เสียง ซึ่งมันก็แค่"คร่าวๆ"เท่านั้น เพราะไม่ใช่ทางการ
และแม้ว่าการชิงรวบรวมเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงข้างมาก(กว่า)คือ 255 เสียงเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมส่งสัญญาณไปถึง ส.ว.ในทำนองว่าห้ามโหวตสวนทางโดยอ้างเจตนารมณ์และหลักการเสียงจากตัวแทนประชาชนที่เป็นเสียงข้างมาก เพื่อสกัดฝ่ายที่สนับสนุน"ลุงตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวนเสียงสนับสนุนเพียงแค่ 255 เสียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ เพราะต้องใช้เสียงรวมกันถึง 376 เสียง โดยโหวตในรัฐสภา(สมาชิกรวม 750 คน) นั่นคือต้องมี ส.ว.อีก 250 คนมาร่วมโหวตด้วย และยังคงคาดหวังว่าเมื่อได้รับการโหวตเป็นนายกฯแล้วค่อยมาหาเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองเพิ่มเติมในภายหลัง
อย่างไรก็ดีกว่าจะถึงขั้นตอนนั้นยังต้องใช้เวลาอีกเป็นสอง-สามเดือน ตามที่ วิษณุ เครืองามได้กางไทม์ไลน์ให้เห็นน่าจะได้โหวตเลือกนายกฯในราวปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนโน่น โดยจะต้องผ่าน"พระราชพิธีสำคัญ"ในเดือนพฤษภาคมไปก่อน ดังนั้นที่เห็นในเวลานี้ จึงยังสรุปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของจริง
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่จะได้เห็นบางพรรคจะไม่มีการเคลื่อนไหว เลือกที่จะ"นิ่ง"รอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาหรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น แม้ว่าในทางลึกคงจะมีการเจรจาต่อรองกันไปแล้วก็ตาม
แต่สำหรับฟากเพื่อไทย ที่จับมือกันลงสัตยาบันในครั้งนี้มองจากแบ็กกราวด์แล้วก็ไม่ใ่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะพวกเขาได้จับมือกันมาก่อนการเลือกตั้ง หรือเป็นลักษณะของพรรค"ตระกูลเพื่อ"อย่างที่รู้กัน
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องโฟกัสใหม่ก็คือ"ตัวแปรใหม่"ที่เพิ่มเข้ามานาทีนี้กลับกลายเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นอกเหนือจากต้องรอผลการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งถึงเวลานั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนน ส.ส.ของบางพรรคการเมือง ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ของ กกต.คราวนี้ถือว่าได้รับการวิจารณ์หนักมาก แม้ว่าในหลายเรื่องเกิดจากการเข้าใจผิด หรือเกิดจากเจตนาจงใจดิสเครดิต กกต.เพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่าง โดยเฉพาะการใช้สื่อโชเชียลทำลาย
แต่ขณะเดียวกันปัญหาบางเรื่องก็เกิดจากกกต.เช่นการส่งบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ล่าช้าและมีมติเป็นบัตรเสียทั้งหมด นี่ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักทั้งในแง่การทำงานและอารมณ์ความรู้สึกของสังคมที่ได้เห็นภาพการตื่นตัวออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ได้เห็นภาพการเข้าแถวเพื่อรอการใช้สิทธิ์ที่นิวซีแลนด์ แต่ในที่สุด กกต. ก็มีมติไม่นับบัตรดังกล่าว มันก็ทำใจยากเหมือนกัน
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่นาทีนี้ ฝ่ายที่กลายเป็น"ตัวแปรหลัก"กลับเป็น กกต.ไปแล้ว เพราะนอกเหนือจากการที่ต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้อนาคตของรัฐบาลใหม่ด้วยไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการต้องลุ้นไปพร้อมกันด้วยว่า กกต.จะเอาตัวรอดได้หรือไม่ เพราะดูแนวโน้มแล้วนับวันเสียงวิจารณ์และแรงกดดันจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น