xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"แบะท่าปลดล็อก แตะมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**จะเรียกว่าปรับลุคใหม่ อ่อนโยนลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้รับกับสถานะใหม่ในฐานะ "นักการเมือง"เต็มตัว สำหรับ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกอย่างถือว่ากำลังเปลี่ยนแปลงในแบบที่เรียกว่า "หักมุม" ไปจากเดิมจนแทบไม่เหลือภาพเก่าๆ ให้เห็นเลย
การปรับเปลี่ยนบุคลิกใหม่ การแต่งตัวใหม่ให้ดูอ่อนโยนลง ขณะเดียวกันยังปรับท่าทีที่เป็นกันเองกับชาวบ้าน แม้ว่าจะมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด แต่เจ้าหน้าที่ ก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เอาเป็นว่าภาพของ "บิ๊กตู่" หรือ "ลุงตู่" ในเวลานี้เป็นภาพของนักการเมืองเต็มตัว มาในแบบ "ใจถึงพึ่งได้" อะไรประมาณนั้น
ก่อนหน้านี้หลายคนเริ่มวิตกกันไม่น้อยว่า การเมืองหลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม อาจเข้าสู่ภาวะ"เดดล็อก" หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศท่าทีการเมืองโดยย้ำว่าจะขอเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ไม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งไม่เอาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคเพื่อไทย โดยพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ตามหลักประชาธิปไตยแบบสากล
อย่างไรก็ดี หลายคนเชื่อว่านั่นเป็นมุมมองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอสำหรับเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพความเป็นจริง และปัจจัยรอบข้างแล้วแทบมองไม่เห็นทางเลยก็ตาม อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากทุกผลสำรวจทุกโพล ก็ยังออกมาตรงกัน นั่นคือ ไม่มีสักสำนักเดียวที่ชี้ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสนับสนุนให้เป็นนายกฯ มาเป็นอันดับหนึ่ง รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย
**ดังนั้น สิ่งที่ต้องลุ้นกันตามมาก็คือ ประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.เกินร้อยคนหรือไม่ต่างหาก เพราะนั่นเท่ากับการชี้อนาคตทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการเลือกตั้งคราวนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งในมุมของ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็น "เต็งหนึ่ง" สำหรับนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หากพิจารณาจากผลสำรวจ และกติกาใหม่ที่รองรับ โดยเฉพาะการมีเสียงของส.ว. สนับสนุนอยู่ในมือแล้ว 250 เสียง ซึ่งยังเหลืออีกปัจจัยก็คือ จำนวนเสียงส.ส.สนับสนุนเพื่อ "สร้างความชอบธรรม" ในการกลับมา
แน่นอนว่าจำนวนเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องรวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง ซึ่งในเงื่อนไขแบบนี้ ย่อมทำให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ที่จะรวบรวมเสียงส.ส.ให้ได้จำนวนดังกล่าว โดยไม่พึ่งส.ว. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศชัดไม่เอาด้วย มันก็เหมือนดับฝันทันที
แม้ว่าเวลานี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทย พยายามเน้นย้ำในเรื่อง "ความชอบธรรม" เนื่องจากยังมั่นใจว่าจะได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน พร้อมกับดักคอส.ว.ไว้ล่วงหน้าว่า ห้ามโหวตสวนความต้องการของประชาชนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็แทบหลับตานึกภาพได้ตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่า บรรดาส.ว.ดังกล่าว จะโหวตสนับสนุนให้ใคร
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของ "ลุงตู่" ที่แบะท่าพร้อมร่วมมือกับพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดเจนเป็นการพูดตามหลักการ แต่เหมือนกับส่งสัญญาณขอแตะมือให้น้ำหนักไปทางพรรคประชาธิปัตย์ไว้ก่อนล่วงหน้า (โดยถึงเวลานั้นอาจไม่มี อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค) เพราะถึงอย่างไรประชาธิปัตย์ ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่ปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้
สอดรับกับคำพูดของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มีแคนดิเดตนายกฯคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวในเชิงหลักการเช่นเดียวกันว่า ต้องยอมรับในกติกาและเคารพในการตัดสินใจของประชาชน แม้ว่าตามหลักการพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง มีโอกาสตั้งรัฐบาลก่อน และถึงตอนนั้นพรรคพลังประชารัฐ อาจเป็นอันดับหนึ่ง ก็ได้
** ดังนั้น นาทีนี้เมื่อพิจารณาจากทุกบริบทแล้ว ยังต้องถือว่า "ลุงตู่" ยังเต็งหนึ่ง สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้ง และยังมีโอกาสได้ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในแบบที่อาจไม่มี หัวหน้าพรรคชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น