xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แดนผู้ดีจะไปรอดมั้ย...?

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

นายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ แห่งอังกฤษ
คืนวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษจะพิจารณาแผน “เบร็กซิต” ของนายกฯ เทเรซ่า เมย์ รอบที่ 3 เพื่อนำไปเสนอต่อสหภาพยุโรป กรณีที่อังกฤษขอแยกตัวออก เป็นข้อเสนอที่ปรับใหม่ หลังจากที่พ่ายมาแล้ว 2 รอบและไปต่อรองขอต่อเวลากับอียู

ดูท่าแล้ว ผู้นำอังกฤษอยู่ในสภาพที่อำนาจต่อรองและเจรจากับสภาอ่อนระโหยไปมาก แม้กระทั่งเก้าอี้ของตัวเองอาจรักษาเอาไว้ไม่ได้ ถ้ามีการต่อต้านแผนครั้งที่ 3 ยอมรับการเป็นผู้นำของนาง และเสี่ยงต่อการทำให้พรรคอนุรักษนิยมแตก

ที่ผ่านมา ศึกเบร็กซิต แทบไม่เปิดทางให้ผู้นำรัฐบาลได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากการเจรจากับผู้นำอียู แกนนำพรรคอนุรักษนิยมและอภิปรายในสภาฯ และยังไม่มีท่าทีว่าแผนที่ปรับแล้ว ปรับอีกจะถูกใจทุกฝ่าย ทำให้อยู่ในจุดที่ดิ้นต่อไปได้ยาก

ถ้าถึงขั้นนั้น ผู้นำแดนผู้ดีอาจตัดสินใจประกาศให้เลือกตั้งใหม่ แต่ยังยืนหยัดไม่ยอมให้มีการจัดทำประชามติ “เบร็กซิต” อีกรอบ แม้จะมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นในสังคมอังกฤษ จำนวนผู้เข้าชื่อให้ทำประชามติใหม่ได้ทะลุจำนวน 5 ล้านคนแล้ว

แม้แต่รัฐมนตรีคลัง นายฟิลิป แฮมมอนด์ ก็ยังเปรยๆ ว่า การทำประชามติอีกรอบเป็นประเด็นควรพิจารณา นักธุรกิจคนดัง มหาเศรษฐี ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของสายการบินเวอร์จิน ก็ยังเรียกร้องให้ทำประชามติอีกรอบเช่นกัน

แบรนสันเขียนในบล็อกของตนเองว่า “อังกฤษกำลังอยู่ในอันตราย และเขยิบเข้าใกล้หายนะเต็มรูปแบบอยู่ทุกขณะ ประชาชนเปลี่ยนความคิดและความเชื่ออยู่เสมอ และจุดยืนในประเด็นนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เป็นวิวัฒนาการ”

แบรนสันบอกว่าความคิดของประชาชนไม่หยุดนิ่งตายตัว จะปรับไปตามสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยน ดังนั้นควรให้โอกาสประชาชนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ “เบร็กซิต” อีกครั้ง โดยเอาประเด็นทั้งหมดมาให้พิจารณา

จุดยืนของแบรนสันเหมือนนักธุรกิจของอังกฤษซึ่งมองว่าการออกจากสหภาพยุโรปจะเป็นหายนะในระยะยาวของประเทศ และเป็น “หายนะด้านการเงินด้วย” โดยชี้ให้เห็นว่า 3 ปีหลังจากการตัดสินใจเรื่องนี้ มีความผิดพลาดอย่างมากมาย

ตัวอย่างของการเลิกจ้างคนหลายหมื่นคนในภาคธุรกิจเป็นภาพชัด เมื่อบริษัทต่างๆ พากันลดความเสี่ยงโยกย้ายสำนักงาน และถ่ายโอนทรัพย์สินออกไปจากอังกฤษ ไปแหล่งอื่นๆ เช่นเมืองหลักในยุโรป เช่น แฟรงค์เฟิร์ต ปารีส ดับลิน ฯลฯ

ปัญหาด้านการส่งสินค้า อะไหล่ ชิ้นส่วนของภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างภาษีเริ่มทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาพต้นทุนสูง ขาดความสามารถในการแข่งขัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา คนอังกฤษที่ไม่เอาเบร็กซิตทนไม่ได้อีกต่อไปกับการที่จะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป กว่า 1 ล้านคนจึงร่วมเดินขบวนวันเสาร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้นางเทเรซ่า เมย์ จัดทำประชามติอีกครั้ง

คนที่มาชุมนุมเรียกร้องได้ตระหนักแล้วว่าอังกฤษต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา และยังจะต้องเผชิญอีกมาก กับสภาวะไม่แน่นอน ด้านการทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะโอกาสการสร้างรายได้เพื่ออยู่โดดเดี่ยวบนเกาะ

การเดินขบวนครั้งนี้ถือว่ามีคนเข้าร่วมมากที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามอิรัก คนจากเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไปร่วมแสดงออกให้เห็นว่าต้องขอให้มีประชามติอีกครั้ง ให้แน่ใจว่าถ้าคนอังกฤษออกมาใช้สิทธิเต็มที่ จะได้รู้ว่าจะอยู่หรือออกจากอียู

การทำประชามติครั้งแรก มีคนต้องการออกจากสหภาพยุโรป 17.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอายุ ซึ่งไม่ต้องการให้อังกฤษต้องร่วมแบกรับภาระให้สหภาพยุโรปด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งต้องรับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

คนสนับสนุนเบร็กซิตเชื่อว่าถ้าไม่ต้องจ่ายเงินช่วยอียู สวัสดิการต่างๆ สำหรับคนอังกฤษจะดีขึ้นเพราะมีงบประมาณมากขึ้น ขณะที่คนหนุ่มสาว วัยทำงานส่วนหนึ่งไม่ออกไปใช้สิทธิ โดยเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากออกจากอียู เพราะยุ่งยากมาก

คนรุ่นเก่ายังมีความรู้สึกชาตินิยม ไม่อยากมีส่วนร่วมในการรับรู้ปัญหาของประเทศอื่นๆ กระแสการออกจากสหภาพยุโรปเป็นเพราะความกังวลหลายเรื่อง เช่นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในอียู ต้องพึ่งเงินอัดฉีดให้รอดจากปัญหาหนี้สิน

การไปขอต่อเวลากับอียู ทำให้ผู้นำรัฐบาลอังกฤษได้รับการยืดระยะออกไปจนถึง 22 พฤษภาคม ก่อนหน้านั้นรัฐสภาอังกฤษมีวาระต้องพิจารณาข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ ซึ่งนางเทเรซ่า เมย์จะได้จัดทำ เพื่อให้สภายอมรับและอียูเห็นด้วย

เส้นตายวันที่ 22 พฤษภาคมจัดไว้สำหรับข้อเสนอที่สภาอังกฤษยอมรับ แต่ถ้าถูกปฏิเสธ เธอก็จะมีเส้นตายวันที่ 12 เมษายน ดังนั้นความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธมีความเป็นไปได้สูงเพราะอารมณ์ ส.ส.เริ่มขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของผู้เดินขบวน

และ ส.ส.เองก็เห็นแล้วว่าถ้ายังเดินหน้าต่อตามแผนออกจากอียู อังกฤษต้องเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจตามคำเตือน และเวลาที่ผ่านมาก็เป็นข้อพิสูจน์ชัดแล้ว แต่นางมีความพยายามหาทางให้แผนได้รับการยอมรับ โดยมุ่งเน้นแกนนำพรรค

การประชุมแกนนำพรรคเพื่อหาทางรอดจากจุดอับยังไม่มีโอกาสมากนัก เพราะหลายคนมีท่าทีแข็งขืน อาจก่อการ “กบฏ” โดยจะยื่นข้อเรียกร้องและคำขาดให้เทเรซ่า เมย์ลาออก หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้คนตัดสินใจอนาคตของบ้านเมือง

ทุกวันนี้มีแต่คนจ้องเลื่อยขาเก้าอี้ ต้องดูว่าเทเรซ่า เมย์จะมีพลังดิ้นหลุดไปจากแผนขอเปลี่ยนตัวผู้นำพรรค และผู้นำประเทศได้หรือไม่ เสียงสนุนแผ่วเบาลงทุกวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น